xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมแล้ว! โมโนเรลสีเหลือง เริ่ม 3 มิ.ย.ให้ประชาชนร่วมทดลองฟรีจาก "หัวหมาก-สำโรง" เริ่ม 09.00 น.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.แจ้งรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) 3 มิ.ย. 66 ตั้งแต่ 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี "หัวหมาก ถึงสำโรง" ก่อนขยายครบตลอดสายต่อไป

กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ว่า ตามที่ รฟม.ได้ร่วมกับที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อย ของระบบการเดินรถ และการให้บริการต่างๆ ประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น


รฟม.ขอเรียนให้ทราบว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.๙ สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง โดยมีความถี่ในการให้บริการ 10 นาที / ขบวน

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน

หลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทานจะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT จะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้


ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) และขบวนรถเป็นแบบคร่อมราง (Straddle) ไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนคานคอนกรีต มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร / ต่อชั่วโมง ใช้ระบบจ่ายไฟกระแสตรง 750 โวลต์ มีระบบขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร และมีรูปแบบขบวนรถไฟฟ้า เป็นชุดรถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน / ขบวน หรือ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อเที่ยว สามารถเชื่อมต่อกับระบบราง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง (YL23), รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีหัวหมาก (YL11) รวมถึงรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ที่สถานีลาดพร้าว (YL01) และในอนาคตสามารถเชื่อมต่อ กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีแยกลำสาลี (YL09)


โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในความรับผิดชอบของ รฟม.ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่นๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0-2716-4044 “


กำลังโหลดความคิดเห็น