ทช.เปิดผลศึกษา พร้อมรับฟังความเห็น รูปแบบถนนเลี่ยงเมืองพัทลุง (ด้านเหนือ) กว่า 12 กม.เพื่อแก้ปัญหารถติดในชุมชนเมือง และรองรับการคมนาคมขนส่งในอนาคต เผยพื้นที่ศึกษาครอบคลุม 2 อำเภอ รวม 10 ตำบล คาดเริ่มก่อสร้างปี 71-73 เปิดใช้ปี 74
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 20 ก.ค. 2566 กรมทางหลวงชนบทจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบถนนเลี่ยงเมืองพัทลุง (ด้านเหนือ) อำเภอควนขนุน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้าน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปี 2571-2573 และสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ประมาณปี 2574
สำหรับโครงการก่อสร้างถนนทางเลี่ยงเมืองพัทลุง (ด้านเหนือ) บริเวณอำเภอควนขนุน อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตของเมืองพัทลุง พัฒนาระบบโลจิสติกส์และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศทั้งด้านการท่องเที่ยว การขนส่ง แต่ปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจมีข้อจำกัด เนื่องจากมีถนนสายหลักในการเดินทางเพียงเส้นทางเดียว คือ ทางหลวงหมายเลข 4047 (ถนนราเมศวร์) โดยเส้นทางนี้จะต้องผ่านเขตชุมชนเมืองพัทลุง ทำให้การจราจรติดขัด เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ใช้ทาง และไม่สามารถรองรับการขยายตัวด้านคมนาคมขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
โครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ รวม 10 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอควนขนุน มี 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลพนมวังก์ และตำบลแพรกหา อำเภอเมืองพัทลุง มี 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลปรางหมู่ ตำบลเขาเจียก ตำบลคูหาสวรรค์ ตำบลลำปำ ตำบลพญาขัน ตำบลควนมะพร้าว ตำบลตำนาน และตำบลชัยบุรี
สำหรับแนวถนนของโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 บริเวณ กม.378+800 ในบริเวณตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง โดยแนวถนนโครงการเป็นถนนตัดใหม่ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4048 บริเวณ กม.4+000 ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4009 บริเวณ กม.1+800 จากนั้นมุ่งหน้าตัดผ่านทางรถไฟสายใต้ ตัดผ่านถนนเขาแดง-ไสยอม ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4001 บริเวณ กม.4+300 และไปสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4007 บริเวณ กม.4+800 ในบริเวณตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง ระยะทางประมาณ 12.054 กิโลเมตร
โครงการจะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีเกาะกลางและไหล่ทางทั้ง 2 ข้าง ออกแบบตามสภาพพื้นที่โครงการ โดยหากถนนโครงการอยู่ในเขตชุมชนจะมีทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าเพื่อระบายน้ำในเขตชุมชน ในอนาคตถนนโครงการสามารถขยายเป็นถนนขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ)
ส่วนรูปแบบทางแยก บริเวณจุดตัดทางแยกทั้งหมด 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณทางแยก กม.0+000 จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 (ทล.41) ออกแบบเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบเป็นทางเชื่อมกับ ทล.41 ลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นดิน ระยะที่ 2 เมื่อปริมาณจราจรมากขึ้นและเกิดปัญหาจราจรติดขัดจะมีการพิจารณาโครงข่ายถนนด้านตะวันตกเชื่อมต่อบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ และจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางแยก ทล.41
จุดที่ 2 บริเวณทางแยก กม.2+080 ตัดผ่านกับ ทล.4048 ออกแบบเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบเป็นสี่แยกวงเวียนระดับพื้น ระยะที่ 2 เมื่อปริมาณจราจรมากขึ้นและเกิดปัญหาจราจรติดขัดจะก่อสร้างเป็นสะพานข้ามทางแยก ทล.4048 จุดที่ 3 บริเวณทางแยก กม.3+916 ตัดกับทางหลวงชนบท พท.4009 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 4 บริเวณทางแยก กม.6+414 ตัดกับถนนเขาแดง-ไสยอม ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 5 บริเวณทางแยก กม.9+743 ตัดกับทางหลวงชนบท พท.4001 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร จุดที่ 6 บริเวณทางแยกจุดสิ้นสุดถนนโครงการ กม.12+059 เชื่อมกับทางหลวงชนบท พท.4007 ออกแบบเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบจุดกลับรถตามแนวถนนโครงการ โดยจะกำหนดตำแหน่งจุดกลับรถให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่โครงการ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการออกแบบหรือการกำหนดรูปแบบการพัฒนาโครงการซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและการใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบ และนำไปใช้เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาและจัดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อชุมชนน้อยที่สุด