xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.หวั่นซ้ำรอย “แหล่งเอราวัณ” เหตุแหล่งไพลิน-ยาดานาสิ้นสุดสัมปทานปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.กังวลความเสี่ยงปริมาณการผลิตก๊าซฯ ป้อนไทยหด เหตุแหล่งไพลินและแหล่งยาดานาสิ้นสุดสัมปทานในปี 2571 ขณะที่การเจรจาต่อสัมปทานไร้ความคืบหน้า อาจทำให้ต้องหยุดการลงทุนซ้ำรอย “แหล่งเอราวัณ”

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.สผ.กังวลเรื่องการต่ออายุสัญญาสัมปทานแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2571 ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานยังสามารถต่ออายุได้อีก 10 ปี ซึ่งแหล่งฯ นี้ ปตท.สผ.ร่วมถือหุ้นในสัดส่วนราว 60% แต่เชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ขณะนี้ทางเชฟรอนฯ อยู่ระหว่างเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขยายอายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีถึงปี 2581 เนื่องจากแหล่งไพลินยังมีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมต่อไปได้อีกในอนาคต

แต่ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีเงื่อนไขเรื่องของการวางหลักประกันการรื้อถอนฯ หากเชฟรอนฯ ยอมรับเงื่อนไขได้ก็สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ต่อเนื่อง แต่หากไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะหยุดการลงทุนสร้างหลุมเจาะปิโตรเลียมเพิ่ม หากไม่มีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งไพลินค่อยๆ ทยอยลดลงไป จากปัจจุบันมีกำลังผลิตราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหากจะกลับมาเร่งผลิตก๊าซฯ เพิ่มก็จะต้องใช้เวลา 2 ปีเพื่อเจาะหลุมวางแท่นเชื่อมท่อเพิ่ม นับเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ทำให้การผลิตก๊าซฯ ลดลง เนื่องจาก Operator เดิมไม่ลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่ม ส่งผลต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงมาป้อนโรงไฟฟ้า

“ปตท.สผ.ได้แจ้งไปว่าพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้แหล่งไพลินสามารถรักษาการผลิตก๊าซฯ ได้ต่อเนื่อง โดยวันนี้กำลังการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีรวมกันอยู่ที่ราว 2,400-2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไพลินหายไป 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็เทียบเท่าแหล่งอาทิตย์หายไป 1 แหล่ง”

นอกจากนี้ แหล่งยาดานา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯ สำคัญจากเมียนมา สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2571 แต่เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปได้อีก โดยแหล่งนี้มีผู้ลงทุนที่สำคัญคือ เชฟรอน ถือหุ้นราว 41% ฉะนั้นหากไม่มีความชัดเจนในการต่อสัมปทานฯ ก็อาจหยุดการลงทุนลงได้ ปัจจุบันแหล่งนี้มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่กว่า 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้าไทยกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมากว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่แหล่งซอติก้า จากเมียนมา มีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ร่วม 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้าไทย 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งเข้าเมียนมา 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 17% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในไทย และคิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในเมียนมา

ดังนั้น ในปี 2571 ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความเสี่ยงจากแหล่งไพลิน และแหล่งยาดานาที่จะสิ้นสุดสัมปทานลง ทาง ปตท.สผ.มองว่าควรเร่งแก้ไขปัญหาในไทยก่อน คือแหล่งไพลิน ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความเสี่ยงในการทำธุรกิจของ ปตท.สผ. เพราะบริษัทสามารถขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้อยู่แล้ว แต่ปัญหานี้จะเป็นความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ หากต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่มีความผันผวน ซึ่งล่าสุด ราคา LNG กลับขึ้นไปทะลุ 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากก่อนหน้านี้ลดลงไปอยู่ที่ 18-19 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู


กำลังโหลดความคิดเห็น