xs
xsm
sm
md
lg

ยินดีต้อนรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทดสอบช่วงสำโรง-หัวหมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หลังจากลงมือก่อสร้างมายาวนานถึง 5 ปี ในที่สุดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยเปิดช่วงแรกจากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง รวม 13 สถานี ระยะทาง 16 กิโลเมตร จากทั้งหมด 23 สถานี ความถี่ทุก 10 นาที ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ประชาชนใช้บริการได้ฟรี ใช้บัตรแรบบิทแตะเข้า-ออกได้ ไม่ถูกหักเงิน

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ของกลุ่มบริษัทบีทีเอส เป็นผู้รับสัมปทานเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน

เริ่มต้นจากสถานีลาดพร้าว เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ไปตามถนนลาดพร้าว เลี้ยวขวาไปตามถนนศรีนครินทร์ เลี้ยวขวาไปตามถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดที่สถานีสำโรง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ระยะทางรวม 28.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 23 สถานี เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล ใช้รถไฟฟ้ารุ่น อินโนเวีย โมโนเรล 300 จากอัลสตอม ขบวนละ 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 356 คนต่อตู้ มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้

ภาพ : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
การทดสอบเดินรถครั้งนี้ อาจไม่ได้รองรับชั่วโมงเร่งด่วนยามเช้า เพราะเริ่มให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้า แต่ก็เป็นการดีที่คนที่อยู่โซนถนนศรีนครินทร์ จะได้ทดลองใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงเย็นหลังเลิกงาน

ก่อนหน้านี้มีรถประจำทาง สาย 145 ปากน้ำ-หมอชิตใหม่ ไปตามถนนศรีนครินทร์ ถนนลาดพร้าว ปลายทางสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ นอกนั้นก็มีรถสองแถวปากน้ำ-ศรีเอี่ยม รถตู้ปากน้ำ-บางกะปิ กับปากน้ำ-ซีคอนสแควร์

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองทดสอบเดินรถ คนที่มาจากปากน้ำ ถ้านั่งรถเมล์หรือรถสองแถว สามารถลงรถเมล์ได้ที่ป้ายซอยศรีด่าน 1 เลยแยกศรีด่านเล็กน้อย เพื่อต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีศรีด่าน ไปยังสถานีหัวหมาก

ในทางกลับกัน คนที่มาจากสถานีหัวหมาก เมื่อลงที่สถานีศรีด่านแล้ว สามารถต่อรถเมล์สาย 145 ไปยังปากน้ำ รวมทั้งรถสองแถวด่านสำโรง-บางพลี รถสองแถวด่านสำโรง-วัดหนามแดง และรถสองแถวปากน้ำ-ศรีเอี่ยมเช่นกัน

ส่วนคนที่มาจากถนนเทพารักษ์ ถ้านั่งรถตู้สำโรง-บางบ่อ มาจากบางพลี สามารถลงรถได้ที่ป้ายรถเมล์หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. เทพารักษ์ กม.4 แล้วเดินเท้าเล็กน้อย ต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีศรีเทพา

เท่าที่ดูเส้นทางที่เปิดทดสอบเดินรถ อาจจะไม่ได้เชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนระบบอื่นมากนัก เช่น สถานีหัวหมาก ขณะนี้เปิดให้ใช้ทางออกข้างร้านแมคโดนัลด์ หน้าห้างแมกซ์แวลู พัฒนาการ และปากซอยศรีนครินทร์ 16

ถ้าจะไปรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) ที่สถานีหัวหมาก หรือสถานีรถไฟหัวหมาก ทางรถไฟสายตะวันออก ไปยังชุมทางฉะเชิงเทรา อรัญประเทศ หรือพัทยา บ้านพลูตาหลวง ต้องเดินเท้าย้อนไปอีกไกลพอสมควร

ภาพ : MGR PHOTO
จะดีขึ้นมาหน่อยที่สถานีสวนหลวง ร.9 อยู่ระหว่างห้างซีคอนสแควร์กับห้างพาราไดซ์เพลส (ก่อนถึงห้างพาราไดซ์พาร์ค) แม้จะต้องเดินขึ้นรถเมล์ไกลพอสมควร แต่ทางซีคอนสแควร์ก็ทำป้ายรถเมล์ติดแอร์สบายสแควร์ แห่งแรกในไทย

ตรงจุดนี้มีรถเมล์ผ่านประมาณ 8 สาย (ไม่รวมรถเสริม) เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีสาย 145 จากหมอชิตใหม่ไปปากน้ำ, สาย 206 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปเมกาบางนา, สาย 3-26E จากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ (ช่วยเดินรถระหว่างรอผู้ประกอบการรายใหม่)

