xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเข้ายุคทอง ‘ลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัล’ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จะไม่เรียกว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยดิจิทัลได้อย่างไร เมื่อชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ประกาศจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ที่ประเทศไทยเป็นปีแรกเมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2566 นัยสำคัญของเรื่องนี้คือชไนเดอร์ฯ ไม่ได้จัดงานประชุมระดับโลกในทุกประเทศ และเหตุผลที่ไทยถูกเลือกเป็นสถานที่จัดงานแสดงนวัตกรรมครั้งนี้คือความพร้อมที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคซึ่งทำให้ชไนเดอร์ฯ ต้องการส่งสัญญาณแบบดังๆ ว่า ไทยควรเริ่มภารกิจลดคาร์บอนฯ อย่างจริงจังได้แล้วตั้งแต่นาทีนี้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเมินการจัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามท่ามกลางผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยผู้ใช้เอนด์ยูสเซอร์ ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กร รวมถึงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศที่มารวมตัวกันในงาน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าชไนเดอร์ฯ ไม่สามารถทำภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จะต้องไปพร้อมกันทั้งระบบ

‘งานนี้คืออินโนเวชันซัมมิต ไม่ได้จัดในทุกประเทศ แต่นี่คือครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย ทุกสาขาอาชีพมาร่วมกันในงานนี้เพื่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ วัตถุประสงค์ที่ทำให้ทุกคนมารวมกันคือเพื่อร่วมแรงให้โลกใบนี้ดีขึ้น ชไนเดอร์ฯ ทำคนเดียวไม่ได้ งานนี้จะเน้นสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รู้ว่าทุกคนเป็นหนึ่งในแรงที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้’

ชไนเดอร์ฯ ย้ำว่าการลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้นเพราะการนำเอาระบบดิจิทัลมาผสมกับระบบจัดการไฟฟ้า จะไม่เพียงทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ระบบดิจิทัลยังทำให้สามารถวัดผลได้เป็นตัวเลข เพื่อแสดงข้อมูลว่าองค์กรมีการใช้พลังงานเท่าใด นำไปสู่การจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการใช้คาร์บอนฯ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ภาพฝันเรื่องการลดคาร์บอนฯ สูงสุดในกระบวนการจัดการพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคที่ทุกอย่างเป็นระบบออนไลน์และดิจิทัล ภาวะที่เศรษฐกิจดิจิทัลแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ทำให้การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวนับจากนี้ ข้อมูลจากชไนเดอร์ฯ พบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้า 

***กระทุ้งไทยต้องเริ่มตอนนี้!

เมื่อถามถึงนัยสำคัญในเชิงกรอบเวลาว่าทำไมปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จัดงาน Innovation Summit Bangkok 2023 ขึ้นที่กรุงเทพฯ สเตฟานตอบว่าไม่เพียงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและตลาดที่เหนือกว่าทุกประเทศในภูมิภาคของไทย แต่การจัดงานนี้ตอกย้ำให้องค์กรไทยไม่ลืมว่าจะต้องเริ่มนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานอย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้ เพื่อให้เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงตามแผนที่ประกาศไว้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย พม่า และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค
เจตจำนงเรื่อง Net Zero ของไทยถูกประกาศอย่างเป็นทางการบนเวทีการประชุม COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 นั้นจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน 2564 บนเวทีนี้ COP 26 ประเทศไทยแสดงเจตจำนงที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกอย่างจริงจังโดยกำหนดเป้าหมายหลักว่าประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065)

แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1.การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 40% 2.การผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม อันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3.การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งภาคเศรษฐกิจมีการปรับตัวโดยดำเนินการโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับที่กลุ่มอุตสาหกรรมในไทยต้องตื่นตัวอย่างมากตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนฯ ก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ตรงนี้หากสินค้าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นทางสูง อาจทำให้ต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) มากขึ้น เนื่องจากเป็นเหมือนการนำเข้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ประเทศปลายทาง

