xs
xsm
sm
md
lg

สนค.แนะธุรกิจใช้ Digital Solution เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปล่อยคาร์บอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผยเทรนด์ผู้ประกอบการทั่วโลก เริ่มนำ Digital Solution ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับมือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทย นำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกได้ปรับตัวใช้ Digital Solution เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับมือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate-related Measures) และการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่อาจกระทบต่อการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และกำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) หนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า (ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า) อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ระบุว่าร้อยละ 70-90 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ แต่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า ดังนั้น เพื่อที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถติดตามและตรวจสอบการปล่อยก๊าซได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ของ WEF ร่วมกับ Accenture (บริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี) ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 4-10 ของการผลิตแบบปกติ

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันการนำ Digital Solution มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนทั่วโลกได้นำมาปรับใช้แล้ว เช่น บริษัท Siemens ของเยอรมนี จัดทำระบบ SiGreen เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ (Product Carbon Footprint : PCF) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสร้างเครือข่ายชื่อ Estainium เป็นเครือข่ายแบบเปิดที่ช่วยให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย (Suppliers) ลูกค้า และคู่ค้า สามารถแลกเปลี่ยนและตรวจสอบข้อมูล PCF ได้อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ในขณะที่บริษัท Brainbox AI ของแคนาดา มีการปรับปรุงระบบปรับสภาพอากาศในอาคาร (Heating Ventilation and Air Conditioning : HVAC) ของห้างสรรพสินค้านำร่องแห่งหนึ่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและต้นทุนค่าใช้จ่ายของห้างสรรพสินค้า โดยมีการใช้ AI อัตโนมัติประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในท้องถิ่น อัตราค่าไฟฟ้า และการใช้พลังงานโดยรวมของห้างสรรพสินค้า เพื่อวิเคราะห์และปรับรูปแบบการใช้พลังงานให้เหมาะสมกับแต่ละอาคาร ทำให้ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ 16 และปล่อยคาร์บอนน้อยลง 32 เมตริกตันต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Arup Group ของสหราชอาณาจักร ได้คิดค้นแพลตฟอร์ม Life Extension and Asset Management Platform (LEAP) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยืดอายุการใช้งานของ London Array (ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งสหราชอาณาจักร) ด้วยการใช้ AI และเซ็นเซอร์อัจฉริยะในการตรวจความสมบูรณ์ของโครงสร้างกังหัน เพื่อให้สามารถบำรุงรักษาตามความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนตลอดอายุการใช้งานลงได้ร้อยละ 15 และลดการปล่อยคาร์บอนลง 45,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และบริษัท Shell ของเนเธอร์แลนด์ ใช้ AI คลาวด์ และข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ เช่น ความดัน อุณหภูมิ และอัตราการไหล นำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแบบ Real-time ทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากก๊าซ LNG ได้ โดยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 130,000 เมตริกตันต่อปี

สำหรับบริษัท Eni บริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของอิตาลี ใช้เทคโนโลยี Machine Learning (ML) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานของโรงงานน้ำมัน โดยมีการวิเคราะห์และติดตามการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบ Real-time เปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตเพื่อตรวจจับความผิดปกติในโรงงาน และคาดการณ์รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานและนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนได้

ในส่วนของประเทศไทย มีบริษัทเอกชนชั้นนำเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้กับบริษัทแล้ว เช่น บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัท Envision Digital พัฒนาระบบ EnOSTM ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงาน รวมถึงประเมินความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ทดลองของโครงการ เพื่อบริหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ได้พัฒนาและเริ่มใช้ซอฟแวร์ SCADA GENESIS64™ ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยนำเสนอเป็นภาพจำลองแบบ Real-time ที่ติดตามกระบวนการปล่อยคาร์บอนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน และรายปี เพื่อวางแผนระบบการผลิต ควบคุมการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินค่ามาตรฐานกำหนด หรือลดปริมาณการปล่อยให้น้อยที่สุด

นายพูนพงษ์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายเกี่ยวกับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการบนแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทย เตรียมความพร้อมด้านการค้า สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบริหารก๊าซเรือนกระจก กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งมีภารกิจสนับสนุนทางเทคนิคและจัดให้มีแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รายงาน ทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดย MOU มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเข้าถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การลดการปลดปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน (BCG Heroes to Low Carbon Pioneers) โดยให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในวัฏจักรผลิตภัณฑ์ และไปสู่การขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โครงการ BCG to Carbon Neutrality ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจด้าน BCG และตระหนักถึงความสำคัญของ Carbon Neutrality ตลอดจนสามารถปรับตัวและลดการปล่อย Carbon Footprint ได้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการ DEsign from Waste of Agriculture and Industry พัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DEWA & DEWI) และการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันคาร์บอนเครดิตเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

“จากกระแสการตื่นตัวของหลายประเทศข้างต้น แสดงให้เห็นว่า Digital Solution มีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี จะสามารถศึกษาตัวอย่างการใช้ Digital Solution จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ พร้อมทั้งเป็นแนวทางให้สตาร์ทอัพของไทยได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี Digital Solution เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีและผลิตสินค้ารองรับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”นายพูนพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น