โครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ที่มี 10 สายหลักนั้น หากนับจากที่เปิดให้บริการสายแรก (สีเขียว) เมื่อปี 2542 ถึงวันนี้ใช้เวลาดำเนินการมากกว่า 20 ปีแล้ว โดยเปิดให้บริการไปแล้ว 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 112.20 กิโลเมตรจากโครงข่ายทั้งหมด 553.41 กิโลเมตร ซึ่งล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปผลการศึกษา "สายสีน้ำตาล" รถไฟฟ้าสายสุดท้ายที่บรรจุใน M-Map และเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการตามขั้นตอน นับเป็นการปิดจ็อบรถไฟฟ้าหลากสีในแผนแม่บท (M-Map 1) เตรียมเข้าสู่การพัฒนาระบบขนส่ง การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ที่อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการ ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในรูปแบบ PPP-Net Cost เรียบร้อยแล้ว โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่ รฟม.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจะเป็นระบบโมโนเรล และเป็นรถไฟฟ้าสายสุดท้ายในโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map)
ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.จะนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีความล่าช้าจากแผนเนื่องจากแนวสายทางทับซ้อนกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ไปพร้อมกับโครงการทางด่วน N2 โดยให้ กทพ.ดำเนินการก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าด้วยเพื่อลดผลกระทบด้านจราจร
แต่ปัจจุบันคาดว่าการก่อสร้างทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและทางด่วนตอน N2 จะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบด้านการจราจร นอกจากนี้ พบว่าในการเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำตาล รูปแบบ PPP นั้น จะต้องเสนอทั้งโครงการ ไม่สามารถแยกโครงสร้างเสาตอม่อออกไปให้ กทพ.ทำก่อนได้
@ผลศึกษา PPP-Net Cost วงเงิน 4.17 หมื่นล้านบาท รัฐทยอยจ่ายค่าโยธา 10 ปี
ทั้งนี้ หลังจาก รฟม.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ให้รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยได้รับข้อมูลผลการศึกษาที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นมาดำเนินการต่อ
ล่าสุด รฟม.ได้สรุปผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โครงสร้างยกระดับตลอดทั้งเส้นทาง มีจำนวนสถานี 20 สถานี ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท
ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,371 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 19,247 ล้านบาท, ค่าติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 12,442 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา งานติดตั้งและทดสอบงานระบบรถไฟฟ้าฯ 1,159 ล้านบาท, ค่า Provisional Sum 1,501 ล้านบาท
และพบว่ารูปแบบการลงทุนโครงการที่เหมาะสม คือ PPP-Net Cost ที่ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วน เอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการ มีระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี นับจากวันเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า
โดยรัฐสนับสนุนทางการเงิน เป็นค่างานโยธาในวงเงินไม่เกิน 19,938 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน หรือไม่เกินปีละ1,993.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่เป็นระบบโมโนเรลเหมือนกัน
@ วางไทม์ไลน์ ตอกเข็ม ต.ค. 68 เปิดบริการปี 71
รฟม.กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการ โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการของโครงการร่วมลงทุนฯได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ช่วงเดือนกันยายน 2567-กันยายน 2568
โดยจะสำรวจอสังหาริมทรัพย์ / จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน / ส่งมอบพื้นที่ ประมาณเดือนมีนาคม 2568-เมษายน 2571
ปักธงก่อสร้างโครงการในเดือนตุลาคม 2568 และเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2571
จากรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการฯ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 23.48%, NPV 56,662 ล้านบาท, B/C = 2.79 ค่าโดยสารแรกเข้า 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2566) คาดว่าในปีเปิดให้บริการปี 2571 นั้นจะมีปริมาณผู้โดยสารทั้งสิ้น 222,650 คน-เที่ยว/วัน โดยใช้ขบวนรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 24 ขบวน (4 ตู้ต่อขบวน)
สำหรับความก้าวหน้าการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รฟม.ได้มอบอำนาจให้ สนข.เป็นผู้จัดทำรายงาน EIA โดยได้มีการเสนอรายงาน EIA ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.ไปแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งล่าสุด คชก.ได้มีมติให้ปรับปรุงรายงาน EIA ตามความเห็นของ คชก. ซึ่งปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างประสานงานร่วมกับ สนข.เพื่อปรับปรุงรายงาน EIA ก่อนเสนอ คชก.พิจารณาต่อไป
@ยึดโมเดลร่วมลงทุนฯ โมโนเรล "เหลือง-ชมพู"