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค พยายามย้ำมานานแล้วว่าการนำดิจิทัลมาใช้จัดการพลังงานเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังเป็นการเปิดประตูเพื่อให้ตลาดพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy สามารถมีบทบาทในประเทศไทยได้มากกว่าปัจจุบันที่อยู่ในขั้นนำร่องเท่านั้น เป้าหมายของการจัดงานครั้งล่าสุดจึงเป็นการโชว์กรณีศึกษา และแนวคิดจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศกว่า 40 องค์กร ที่จะมาร่วมแชร์กลยุทธ์ในเส้นทางไปสู่ความยั่งยืน

ทำไมชไนเดอร์ อิเล็คทริคจึงสามารถเสนอตัวเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ได้ คำตอบคือดีกรีของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่เป็นบริษัทซึ่งทำยอดขายไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ และราว 5% ถูกจัดเป็นงบสำหรับวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน 74% ของรายได้ชไนเดอร์ อิเล็คทริคมาจากกรีนโซลูชัน โดยในช่วง 5 ปี กรีนโซลูชันของบริษัททำให้เกิดการลดคาร์บอนฯ 458 ล้านตัน เทียบเท่ากับคาร์บอนฯ ที่ไทยปล่อยออกมาตลอดทั้งปี

‘แปลว่าคาร์บอนฯ ที่เรากำจัดได้นั้นเหมือนการกำจัดคาร์บอนฯ ที่เมืองไทยผลิตได้ตลอด 1 ปี’ สเตฟานกล่าว ‘ไทยต้องเริ่มตอนนี้ เพราะประเทศไทยมุ่งมั่นจะลดคาร์บอนฯ 30% ซึ่งก่อนจะมีงานนี้เกิดขึ้น เรามีการสำรวจกับลูกค้า ผลพบว่า 64% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่าบริษัทของตัวเองกำลังทำเรื่องความยั่งยืน ขณะที่ 62% บอกว่ามีเป้าหมายและมีแผนงานทำเรื่องลดคาร์บอนฯ ที่ชัดเจน ขณะที่ 99% เห็นด้วยเรื่องการทำดิจิทัลจะเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดความยั่งยืน’

การลดคาร์บอนฯ ขององค์กรสามารถทำได้ด้วยการนำเอาดิจิทัลมาช่วย ซึ่งจะเป็นการเร่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น
ชไนเดอร์ฯ การันตีว่าเทคโนโลยีลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัลนั้นพร้อมใช้งานแล้วโดยไม่ต้องรอ รองรับตั้งแต่ฝั่งการผลิต ฝั่งการใช้งาน และทุกส่วนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ เบื้องต้น คาดว่าลูกค้าจะมีการใช้พลังงานดีขึ้นและประหยัดพลังงานได้กว่า 15-30% ซึ่งเป็นการลดลงที่เกิดขึ้นได้เพราะโซลูชัน

***งานมอนิเตอร์ต้องมา

7 โซลูชันเด่นที่ถูกยกทัพมาโชว์ในงานนี้ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี RM AirSeT และ SM AirSeT ซึ่งจะมีเซ็นเซอร์อัจฉริยะแบบฝังตัวช่วยให้สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลและมีประสิทธิภาพในการควบคุมรวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน การจ่ายไฟฟ้าและจะช่วยให้สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันและคาดการณ์การซ่อมบำรุงได้ 2.เทคโนโลยี Wiser โฮมออโตเมชัน ที่ช่วยเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบ้านอัจฉริยะ พร้อมความสามารถในการควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน หรือทำให้เป็นอัตโนมัติก็ได้ 3.โซลูชันอาคารยุค 4.0 ช่วยบริหารจัดการอาคาร โรงแรม และองค์กรด้านเฮลธ์แคร์ที่ต้องการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสบการณ์ที่ดี

