การรถไฟฯ เปิดพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จัดกิจกรรมงานระดับประเทศ ยกระดับเป็นแลนด์มาร์ก มุ่งอนุรักษ์ "หัวลำโพง" เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ ผสมผสาน
การให้บริการโดยไม่กระทบการเดินทางของประชาชน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ มีนโยบายที่ต้องการส่งเสริม และอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ให้เป็นแลนด์มาร์กทางมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ควบคู่กับดำรงให้คงเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญของคนไทยจากอดีตก้าวไปสู่อนาคต
การรถไฟฯ ได้เปิดพื้นที่สถานีกรุงเทพ เพื่อต่อยอดการจัดกิจกรรมให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชม เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหัวลำโพง และระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับโลก หลังจากที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จหลายกิจกรรม เช่น Hua Lamphong in Your Eyes, Unfolding Bangkok ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่มีการจัดแสดงแสง สี เสียง ดนตรี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดกว่า 3 หมื่นคนต่อวัน
นายเอกรัชกล่าวว่า การรถไฟฯ ยังมีนโยบายพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการเปิดพื้นที่สถานีหัวลำโพง สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณค่าของสถานีหัวลำโพง และสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อใช้พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย และสนับสนุนให้สถานีหัวลำโพงเป็นพื้นที่แลนด์มาร์กจัดกิจกรรมที่สำคัญของประเทศ รวมถึงก้าวไปสู่ในระดับโลก
นอกจากนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการนำรถจักรที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หาชมได้ยาก และมีความสวยงาม จำนวน 7 คัน มาจัดแสดงเป็นการถาวรที่สถานีหัวลำโพง บริเวณชานชาลาที่ 4 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อร่วมเรียนรู้วิวัฒนาการของรถจักรในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในอนาคตการรถไฟฯ ยังมีโครงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากิจการรถไฟไทย การจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความสำคัญ และทรงคุณค่าในอดีตภายในสถานีหัวลำโพงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสถานีหัวลำโพง การรถไฟฯ ให้ความสำคัญในการคัดเลือกกิจกรรมที่มีศีลธรรมอันดี ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของหัวลำโพง ตลอดจนไม่กระทบกระเทือนต่อโครงสร้างอาคารเดิม หรือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุม ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความสะดวก ไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบในการเดินทาง โดยมีการแบ่งแยกสัดส่วนพื้นที่และช่วงเวลาการเดินรถออกจากกัน ทำให้ผู้โดยสารยังสามารถใช้บริการขบวนรถชานเมือง ขบวนรถท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันมีรถไฟให้บริการแก่ผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพงมากถึง 62 ขบวนได้ตามปกติ
“ที่สำคัญ นอกจากการเปิดพื้นที่สถานีหัวลำโพงแล้ว การรถไฟฯ ยังมีนโยบายเปิดกว้างที่จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการเปิดพื้นที่สถานีรถไฟแห่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีรถไฟในต่างจังหวัด สำหรับจัดกิจกรรม เพื่อร่วมอนุรักษ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีของสถานีรถไฟต่างๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของพื้นที่ เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน การกระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย"