xs
xsm
sm
md
lg

รถเมล์ปฏิรูปเจ๊ง กรมขนส่งฯ ล้มเหลวสองครั้ง ครั้งแล้วกับครั้งเล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

รถประจำทาง 2 เส้นทางนำร่อง ในโครงการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของกรมการขนส่งทางบก ล้มเหลวไม่เป็นท่า หลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่ต้นปี 2561

รายแรก สาย R26E หรือสาย 3-26E โรงพยาบาลรามาธิบดี-สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (ทางด่วน) ซึ่งเป็นรถเมล์ชานต่ำ มี บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ประกอบการเดินรถ ยุติการเดินรถเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565

รายล่าสุด สาย Y70E หรือสาย 4-70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) ซึ่งเป็นรถไมโครบัส มี บริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด เป็นผู้ประกอบการเดินรถ

ปรากฏว่าหยุดเดินรถโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ผู้โดยสารรายหนึ่งไปถามข้อมูลจากเฟซบุ๊กของกลุ่มบัสแฟน แล้วปรากฏว่าเฟซบุ๊กเพจของสาย Y70E ที่ใช้แจ้งข่าวสาร ถูกปิดไปแล้ว

ทั้งสองเส้นทาง กรมการขนส่งทางบกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการไป “หักคอ” ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเดินรถในเส้นทางดังกล่าว จนกว่าจะได้ผู้ประกอบการรายใหม่

ขสมก. ก็ต้องเจียดรถที่มีอยู่น้อยนิดมาช่วยวิ่ง ทั้งๆ ที่ผ่านมา ถูกลดสถานะจาก “ผู้ประกอบการรายใหญ่” ที่มีรถเอกชนร่วมบริการ มาเป็น “ผู้ประกอบการรายหนึ่ง” โดยมีกรมการขนส่งทางบกใหญ่ที่สุด กำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว

ขณะที่ปัจจุบัน ขสมก. ประสบปัญหารถเมล์ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นรถเมล์เก่า แม้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันแล้ว แต่ตามแผนจัดหารถเมล์ ยังขาดอีกกว่า 2 พันคัน ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานฯ พยายามเรียกร้องจัดหารถใหม่แต่ก็เงียบเฉย

ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ทราบ เวลาพูดถึงปัญหารถเมล์มักจะโทษ ขสมก. เอาไว้ก่อน ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลตัวจริง อย่างกรมการขนส่งทางบก กลับลอยตัวเหนือปัญหาทั้งปวง

ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สับสนกับการปฎิรูปรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการทดลองเส้นทางใหม่ ที่เอารถเมล์ ขสมก. ครีมแดงมาติดสติกเกอร์เป็นสีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน เป็นที่ตลกขบขัน

ตามมาด้วยการเปิดตัวเส้นทางปฎิรูป 2 เส้นทาง โดยให้เอกชนทำการเดินรถ สายหนึ่งใช้รถเมล์ชานต่ำ อีกสายหนึ่งใช้รถไมโครบัส มีการประกันที่นั่งโดยหากที่นั่งเต็มรถจะไม่รับผู้โดยสารเพิ่ม เก็บค่าโดยสารแพงกว่ารถเมล์ทั่วไป

ปรากฏว่าหลังกรมการขนส่งทางบกเปิดตัว ที่เหลือเอกชนต้องดิ้นรนกันเอง เปิดเดินรถมาขาดทุนตลอด ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวฉุดให้เจ๊งเร็วขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่เคยมีนโยบายช่วยเหลือใดๆ

เอกชนบางราย ผู้โดยสารแน่นเฉพาะช่วงเช้าและเย็น ที่เหลือมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย แม้จะเลือดไหลไม่หยุด แทบขาดใจไปรอบหนึ่ง แต่ก็ยังยอมกลืนเลือดเดินรถต่อไป พยายามทำทุกทางเพื่อให้บริการต่อไปได้ แต่สุดท้ายไม่เป็นผล

ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก ยังเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ และเปลี่ยนแปลงเส้นทางรถเมล์อีก 276 เส้นทาง แบบไม่เคยถามความเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนขึ้นรถเมล์ตัวจริง เกิดความสับสนมาถึงทุกวันนี้

จากเดิมชาวบ้านจำเลขสายที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ก็ใส่ตัวอักษรภาษาอังกฤษเก๋ๆ แยกโซนเป็นสี แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นตัวเลขมีขีด แบ่งโซนออกเป็น 4 โซน ชาวบ้านเกิดความสับสน สายที่มีอยู่หายไป สายใหม่ก็อ่านแบบงงๆ