4.โซลูชันไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยั่งยืน APC Micro Data Center R-Series ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้กลุ่มโกดังโรงงาน ไซต์งาน อุตสาหกรรมน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมเหมือง ไม่ต้องติดตั้งท่อน้ำยาแอร์ มีโครงสร้างแข็งแกร่งปิดสนิทอย่างแนบแน่น ป้องกันฝุ่น และความชื้น ใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่มีความร้อนสูง ผสานระบบรักษาความปลอดภัยชั้นยอด 5.โซลูชันเพื่อปลดล็อคศักยภาพด้านพลังงาน และระบบออโตเมชัน ที่มุ่งแก้ปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และ 6.Electrical Digital Twin Service (EDTS) บริการยกระดับผังวงจรของระบบไฟฟ้าทั้งโรงงาน อาคาร หรือไซต์งาน ให้เป็นดิจิทัล เป็นการทำครั้งเดียวที่ใช้ได้ตลอด ช่วยให้ง่ายในการดูแล และอัปเดตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการสร้างแบบจำลองที่มีราคาแพง ประหยัดเวลาในการรวบรวมข้อมูลใหม่ที่ใช้เวลานาน

7.อุปกรณ์และระบบสำหรับเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าสำหรับอาคารและสถานีชาร์จ ได้แก่ EVlink Pro AC แบบใช้ไฟฟ้า 3 เฟส ให้พลังในการชาร์จ 7.4 kW, 11 kW, 22 kW และ EVlink Pro DC โฟกัสการทำสถานีเป็นหลัก ตัวเครื่องทนทานใช้งานในสถานที่เปิดได้อย่างดี สามารถรองรับการชาร์จได้รวดเร็ว ตั้งแต่ 120-180 kW สามารถใช้งานพร้อมกันได้ถึง 2 หัวจ่ายต่อเครื่อง มาพร้อมโซลูชัน EV Charging expert ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการโหลดพลังงานทั้งหมดให้เพียงพอในการชาร์จ และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานพลังงานในส่วนอื่น เช่น อาคาร หรืออุปกรณ์ชาร์จตัวอื่นๆ และ EV Advisor ช่วยในการมอนิเตอร์สถานะของเครื่องชาร์จทั้งหมด

‘ทุกเทคโนโลยีมีความต้องการสูงในประเทศไทย แต่ที่เด่นมากนั้นมี 3 เทคโนโลยี คือ 1.สเตชันชาร์จรถไฟฟ้าที่จะใช้เวลารวดเร็ว 30 นาที 2.ซอฟต์แวร์ใหม่ที่องค์กรจะตรวจดูได้แบบเรียลไทม์ว่าหน่วยงานมีการปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด เพื่อให้สามารถตรวจจับและรู้ตัวเลขคาร์บอนฯ ที่แม่นยำ และ 3.ตู้สวิตช์เกียร์รุ่นใหม่ที่ไม่ใช้ก๊าซ SF6 แต่ใช้อากาศบริสุทธิ์แทน’

อิมแพกต์ที่จะเกิดหากประเทศไทยมีการใช้ 3 เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายคือการมีทิศทางที่ชัดเจน สเตฟานอธิบายว่าเมื่อบริษัทรู้ว่าตัวเองปล่อยคาร์บอนฯ เท่าใด จะทำให้เกิดการตรวจและวิเคราะห์ระบบภายในอย่างจริงจังจึงจะได้รู้ว่าควรจะทำอะไรต่อ ทำให้สิ่งไม่เคยเห็นมาก่อนสามารถได้เห็นชัดขึ้น นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด

ทั้งหมดนี้จะตอบความคาดหวัง 2 ด้านของชไนเดอร์ฯ คือการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น จะสร้างความยั่งยืนมากขึ้นให้องค์กรไทย และจะลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุน เพิ่มกำไรมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก และด้านที่ 2 คือการทำให้องค์กรเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้นทำใ้ห้เกิดผลดี เกิดการผลิตมากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีการนำ AI เข้ามาเพิ่มความเสถียร ช่วยแจ้งเตือนว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เป็นการวิเคราะห์ล่วงหน้าที่ไม่ต้องรอว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ทำให้ลดการเสียหายจากการแก้ปัญหาไม่ทัน

ยุคทองของไทยต่อการ ‘ลดคาร์บอนฯ ด้วยดิจิทัล’ จึงกำลังเกิดขึ้นในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น