“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าระบบโมโนเรล เหมาะสมกับโครงข่ายสายสีน้ำตาล โดยเป็นรูปแบบการลงทุนเดียวกับสายสีเหลืองและสีชมพู คือรัฐรับผิดชอบการเวนคืน ส่วนเอกชนรับผิดชอบการก่อสร้าง ระบบและบริหารการเดินรถ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
จากการวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงิน พบว่า รัฐจะสนับสนุนเงินเอกชนไม่เกินค่างานโยธา เสมือนว่ารัฐลงทุนงานโยธาเอง แต่รัฐไม่ได้จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเอง ให้เอกชนจ้างผู้รับเหมาเอง เนื่องจากระบบโมโนเรล ผู้ผลิตแต่ละรายไม่เหมือนกัน ทำให้มีผลต่อขนาดของคานรางที่ตัวรถไฟฟ้าจะวิ่งคร่อม ดังนั้น จึงเห็นว่าควรให้เอกชนออกแบบระบบและก่อสร้างงานโยธาที่รองรับระบบเองทั้งหมดเหมาะสมที่สุด
“ตามแผนแม่บท M-Map กำหนดว่า รถไฟฟ้าสายสุดท้ายจะเปิดให้บริการในปี 2572 ซึ่งรถไฟฟ้าที่ รฟม.รับผิดชอบ ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง เปิดให้บริการแล้ว ส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างคือ สายสีเหลืองและสีชมพู คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 สำหรับสายสีส้ม กำลังก่อสร้างงานโยธาด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความคืบหน้าตามแผน และสรุปผลการคัดเลือกผู้ก่อสร้างงานโยธาด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และให้บริการเดินรถตลอดสาย แบบ PPP ไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ส่วนสายสีเขียวนั้น รฟม.ก่อสร้างเสร็จแล้วภาครัฐมีนโยบาย โอนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับผิดชอบดำเนินการให้บริการ”
สายสีน้ำตาล ล่าสุดบอร์ด รฟม.เห็นชอบผลการศึกษาฯ รฟม.กำลังสรุปข้อมูลโครงการฯ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม และตามขั้นตอนจะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือคณะกรรมการ PPP ซึ่งคาดว่า จะเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณาต่อไป
@ พื้นที่จำกัด เวนคืนสองฝั่ง "เกษตรนวมินทร์" ช่วงทับซ้อน ทางด่วน N2 สร้างสถานี
ผู้ว่าฯ รฟม.ระบุว่า ในการศึกษา รฟม.ได้มีการทบทวนตัวเลขต้นทุนค่าก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามภาวะปัจจุบัน นอกจากนี้ จะต้องมีการรื้อสะพานรถยนต์ข้ามแยกพงษ์เพชร และก่อสร้างใหม่อย่างน้อย 1 แห่ง ด้วย
ส่วนค่าเวนคืน ปรับตามราคาประเมินที่ดินใหม่เมื่อต้นปี 2566 แนวเส้นทางโครงการจะก่อสร้างบนแนวเกาะกลางถนนเป็นหลัก แต่เนื่องจากช่วงทับซ้อนกับโครงการทางด่วน N2 บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ประมาณ 7 กิโลเมตร มีพื้นที่จำกัด ทำให้ต้องมีการเวนคืนพื้นที่ด้านข้างเพิ่มเติม เพื่อก่อสร้างทางขึ้น-ลง ชั้นจำหน่ายตั๋ว และชั้นชานชาลาประมาณ 7 สถานี
ทั้งนี้ ตามรายงานการศึกษาระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่ให้ รฟม.และ กทพ.วางแผนร่วมกันให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด จึงมีแนวคิดในระยะแรกที่จะก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ของ รฟม. ไปพร้อมกับโครงการทางด่วนฯ N2 ของ กทพ. ในส่วนที่แนวเส้นทางซ้อนทับกันเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยให้ กทพ.ดำเนินการก่อสร้างฐานรากของทั้ง 2 โครงการ
อย่างไรก็ตาม กทพ.ได้มีหนังสือแจ้ง รฟม. ไม่สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการทางด่วน N2 มาใช้สำหรับการก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ได้
ขณะที่ในปัจจุบัน รฟม.ได้ประสานแผนการดำเนินงานร่วมกับ กทพ.อย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2568 ในขณะที่โครงการทางด่วน N2 จะเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน อันจะสามารถบูรณาการการก่อสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองหน่วยงาน รวมถึงบรรเทาผลกระทบการจราจรระหว่างการก่อสร้างต่อประชาชนอีกด้วย
@เชื่อมกรุงเทพฯ "ตะวันออก-ตะวันตก" ตัดรถไฟฟ้า 7 สาย
สำหรับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานจนถึงแยกบางเขนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดี-รังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข จนถึงแยกเกษตร ก่อนยกระดับข้ามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อวิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้ และเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายสายทางของโครงข่ายเส้นทางการเดินรถบนถนนพ่วงศิริ เลียบไปกับคลองแสนแสบและคลองหัวหมาก พื้นที่รวม 28 ไร่ โดยรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 280 คัน
โครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สายหลักในแผนแม่บทฯ มีเป้าหมายว่า หากสามารถก่อสร้างได้ครบและเปิดบริการได้ตามแผนจะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีชุมชน ที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจ หนาแน่น และแออัด ได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่...ที่ผ่านมา กว่ารถไฟฟ้าแต่ละสายจะได้อนุมัติ กว่าจะก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้ ต้องเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ... ยิ่งเป็นช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เป็นไปได้ที่จะถูกรื้อทบทวนใหม่!!!