xs
xsm
sm
md
lg

ทล.สรุปเลือกแนวก่อสร้าง 'สะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์' ใช้แทนแพขนานยนต์ เชื่อม "อุตรดิตถ์-น่าน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงคัดเลือกแนวเส้นทางที่ 2 ก่อสร้าง "สะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์" เผยระยะทางสั้น ลาดชันน้อย เพิ่มความสะดวกการเดินทางเชื่อม "อุตรดิตถ์-น่าน" รองรับจราจรเพิ่มแทนแพขนานยนต์ คาดสรุปการศึกษา มี.ค. 67 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  26 ก.ค. 2566 กรมทางหลวงได้มีการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบสะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์-อ.นาหมื่น จ.น่าน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาโดยเฉพาะสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ประเด็นวิตกกังวล และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการฯ จากทุกภาคส่วน โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอนาหมื่น อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม 


โดยที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการฯ ซึ่งได้พิจารณาแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ การคัดเลือกด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่าแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสม ได้แก่

แนวเส้นทางเลือกที่ 2 เนื่องจากมีระยะทางสั้น ความลาดชันน้อย มีค่าก่อสร้างต่ำที่สุด มีจำนวนตอม่อในแหล่งน้ำน้อยกว่าแนวเส้นทางอื่นจึงทำให้มีความปลอดภัยในการขับขี่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

มีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.100+110 ของทางหลวงหมายเลข 1339 ผ่านพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 280 ม. ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านอีก 140 เมตร ก่อนที่จะข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 1,150 ม. แนวของโครงสร้างสะพานด้านฝั่งทิศเหนือจะอยู่ทางด้านซ้ายของทางหลวงหมายเลข 1026 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อชุมชนประมงบ้านปากนาย จากนั้นเข้าบรรจบกับทางหลวงหมายเลข1026 ที่ กม.74+670 และซ้อนทับกับแนวของทางหลวงหมายเลข1026 รวมระยะทาง 2,390 ม. 


รูปแบบการก่อสร้างถนนระดับดิน เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.50 ม. ไหล่ทางด้านขวากว้าง 2.50 ม. สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริเวณเนินเขาและภูเขาสูง อาจจำเป็นต้องก่อสร้างคันทาง และต้องมีงานตัดลึก หรืองานถมสูง 

ส่วนรูปแบบสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์จะมี 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) กว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางด้านในและไหล่นอก กว้าง 2.75 ม. มีทางเท้าขนาบทั้งสองข้าง กว้าง 2.55 ม. และในอนาคตสามารถขยายสะพานออกแบบ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) โดยปรับขนาดช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 ม. ไหล่ทางด้านในกว้าง 0.50 ม. เกาะกลางแบบราวกั้นหรือกำแพง กว้าง 0.60 ม. มีทางเท้าขนาบทั้งสองข้างกว้าง 1.50 ม.


ปัจจุบันการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอน้ำปาดจังหวัดอุตรดิตถ์และอำเภอนาหมื่นจังหวัดน่าน ในช่วงที่ผ่านเขื่อนสิริกิติ์จะต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์ ซึ่ง ปริมาณการจราจร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวก กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างเส้นทางแนวใหม่เพื่อข้ามเขื่อนสิรินธรเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 1339 ตอนอำเภอน้ำปาดบ้านปากนาย จังหวัดอุตรดิตถ์ กับทางหลวงหมายเลข 1026 ตอนบ้านปากนายอำเภอนาหมื่น เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่านอีกเส้นทางหนึ่ง ช่วยให้การเดินทางการขนส่งสินค้า มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่อีกด้วย


โดยมีระยะเวลาศึกษา 450 วัน ตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2567 พื้นที่ศึกษาครอบคลุม 2 หมู่บ้าน 2 ตำบลและ 2 อำเภอของจังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์

หลังจากนี้ กรมทางหลวงจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น