รฟม.เผยผลทดสอบระบบรถไฟฟ้า "สีเหลือง" ยังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินทุกระบบต้องเข้ามาตรฐานปลอดภัย ICE จึงจะออกใบรับรองเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ตั้งงบปี 66 พร้อมจ่ายอุดหนุนงานโยธาปีแรก 2 พันล้าน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ว่าขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทดสอบระบบเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบความปลอดภัยทั้งหมด โดยจะมีพนักงานให้บริการเดินรถ พนักงานประจำสถานีเข้าปฏิบัติการเหมือนเปิดบริการจริง ซึ่งวิศวกรอิสระ (ICE) ของ รฟม.ประเมินแล้ว ผลการทดสอบหลายอย่าง ด้านความปลอดภัย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยแจ้งให้ บริษัท อีสเทิร์นบางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน ปรับปรุงและแก้ไขในหัวข้อที่ยังไม่ผ่าน
ทั้งนี้ กรณีที่มีข่าวออกไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีการเปิดเดินรถให้บริการแก่ประชาชน ในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยจัดเก็บค่าโดยสารนั้นไม่น่าจะทำได้
แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการ โดยไม่มีการเก็บค่าโดยสารแบบเป็นกลุ่ม หรือหมู่คณะ ตามจำนวนและรอบเวลาที่กำหนด โดยการให้ประชาชนร่วมทดลองใช้ฟรี จะถือเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ช่วงสุดท้ายของการตรวจสอบ เพื่อให้พนักงานทุกส่วนได้ฝึกความพร้อมในการบริการที่มีผู้โดยสารจริง
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม.จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้ฟรี อย่างน้อยประมาณ 15 วัน-1 เดือน เพื่อประเมินผลว่ายังมีจุดใดที่ยังต้องปรับปรุงอีกเพื่อความมั่นใจมาตรฐานความปลอดภัยสูงสด โดยเฉพาะเวลาเกิดสถานการณ์ เหตุฉุกเฉิน พนักงานพร้อมรับมือและแก้ไขได้ตามข้อกำหนดหรือไม่ โดยเฉพาะพนักงานประจำสถานี หากยังไม่พร้อมก็ต้องปรับปรุง และฝึกพนักงานจนมั่นใจ และเมื่อผลทดสอบผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลแล้ว ICE จึงจะออกใบรับรองให้ รฟม.จึงจะสามารถอนุมัติเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ต่อไป
นายภคพงศ์กล่าวว่า ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเดินรถ รัฐจะต้องเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนค่าลงทุนงานโยธาเอกชนตามสัญญา ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี (งวด) ซึ่ง รฟม.ได้ตั้งกรอบงบประมาณปี 2566 สำหนับจ่ายคืนค่างานโยธาเอกชนงวดแรกไว้เรียบร้อย ซึ่งหากเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วจะส่งผลต่อตัวชี้วัดของ รฟม.ด้วยเช่นกัน และในปี 2567 จะตั้งงบประมาณสำหรับจ่ายคืนสายสีเหลือง งวดที่ 2 และรถไฟฟ้าสายสีชมพูงวดแรกอีกด้วย
"รฟม.เข้าใจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การก่อสร้างล่าช้าและส่งผลให้เปิดเดินรถต้องเลื่อนออกไปจากเป้าหมายเดิม ขณะที่การเปิดให้บริการประชาชนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัย ดังนั้นหากการทดสอบผ่านเกณฑ์ รฟม.พร้อมอนุมัติเปิดเดินรถ"
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ล่าสุด บอร์ด รฟม.มีมติขยายอายุสัญญาเวลาก่อสร้างให้ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ออกไปอีกประมาณ 345 วัน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จถึงเดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งจากการประเมินงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 และจะทดสอบระบบ คาดว่าจะให้ประชาชนได้ร่วมทดลองใช้บริการประมาณต้นปี 2567
ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2566 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว สำโรง มีความก้าวหน้างานโยธา 98.99% งานระบบรถไฟฟ้า M&E มีความก้าวหน้า 99.07% ความก้าวหน้าโดยรวม 99.02%
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้างานโยธา 96.19% งานระบบรถไฟฟ้า M&E มีความก้าวหน้า 96.64% ความก้าวหน้าโดยรวม 96.43%