ยกตัวอย่าง สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่-คลองสาน ขสมก. ขยายเส้นทางเป็น สมุทรสาคร-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี เปลี่ยนเลขสายเป็น 4-18 ปรากฏว่าชาวบ้านงง สี่ขีดหนึ่งแปดอะไร (วะ) สุดท้ายต้องใส่เลข 105 กำกับ

เมื่อกรมการขนส่งทางบก เปิดให้ประชาชนร่วมโหวตว่าจะเอาแบบเดิมหรือแบบใหม่ ที่สุดแล้วขอให้ใช้เลขสายเดิมแทน แม้ไม่เป็นระบบแต่ประชาชนคุ้นชิน ตอนนี้อยู่ในระหว่างเสนอปรับเลขสายรถเมล์ที่เปลี่ยนใหม่กลับไปใช้เลขเดิม

บางเส้นทางถูกตัดให้สั้นลง โดยอ้างว่าลดความซ้ำซ้อน ผลก็คือชาวบ้านที่คุ้นเคยกับการนั่งรถเมล์สายนั้นเกิดความสับสน ว่าทำไมถึงไปได้แค่นี้ ผลก็คือต้องนั่งรถเมล์สองต่อ เสียค่าโดยสารสองเท่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น

บางเส้นทางยืดระยะปลายทางให้ไกลกว่าเดิม โดยที่ชาวบ้านย่านนั้นนิยมใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวอยู่แล้ว ส่งผลให้มีผู้โดยสารใช้บริการไม่ต่อเนื่อง ช่วงกลางวันผู้โดยสารน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ผู้ประกอบการก็ขาดรายได้

และเมื่อนโยบายกรมการขนส่งทางบก ที่กำหนดให้เป็น “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” ผลก็คือ เมื่อผู้ประกอบการรายหนึ่งเจ๊ง ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใดให้บริการ ได้แต่แก้ปัญหาด้วยการไปหักคอ ขสมก. ให้มาเดินรถ

ส่วนเส้นทางทำเงิน ยกตัวอย่างสาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง ที่ ขสมก. เดินรถร้อนมาหลายปี มีรถเอกชนร่วมบริการเดินรถแอร์เป็นทางเลือก ผลจากนโยบายนี้ ขสมก. ต้องยุติการเดินรถ ประชาชนจ่ายค่ารถเมล์แพงขึ้น 2-3 เท่าตัว

ที่น่ากังขาก็คือ กรมการขนส่งทางบก จัดประมูลเส้นทางรถเมล์ปฏิรูป 77 สาย มีหลายเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับ ขสมก.เดินรถอยู่แล้ว ปรากฏว่า ขสมก. แพ้ประมูลเพราะไม่มีรถใหม่ ส่งผลให้ต้องสูญเสียเส้นทางไปให้เอกชน 28 สาย

ในบรรดารถเมล์ 28 สายที่เสียไป บางสายเดินรถมานานหลายสิบปีแล้ว บางสายเป็นเส้นทางทำเงิน มีผู้โดยสารขาประจำ ซื้อตั๋วรายสัปดาห์และรายเดือนเอาไว้ พอเอกชนมาเดินรถแทน ตั๋วรายสัปดาห์และรายเดือนก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ขสมก. เคยยุติการเดินรถ 4 สาย ได้แก่ สาย 34 82 88 140 เพื่อเปิดทางให้เอกชนเดินรถเต็มตัว แต่เมื่อประชาชนออกมาด่า ร้อนถึงกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ ขสมก. เพิ่มเส้นทางและเที่ยววิ่ง จึงยังคงมีรถวิ่งร่วมกับเอกชน

แต่ที่หายไปถาวรตามสาย 7 คือสาย 42 (วงกลม) เสาชิงช้า-ท่าพระ ขสมก. ยกเลิกวิ่งรถร้อนครีมแดง ตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องใช้บริการรถเมล์เอกชนแทน

ปัจจุบัน ขสมก. มีเส้นทางปฏิรูปอยู่ในมือ 107 เส้นทาง น้อยกว่าเอกชนรายใหญ่ที่ไล่ซื้อกิจการรถเมล์ปรับอากาศ มีเส้นทางอยู่ในมือมากถึง 122 เส้นทาง เหลืออีกประมาณ 36 เส้นทาง ยังไม่เปิดคัดเลือกผู้เดินรถ

เมื่อเปิดประมูลมาแล้ว หากผู้ชนะยังคงเป็นเอกชนรายใหญ่ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเอกชนรายอื่นอาจต้องกุมขมับกับการทำความคุ้นเคยเส้นทาง โดยเฉพาะทำเลที่ประชาชนใช้รถส่วนตัวเพราะรถเมล์เข้าไม่ถึง มีแต่รถสองแถวหวานเย็น

