ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กลุ่มนักธุรกิจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดโคราช 2 แห่ง 1,130 ล้านกลางเมืองโคราชเดินหน้าต่อต้านไม่หยุด ชี้ไม่มีความจำเป็นเพราะปัจจุบันพื้นที่โครงการไม่มีปัญหารถติด ปริมาณรถลดลงเฉลี่ย 30% แต่ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจ การค้า ระหว่างก่อสร้าง 3 ปี ปีละ 1,000 ล้าน รวม 3 พันล้าน จ่อฟ้องศาลปกครอง
ความคืบหน้ากรณีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด 2 แห่งกลางเมืองโคราช มูลค่า 1,130 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมือง ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณแล้ว โดยกรมทางหลวงพร้อมทำการประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 และเตรียมดำเนินการสร้างพร้อมกันทั้ง 2 แห่ง เริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2567 หรือเร็วที่สุดภายในปี 2566 นี้
โดยอุโมงค์ทางลอดทั้ง 2 แห่งที่จะดำเนินการก่อสร้าง ประกอบไปด้วย จุดที่ 1 อุโมงค์ทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) กับทางหลวงหมายเลข 224 แยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) ครม.อนุมัติงบประมาณจำนวน 480 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ระยะทาง 1.181 กิโลเมตร เดินรถทางเดียวมี 2 ช่องจราจร โดยผู้สัญจรที่เดินทางมาจากฝั่งตำบลจอหอ หรือจังหวัดขอนแก่น สามารถใช้อุโมงค์ทางลอดนี้เพื่อเลี้ยวขวามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครได้เลย โดยไม่ต้องติดสัญญาณไฟแดง
จุดที่ 2 อุโมงค์ทางลอดบริเวณทางแยกบ้านประโดก (พีกาซัส) ระยะทางรวม 1.75 กิโลเมตร ครม.อนุมัติงบประมาณ 850 ล้านบาท ก่อสร้างเป็นทางลอด 6 ช่องจราจร แบ่งเป็นขาไปและขากลับฝั่งละ 3 ช่องจราจร ซึ่งได้มีการจัดการประชาสัมพันธ์โครงการและเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้เข้าฟังการประชาสัมพันธ์โครงการได้สอบถามรายละเอียดการก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ล่าสุด ที่โรงแรมชุนหลีแกรนด์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทางด้านกลุ่มผู้คัดค้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนี้ได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางการยื่นเรื่องคัดค้านโครงการก่อสร้างดังกล่าว โดยได้เตรียมข้อมูลเอกสารเพื่อเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1 ที่ได้มีการเชิญเข้าประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 24 พ.ค. 66 นี้ ที่โรงแรมสบายโฮเต็ล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
โดยนายประยุทธ แซ่เตียว กล่าวในฐานะประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนี้และเป็นคนที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการนี้มาอย่างยาวนานว่า ตามเจตนารมณ์ของโครงการนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วคือ การแก้ไขปัญหารถติดในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาการจราจรในพื้นที่โครงการก่อสร้างนั้นไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งจากข้อมูลสภาพการจราจรช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจำนวนยานพาหนะที่ใช้เส้นทางดังกล่าวเริ่มมีปริมาณลดลงเฉลี่ยกว่า 30% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการใช้ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาทำให้ปริมาณรถที่จะวิ่งเข้าจังหวัดนครราชสีมามีปริมาณลดน้อยลง
นอกจากนี้ ผลความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้าขาย โรงเรียน โรงพยาบาล ปัญหาการจรจรในช่วงเวลาการก่อสร้าง รวมมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณปีละ 1 พันล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างก็เป็นเงินกว่า 3 พันล้านบาท โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตนไม่เคยได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นเลยสักครั้ง เพิ่งจะได้รับหนังสือเชิญเพียงครั้งเดียวคือในวันที่ 24 พ.ค. 66 ที่จะถึงนี้
ฉะนั้นตนจึงมองว่าไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดดังกล่าวแล้วเพราะไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ต้องการแก้ไขปัญหารถติด ซึ่งงบประมาณตัวนี้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นของจังหวัดนครราชสีมาก็ได้ เช่น แยกหัวทะเลซึ่งมีปัญหาเรื่องการจราจรเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มผู้คัดค้านเตรียมปรึกษาข้อกฎหมายกับทนายความเพื่อยื่นเรื่องคัดค้านไปยังศาลปกครองเพื่อพิจารณาต่อไป
ทางด้าน นายบุญสม สว่างกิจ อายุ 35 ปี พ่อค้าในตลาดสุรนารี ตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเช่นกัน กล่าวว่า ถ้าดูตามโครงการแล้วทางตลาดสุรนารีจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะเรื่องการสัญจรเข้าออกตลาด เพราะตลาดสุรนารีเป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ซึ่งมีพ่อค้า แม่ค้าจากต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก
นายบุญสมกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตนไม่รู้เรื่องการประชุมรับฟังความคิดเห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียวเพราะไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแจ้งเรื่องการก่อสร้างเลยทำให้ตนและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะได้รับ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจ การค้าขายกำลังไปได้ดีหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่งผ่านพ้นมา แต่ถ้าหากมาเจอปัญหาเรื่องโครงการก่อสร้างอีกคงจะทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้าในตลาดได้รับผลกระทบและลำบากเป็นอย่างมาก
สำหรับในกรณีที่จังหวัดนครราชสีมานั้นมีตัวแทนว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่เป็นฟากฝั่งของรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งนั้นตนคิดว่าคงไม่มีประโยชน์เท่าไรนักหากจะขอความช่วยเหลือผ่านว่าที่ ส.ส. เพราะตอนนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ซึ่งทางออกสุดท้ายคงต้องพึ่งทางศาลปกครองให้ช่วยพิจารณาโครงการนี้