บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ขึ้นแท่นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 1 ในรัฐเทกซัส และอันดับที่ 16 ในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นประเทศยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่สำคัญของบ้านปูที่สร้างการเติบโตในช่วงการปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันเป็นการลดการพึ่งพาธุรกิจถ่านหิน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
หากย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน บ้านปูได้ขยายธุรกิจพลังงานจากถ่านหินและไฟฟ้าในแถบภูมิภาคเอเชียไปสู่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Shale Gas) ที่สหรัฐอเมริกา ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกที่รุกธุรกิจนี้ในสหรัฐอเมริกา โดยเข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 522 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากนั้นในปี 2562 บ้านปูก็ลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ณ บริเวณฟอร์ต เวิร์ธ เบซิน (Fort Worth Basin) มลรัฐเทกซัส สหรัฐฯ มูลค่าการลงทุน 489.90 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าวมีระบบท่อขนส่งก๊าซเพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าและครัวเรือนในตลาดสำคัญที่มีความต้องการใช้ก๊าซสูงในบริเวณรัฐแถบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความเสี่ยงต่ำและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทำให้รับรู้รายได้ทันที
ในกลางปี 2565 บริษัท BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบ้านปูได้บรรลุผลสำเร็จตามเงื่อนไขในการซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติและครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำ (Midstream) บริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) จากบริษัท XTO Energy, Inc. and Barnett Gathering LLC (XTO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Exxon Mobil Corporation มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้บ้านปูสามารถขยายกำลังการผลิตในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมตามสัดส่วนการลงทุนประมาณ 225 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้กำลังการผลิตรวม 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ 1P ขยับเพิ่มเป็น 5.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลให้ BKV จึงกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett)
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บ้านปูยังไม่มีแผนที่จะขยายการลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกาจากปัจจุบันมีอยู่ 2 แหล่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วยแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) รัฐเพนซิลเวเนีย และแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) รัฐเทกซัส มีกำลังผลิตก๊าซฯ รวม 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้เราครองแชมป์ผู้ผลิตก๊าซฯ ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในรัฐเทกซัสแล้ว
ขณะเดียวกัน บ้านปูได้ต่อยอดระบบนิเวศ (Ecosystem) จากธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ไปยังโรงไฟฟ้าที่ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดย BKV มีการลงทุนโรงไฟฟ้า 2 โครงการ คือ Temple I กำลังผลิต 768 เมกะวัตต์ และ Temple II มีกำลังผลิต 755 เมกะวัตต์ ในรัฐเทกซัส รวมกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 1.5 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งอยู่ใกล้กัน ทำให้การดำเนินการและบริหารจัดการโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้ได้ประโยชน์สูงสุด (Economies of Scale) และช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 20% และดำเนินการเทรดซื้อขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ตลาดไฟฟ้าที่มีการเติบโตสูงสุดของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ขณะนี้บ้านปูยังไม่มีแผนจะลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ เพิ่มเติมในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา แต่จะเน้นบริหารทั้ง 2 โรงไฟฟ้าให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมาร์จิ้น และการทำ Synergyของ 2 โรงไฟฟ้าเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายในปีนี้ เมื่อทุกอย่างไปได้ดีจึงค่อยมองโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม
รอตลาดหุ้น NYSE ฟื้นส่ง BKV เข้าเทรด
นางสมฤดีกล่าวว่า ความคืบหน้าการนำ BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูที่ดําเนินธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange :NYSE) นั้น ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในการนำ BKV เข้าเทรดในตลาดหุ้น NYSE โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนซื้อแหล่งก๊าซฯ หรือโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมอีก เพราะมีฐานธุรกิจใหญ่เพียงพอที่จะเข้าตลาดหุ้นได้แล้ว เพียงแต่รอจังหวะสถานการณ์ตลาดหุ้นดีกว่านี้ก่อน จากเดิมที่เคยมีแผนเข้าเทรดซื้อขายหุ้น BKV ภายในปี 2566
"ยอมรับว่าตลาดหุ้น NYSE ถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูง เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้นักลงทุนไม่มีอารมณ์อยากลงทุน แต่เชื่อว่าภาวะตลาดหุ้นเช่นนี้คงกินเวลาไม่นานนักตลาดก็น่าจะกลับมาดีขึ้น"
ในปี 2566 แนวโน้มรายได้ของ BKV อาจจะไม่เติบโตเท่ากับปีที่แล้ว เนื่องจากราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจากปี 2565 กล่าวคือ ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยปีที่แล้วจาก 8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยปีนี้ 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ก็เป็นระดับราคาก๊าซฯ ที่บริษัทมีกำไรดีอยู่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานบ้านปูในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 บริษัทมั่นใจจะมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบันทึกรายได้จากโรงไฟฟ้า Temple II เพิ่มเข้ามาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566 โดยโรงไฟฟ้าTemple ll จะพลิกมีกำไรจากการ Synergy ร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple I