ช่วงนี้ยังคงมีเรื่องปวดหัวเกี่ยวกับรถเมล์ออกไปอีกสักระยะ เพราะผู้ประกอบการเอกชนที่ได้สัมปทานไป เริ่มปรับเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์เดิมให้ตรงกับเส้นทางปฏิรูป ส่งผลให้บางเส้นทางตัดระยะสั้นลง

ยกตัวอย่างเช่น สาย 33 ปทุมธานี-สนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป เปลี่ยนเส้นทางตามโครงการปฏิรูปรถเมล์สาย 2-6 ตัดเส้นทางเป็น ปทุมธานี-เทเวศร์ ผลก็คือชาวบ้านเสียเงินเพิ่ม เดือดร้อนกว่าเดิม

คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจปวดหัวกับการแก้ปมปฏิรูปรถเมล์แบบลิงแก้แห อะไรที่เสียไปแล้วก็เสียไป อะไรที่พอจะกลับมาใหม่ เช่น เลขสายรถเมล์ ก็กลับมาแบบไม่เหมือนเดิม เพราะเส้นทางเปลี่ยนไป

ปฏิรูปรถเมล์ยังไงให้ชาวบ้านด่ามากกว่าชม แถมถูกด่าซ้ำซากด้วยปัญหาเดิม ๆ จึงเป็นคำตอบที่ว่า กรมการขนส่งทางบกทำไมล้มเหลวถึงสองครั้ง ได้แก่ครั้งแล้ว...กับครั้งเล่า


หมายเหตุ : รถเมล์ปฏิรูป ที่ยังไม่เปิดคัดเลือกผู้เดินรถ

1.สาย 1-26 วงกลม สายไหม-เทพรักษ์
2.สาย 1-28 รังสิต-บางเขน
3.สาย 1-30 วงกลม ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ-สถานีรถไฟดอนเมือง
4.สาย 1-48 วงกลม ศรีนครินทร์-ประเวศ
5.สาย 1-51 แยกลำลูกกา-มีนบุรี
6.สาย 1-60 วงกลม หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง-บางกะปิ
7.สาย 1-65 หนองจอก-มีนบุรี
8.สาย 1-66 นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง-นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี
9.สาย 1-67 หัวตะเข้-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย)
10.สาย 1-69 หัวตะเข้-มีนบุรี
11.สาย 1-70 สถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง-หนองจอก
12.สาย 1-72 หัวตะเข้-หนองจอก
13.สาย 1-74 สถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง-หนองจอก
14.สาย 1-75 มีนบุรี-มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา
15.สาย 1-78 มีนบุรี-ลำลูกกา คลอง 12
16.สาย 1-79 วงกลม มีนบุรี-เคหะร่มเกล้า
17.สาย 2-1 ท่าเรือพระราม 7-อรุณอมรินทร์
18.สาย 2-30 วงกลม เมืองทองธานี-สามัคคี
19.สาย 2-54 วงกลม สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต-โชคชัย 4
20.สาย 2-55 วงกลม วิภาวดีรังสิต-ลาดปลาเค้า
21.สาย 3-26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ขสมก. เดินรถชั่วคราว)
22.สาย 3-28 วงกลม สถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุช-อุดมสุข
23.สาย 3-29 วงกลม สำโรง-ศรีนครินทร์
24.สาย 3-33 ปากน้ำ-สถานีรถไฟฟ้าสีลม
25.สาย 4-30 แฟลตทุ่งครุ-ท่าน้ำสี่พระยา
26.สาย 4-31 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน)-สถานีรถไฟฟ้าตลาดพลู
27.สาย 4-32 พระสมุทรเจดีย์-เคหะธนบุรี
28.สาย 4-58 สามพราน-เซ็นทรัลพระราม 2
29.สาย 4-65 สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ถนนบรมราชชนนี)-สมุทรสาคร
30.สาย 4-66 วงกลม เคหะธนบุรี-หนองแขม
31.สาย 4-70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) (ขสมก. เดินรถชั่วคราว)
32.สาย 4-71E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
33.สาย A3 ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง-สวนลุมพินี (ขสมก. เดินรถไปก่อน)
34.สาย A4 ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง-สนามหลวง (ขสมก. เดินรถไปก่อน)
35.สาย S1 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ-สนามหลวง (ขสมก. เดินรถไปก่อน)
36.สาย S8 ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ-ถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ถนนบรมราชชนนี)


กำลังโหลดความคิดเห็น