รถเมล์ไฟฟ้าไทยสมายล์บัส สาย 133 (สาย 3-15) จากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เอกมัย ไปเคหะบางพลี, สาย 3-27 จากสวนสยามไปปู่เจ้าสมิงพราย, สาย 3-34 จากนิคมลาดกระบังไปแยกบางนา

และผู้ประกอบการรายอื่น เช่น สาย 207 (สาย 3-21) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 และสาย 1013 จากซีคอนสแควร์ไปหัวตะเข้ เป็นต้น

หากเปิดการเดินรถเต็มรูปแบบ ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ครบ 23 สถานี เชื่อว่าสถานีสวนหลวง ร.9 จะเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง เพราะมีศูนย์การค้ารองรับคนที่แวะทานข้าวหรือซื้อของหลังเลิกงาน


ส่วนสถานีศรีเอี่ยม ตั้งอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม เชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) ถ้าจะไปถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) ใช้ทางออกหมายเลข 3 ตรงจุดนี้รถเมล์จะไม่จอด เนื่องจากไม่มีป้ายรถเมล์

ป้ายรถเมล์ที่อยู่ใกล้เคียงก็คือ ป้ายซอยบางนา-ตราด 35 เลยโชว์รูมนิสสัน ห่างจากทางออกรถไฟฟ้าประมาณ 200 เมตร ตรงจุดนั้นจะมีรถเมล์ที่มาจากแยกบางนา และมาจากถนนศรีนครินทร์รับ-ส่งผู้โดยสารตรงจุดนี้

จากจุดนี้สามารถต่อรถเมล์ ขสมก. สาย 132 จากบีทีเอสอ่อนนุชไปยังเคหะบางพลี, สาย 180 จากเซ็นทรัลพระราม 3 ไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2, สาย 11 จากมาบุญครองไปเมกาบางนา, สาย 206, สาย 3-26E

รถเมล์สมาร์ทบัส (ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มไทยสมายล์บัส) สาย 38 (สาย 3-8) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2, สาย 48 (สาย 3-11) จากวัดโพธิ์ไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 เพิ่งเปลี่ยนเส้นทางไปถนนอุดมสุขเมื่อไม่นานมานี้, สาย 558 จากการเคหะธนบุรีไปสนามบินสุวรรณภูมิ

รถเมล์ไฟฟ้าไทยสมายล์บัส สาย 132 (สาย 3-14) จากบีทีเอสอุดมสุขไปเคหะบางพลี, สาย 133 (สาย 3-15), สาย 552 จากปากน้ำไปนิคมลาดกระบัง

และผู้ประกอบการรายอื่น สาย 46 (สาย 3-10) จากท่าเรือสี่พระยาไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2, สาย 139 (สาย 3-16E) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2, สาย 207 (สาย 3-21) เป็นต้น

รวมทั้งรถเมล์สีเขียว สาย 365 จากปากน้ำไปบางปะกง จากสำโรงไปบางโฉลง และรถสองแถวปากน้ำ-มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 และรถสองแถวแอร์พอร์ตเรลลิงก์หัวหมาก-เมกาบางนา

แต่ถ้ามาจากเคหะบางพลี เมกาบางนา บางแก้ว จะไปรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เนื่องจากสถานีศรีเอี่ยมอยู่ใจกลางทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม อาจจะต้องนั่งรถเมล์ที่ไปทางถนนศรีนครินทร์ เช่น สาย 11, สาย 206, สาย 3-26E, สาย 48 (สาย 3-11), สาย 133 (สาย 3-15), สาย 207 (สาย 3-21) ไปลงแยกศรีอุดม เพื่อต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีศรีอุดม

ภาพ : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
เท่าที่ฟังเสียงตอบรับจากประชาชนที่มาใช้บริการ พบว่าการเดินทางจากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ภายในขบวนรถมีที่นั่งค่อนข้างน้อย และในขณะที่ขบวนรถโดยสารแล่นอาจโคลงเคลงบ้างเล็กน้อย

อีกประการหนึ่ง แม้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบนถนนศรีนครินทร์ สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่หากผู้ให้บริการเริ่มเก็บค่าโดยสาร อาจต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าในการเดินทางหรือไม่

ช่วงนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองทดสอบการเดินรถเสมือนจริงตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิถุนายน 2566 เพื่อเก็บสถิติผู้มาใช้บริการ นำไปวางแผนการให้บริการต่อไป ใครที่อยู่โซนปากน้ำ สำโรง ศรีนครินทร์ มาทดลองใช้บริการกันได้

หากเดินรถครบทุก 23 สถานี อาจมีจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่น เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เรือคลองแสนแสบ รวมทั้งจุดเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นมากกว่านี้ ส่วนจะมีคนใช้บริการมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต้องรอดูอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น