คาดราคาถ่านหินปีนี้เฉลี่ย 120 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ส่วนธุรกิจถ่านหิน พบว่าราคายังคงผันผวนมาก โดยปีนี้คาดราคาเฉลี่ยถ่านหินลดลงมาอยู่ที่ระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อตันเทียบปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ย 140 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ก็เป็นระดับราคาที่บ้านปูมีกำไรดีอยู่ เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติที่ราคาอ่อนตัวลงมาเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่เป็นราคาที่บริษัทมีกำไร โดยประเมินว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บ้านปูคงเป้าหมายการขายถ่านหินในปีนี้อยู่ที่ 38.2 ล้านตัน แบ่งเป็นประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 22.4 ล้านตัน ออสเตรเลีย 8.7 ล้านตัน และจีน 7.1 ล้านตัน โดยความต้องการใช้ถ่านหินในจีนยังไปได้ดีอยู่
สำหรับการลงทุนในปี 2566-2568 บริษัทจะเน้นการลงทุนในสัดส่วน 60% ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีพลังงาน และอื่นๆ ส่วนที่เหลืออีก 40% จะลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซฯ ในสหรัฐฯ เป็นหลัก
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/2566 บ้านปูมีรายได้รวม 1,312 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 44,489 ล้านบาท) และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 467 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,837 ล้านบาท) โดยสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจถ่านหิน 60% และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 17% ของรายได้รวม
บ้านปู เน็กซ์ถอยตั้งหลักลงทุนเวียดนาม
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปู ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงแผนการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนว่า ตามที่รัฐบาลเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน ทำให้บริษัทถอยออกจากเวียดนามระดับหนึ่ง แต่ธุรกิจใดที่ลงทุนไปแล้วก็ยังดำเนินธุรกิจอยู่ต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) เป็นต้น
บริษัทเพียงแต่หันไปโฟกัสยังประเทศอื่นๆ แทน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมถึงสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนท้้งในรูปแบบการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ที่เน้นโรงไฟฟ้าที่ผลิตเชิงพาณิชย์แล้วและการลงทุนเองตั้งแค่แรกเริ่ม (Green Field)
บริษัทสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (มินิไฮโดร) ในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาด้วย หลังจากปักหมุดลุยธุรกิจก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ มานาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 1,600 เมกะวัตต์ในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 700-800 เมกะวัตต์ หรือกล่าวได้ว่าบ้านปู เน็กซ์จะต้องมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 300 เมกะวัตต์จึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกเหนือจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว บริษัทได้เข้าไปถือหุ้นเพิ่มเป็น 65.10% ในบริษัท ดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนระดับโลก โดยบ้านปู เน็กซ์จับมือกับดูราเพาเวอร์ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงในไทย เบื้องต้นมีกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ที่จังหวัดชลบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสต้นปี 2567 เน้นเจาะลูกค้ากลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสารไฟฟ้า (e-Bus) รถบรรทุกไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ฯลฯ โดยบริษัทเน้นส่งออกแบตเตอรี่ไปต่างประเทศ โดยมีลูกค้าอย่าง VDL ผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าจากเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ หากตลาดมีความต้องการแบตเตอรี่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทก็พร้อมจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปีหน้า เพื่อรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้ บ้านปู เน็กซ์ ร่วมกับเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย และดูราเพาเวอร์ สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทยสำหรับ e-Bus ของบริษัทเชิดชัยฯ และตลาด EV ทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2569 ซึ่งขณะนี้ ทางเชิดชัยฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่เพื่อต้้งโรงงานผลิตรถบัสไฟฟ้าที่นครราชสีมา
นายสินนท์กล่าวว่า ในปี 2566 บ้านปู เน็กซ์มั่นใจว่าจะ break even และเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม รวมไปถึงโซลาร์รูฟท็อป และธุรกิจจัดการพลังงานที่บริษัทได้มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และในปีถัดไปจะรับรู้รายได้จากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย รวมทั้งธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่มีการขยายอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ ดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่มได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ธุรกิจอี-โมบิลิตี และธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน โดยมี ‘โซลูชันพลังงานสะอาดแบบครบวงจร’ (Total Smart Energy Solutions)
ควบคู่กับการก้าวเป็น Net-Zero Energy Provider โดยเดินหน้าขยายธุรกิจและเสริมแกร่ง Business Ecosystem ภายใต้กลยุทธ์ “Greener & Smarter” ของกลุ่มบ้านปู ดังนั้น ในอนาคต บ้านปู เน็กซ์ จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างกำไรให้กับบริษัทแม่ และจะเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต