กทพ.ศึกษาทางด่วนชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) 3 หมื่นล้านบาท เป้าสรุปใน ส.ค.เสนอ ครม.ในปีนี้ ชาวบ้านต้านหนัก หวั่นผลกระทบเวนคืน และสิ่งแวดล้อม ด้าน กทพ.ยัน EIA ไม่ผ่าน สร้างไม่ได้ เผยแนวเจรจา BEM ลงทุน และขยายสัมปทาน ช่วยแก้รถติดทั้งระบบ
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการทางพิเศษยกระดับ ชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck ภายใต้งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ว่า เป็นการนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางที่เหมาะสมของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยที่ปรึกษานำเสนอผลการคัดเลือกแนวทางเลือกที่ 3 โดยเป็นทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ขนาด 4 ช่องจราจร ไปกลับ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน โดยแนวสายทางมุ่งทิศใต้ซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช โดยช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานถึงหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่นแนวสายทางจะอยู่คู่ขนานกับทางพิเศษศรีรัชทางด้านขวามือ และบริเวณช่วงย่านพหลโยธินถึงทางแยกต่างระดับพญาไทตามแนวคลองประปา แนวสายทางจะอยู่ทางด้านซ้าย ของทางพิเศษศรีรัช และแนวสายทางจะมาทางทิศตะวันออก มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กม.
มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่งได้แก่ 1. ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน 2. ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และ 3. ทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน โดยตลอดแนวสายทางของโครงการไม่มีการเวนคืนที่ดินเอกชน
โดยตามแผนงานจะมีการประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ค. 2566 และสรุปผลการศึกษาฯ ในเดือน ส.ค. 2566 จากนั้นจะเสนอบอร์ด กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปีนี้
เบื้องต้นโครงการมูลค่าลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยการลงทุนมี 2 รูปแบบ 1. กทพ.ลงทุนเอง 2. เอกชนร่วมลงทุน โดยเปิดการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วน ลงทุน โดยแลกการขยายสัญญาสัมปทานเดิมออกไป ซึ่งแนวทางนี้รัฐไม่ต้องลงทุน และเป็นภาระด้านงบประมาณ ขณะที่ทั้ง 2 แนวทางไม่กระทบต่อการใช้บริการของประชาชน เพราะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เนื่องจากการดำเนินการโครงการเป็นการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อเพิ่มช่องจราร ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน
ทั้งนี้ ในการสัมมนามีประชาชนชุมชน ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ตามแนวเส้นทางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีความกังวล เช่น ผลกระทบจากเวนคืน ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านเสียง ฝุ่นพิษ การสั่นสะเทือน รวมถึงบดบังทัศนียภาพ โบราณสถาน และอนุสาวรีย์ชัยฯ เนื่องจากทางด่วนอยู่ในระดับความสูง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโครงการไม่ทั่วถึง กังวลปัญหาคอขวดบริเวณทางขึ้นลงที่ ถนนงามวงศ์วาน และทางลงอโศก โดยชาวบ้านต้องการให้ กทพ.แก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยส่วนหนึ่งแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการ และหากมีการเสนอ ครม. จะไปรวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า กทพ.ได้กำชับให้ที่ปรึกษานำข้อคิดเห็นของประชาชนบันทึกไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามแผนงานจะเสนอ ครม. ปลายปี 66 ระยะเวลาก่อสร้าง 60 เดือน ช่วงปี 2568-2573 ส่วนการก่อสร้างจะทำได้ ก็ต่อเมื่อรายงาน EIA ได้รับการอนุมัติก่อน หากไม่ได้อนุมัติก็ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กทพ.ยืนยันดำเนินการศึกษาโครงการตามหลักวิชาการ และดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่หมกเม็ด และชี้แจงต่อประชาชนได้
โครงการขนาดใหญ่ก่อสร้างในพื้นที่เมืองย่อมมีผลกระทบ มีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ยืนยันเป้าหมายของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ในภาพรวม ไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน จะใช้เขตทางที่มีเป็นหลัก กรณีใช้พื้นที่ของหน่วยงานราชการจะเป็นการเจรจาขอใช้พื้นที่ตามขั้นตอน ส่วนกรณีมีประชาชนกระทบ ต้องดูว่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่กทพ.หรือไม่ ซึ่งการดูและผลกระทบต้องอยู่ในวิสัยที่รับได้ด้วย