xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ลุยศึกษาโมเดลแก้รถติดใน กทม. เซตระบบเชื่อมข้อมูล CCTV-GPS บริหารจราจรจุดวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.ลุยศึกษาพัฒนาโมเดลระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการจราจร แก้รถติดใน กทม. จัดสัมมนาครั้งที่ 2 นำเสนอผลการศึกษา การเชื่อมต่อข้อมูลจากกล้อง CCTV หน่วยงานต่างๆ เข้ากับระบบ GPS เพื่อวิเคราะห์และประมวลผลด้านการจราจร

วันที่ 17 ก.ค. 2566 นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการสัมมนาครั้งที่ 2 การศึกษาจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริการจัดการจราจร โดยมี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแสดงปาฐกถา โดยมีผู้แทนสนข. กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า (จท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา


นายปัญญากล่าวว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานมีการพัฒนาเพื่อนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการจราจร แต่เนื่องด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การบริหารจัดการจราจรยังขาดประสิทธิภาพในภาพรวม ขณะที่นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่เขตเมือง นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการควบคุมและสั่งการจราจร และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนข้อมูลและการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพจราจร เช่น ระบบ CCTV และระบบ GPS เพื่อร่วมสนับสนุนให้ สนข.สามารถพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการจราจรได้

สนข.จึงดำเนินการศึกษาจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการจราจร โดยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลของกล้อง CCTV จากทุกหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมาบูรณาการร่วมกัน และทำการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสรุปผลข้อมูลด้านการจราจรและขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณจราจรบนสายทาง และบริเวณทางแยก ความยาวแถวคอย ความเร็วเฉลี่ย และความหนาแน่นของปริมาณจราจร ซึ่งเป็นข้อมูลหลักที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผน แก้ไขปัญหาด้านการจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร และพัฒนาระบบผู้ใช้งาน (User Interface) และระบบการแสดงผลในลักษณะ Dashboard เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน
ประกอบกับมีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพระบบ CCTV และ GPS ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีรูปแบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบ มีโปรแกรมประยุกต์และระบบประมวลผลข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบ CCTV และระบบ GPS ตลอดจนมีฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ประกอบการบริหารจัดการด้านการจราจร และนำไปประยุกต์ใช้งานในพื้นที่ที่เหมาะสม


สำหรับการสัมมนาครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการศึกษา การเชื่อมต่อข้อมูล ระบบประมวลผล และระบบแสดงผลข้อมูลด้านการจราจรของการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อนำไปประกอบการศึกษาจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการจราจร ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาเสร็จสมบูรณ์แล้ว สนข.จะมอบระบบที่ได้พัฒนาขึ้นจากการศึกษาดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการการแก้ไขปัญหาการจราจรตามภารกิจของหน่วยงานต่อไป


ในการศึกษาการเชื่อมต่อข้อมูลจากภาพวิดีโอจากระบบกล้อง CCTV โดยกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเชื่อมต่อกล้อง CCTV ร่วมกับหน่วยงาน ได้แก่ มุมกล้องเหมาะสม ไม่มีสิ่งบดบัง ความละเอียดหรือความคมชัดเหมาะสม และตำแหน่งอยู่บนถนนและทางแยกหลัก พบว่า กทม.มีจำนวน 276 ตัว ผ่านเกณฑ์ 158 ตัว, กทพ. มี 375 ตัว ผ่านเกณฑ์ 123 ตัว, ดอนเมืองโทลล์เวย์ 22 ตัว ผ่านเกณฑ์ 22 ตัว, กรมทางหลวงชนบท มี 50 ตัว ผ่านเกณฑ์ 50 ตัว, กรมทางหลวง 23 ตัว ผ่านเกณฑ์ 23 ตัว และศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อข้อมูลระบบระบุพิกัดบนผิวโลก (GPS) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการจราจร


กำลังโหลดความคิดเห็น