กรมรางรับฟังความเห็น "หน่วยงาน-ผู้ประกอบระบบราง" ถกข้อมูลต้นทุน ค่าใช้จ่าย เดินหน้าศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร คุมเพดานขั้นสูง และค่าแรกเข้า สรุปปีหน้า ดันออกกฎกระทรวง บังคับใช้
วันที่ 11 ก.ค 2566 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง โดยมีการนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูลอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสาร หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารเบื้องต้น และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเพื่อหารือกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบราง โดยมีหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ผู้ให้บริการ องค์กรและสมาคมที่กี่ยวข้องตลอดจนสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ประมาณ 60 คน
นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า กรมราง ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการศึกษา วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนระบบราง เพื่อคำนวณค่าใช้บริการ ค่าใช้จ่ายราง และค่าสัมปทานให้เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง การให้บริการ อัตราค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการขนส่งทางรางและการคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยเป็นอัตราค่าโดยสารที่มีความคุ้มค่าในการให้บริการและมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนใน กทม.และปริมณฑล มี มาตรฐานการกำหนดอัตราค่าโดยสาร (MRT Assessment Standardization ของ ADB แต่รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟในเมืองภูมิภาคยังไม่มี จึงถือเป็นการทบทวนโครงสร้างในภาพรวมทั้งหมดด้วย
การประชุมในครั้งนี้ นอกจากนำเสนอข้อมูลโครงสร้างต้นทุนของระบบขนส่งทางราง ความสัมพันธ์ของความต้องการเดินทางและการใช้บริการระบบขนส่งทางรางทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมืองภูมิภาค และระหว่างจังหวัด รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้นอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางรางในอนาคต แต่ประเด็นสำคัญคือ การได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้ตัวเลขต้นทุนที่ถูกต้องในการนำมาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนระบบรางที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งบางเรื่องอาจจะได้ข้อมูลไม่ครบเนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจที่ไม่สามารถจะเปิดเผยได้ทั้งหมด
จากการศึกษาพบว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบคงที่ (Flat Rate) ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศแถบยุโรป 2. รูปแบบตามระยะทาง (Distance Base) จะมีค่าแรกเข้าและคิดตามระยะทาง ใช้ในไทย ญี่ปุ่น 3. รูปแบบตามพื้นที่ (Zonal Base) ประเทศไทยยังไม่เคยนำมาใช้ โดยประเทศไทยนั้นจะพยายามหารูปแบบการคิดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมคือมีต้นทุนที่ผู้ประกอบการอยู่ได้และไม่เป็นภาระประชาชน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น
รองอธิบดีกรมรางกล่าวว่า การกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารระบบราง เป็นหมวดหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ... ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 แต่มีการยุบสภา ขณะนี้จึงรอเสนอรัฐบาลใหม่ เพื่อดำเนินการต่อในการเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
เมื่อดำเนินการศึกษาโครงการฯ แล้วเสร็จ หาก พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้ จะทำให้มีหลักเกณฑ์การกำหนด จะดำเนินการประกาศร่างกฎกระทรวง เรื่องอัตราค่าโดยสารขั้นสูงฯ ได้ แต่หากยังไม่มี พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อใช้เป็นข้อแนะนำไปพลางก่อน ซึ่งสอดคล้องกับมติ ครม. และมติ คจร. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่รับทราบแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะยาวเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน รวมถึงจะมีมาตรการกำกับอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางรางมาตรการเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนระบบรางได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐต่อไป
ทั้งนี้ กรมรางได้ดำเนินการศึกษาโครงการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงฯ มี บริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด, บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนท์ จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา วงเงิน 16 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 12 เดือน (ก.พ. 2566-ก.พ. 2567) โดยจะมีการประชุม รับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง และ ประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ประชุมทางวิชาการอีก 2 ครั้ง คาดว่าจะสรุปการศึกษาในเดือน ม.ค. 2567
ที่ปรึกษาได้นำเสนอโครงสร้าง อัตราค่าโดยสารในเขตเมืองของต่างประเทศ เช่น 1. ปารีส ประเทศฝรั่งเศส แบบวงแหวน (โซนนิ่ง) อัตราคงที่ 1.90-17.80 ยูโร 2. กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แบบวงแหวน (โซนนิ่ง) อัตราคงที่ 2 -3.80 ยูโร 3. London ประเทศอังกฤษ แบบวงแหวน (โซนนิ่ง) อัตราคงที่ 8.10-27.20 ปอนด์ 4. โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แบบตามระยะทาง อัตรา 120-330 เยน 5. ประเทศสิงคโปร์ แบบคิดตามระยะทาง อัตรา 0.49-2.80 ดอลลาร์สิงคโปร์ 6. ประเทศมาเลเซีย คิดตามระยะทางแบบผสม อัตรา 0.8-7.9 ริงกิต 7. เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แบบตามระยะทาง อัตรา 6 กม.แรก 3 หยวน ปรับทุก 6 กม. ราคาสูงสุด 7 หยวน 8. ไทเป ประเทศไต้หวัน ตามระยะทาง แบบช่วง อัตรา 20-65 ดอลลาร์ไต้หวัน