xs
xsm
sm
md
lg

การรถไฟฯ วางศิลาฤกษ์สร้างสถานีรถไฟรางคู่นครพนม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครพนม - การรถไฟฯ พร้อมกลุ่มบริษัทสัมปทานก่อสร้างโครงการทำพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์สร้างสถานีรถไฟรางคู่ ณ บ้านดอนย่านาง อ.เมืองนครพนม ตามแผนก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 วงเงินทั้งสิ้นกว่า 28,000 ล้านบาท


วันนี้ (21 พ.ค. 66) ที่บริเวณทุ่งนาบ้านดอนย่านาง อ.เมือง จ.นครพนม นายจเร รุ่นฐานิช รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีบวงสรวง วางศิลาฤกษ์ สถานีรถไฟรางคู่นครพนม มีนายประสงค์ สุวิวัฒนชัย กรรมการ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น พร้อมชาวบ้านดอนย่านาง ร่วมงาน พิธีบวงสรวงดังกล่าวมีพราหมณ์ปู่สุนทร จาก อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เป็นผู้ทำพิธี นิมนต์พระภิกษุ 9 รูป จากวัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.นครพนม ร่วมทำพิธีฯ

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สร้างทางรถไฟรางคู่จากชุมทางจิระ นครราชสีมา-บัวใหญ่-นครพนม การก่อสร้างสถานีรถไฟที่บริเวณบ้านดอนย่านาง ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม เป็นช่วงสัญญาที่ 2 ระหว่างหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 จ.นครพนม ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ยูนิค ประกอบด้วย บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พี.ซี.อีที จำกัด บริษัท ไทยพีค่อน และอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท วัชรขจร จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 วงเงินทั้งสิ้นกว่า 28,000 ล้านบาท




โดยงานประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 175 กม. มีสถานี 9 สถานี และรวมถึงงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทางทั้งสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและผ่านแดน ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย

ในขณะเดียวกัน มีผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อโครงการได้ร้องเรียนถึงมูลค่าเวนคืนที่ดิน เป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสูญเสียพื้นที่เศรษฐกิจ และอาคารที่อยู่อาศัยเดิมมากอยู่พอสมควร ซึ่งบางพื้นที่ถูกโครงการเวนคืนที่ดินพาดผ่านสิ่งปลูกสร้าง โรงงานและบ้านพักอาศัย ถึงแม้บางแห่งจะไม่ถูกเวนคืนทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถคงสภาพเพื่อดำเนินธุรกิจหรือพักอาศัยต่อไปได้ และบางรายถูกเวนคืนพื้นที่ต้องสูญเสียสถานประกอบการรีสอร์ตแทบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางให้ประชาชนอุทธรณ์เพื่อหาข้อยุติต่อปัญหาดังกล่าวนี้ได้


ดร.สุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ ผู้จัดการโครงการรถไฟรางคู่ฯ กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีพิธีบวงสรวงสถานีรถไฟทางคู่ สร้างจากร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม ระยะทาง 180 กม. เพื่อแสดงความเคารพดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ มีความยินดีที่ได้มาสร้างประโยชน์ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ มีการเริ่มสร้างสำนักงานสนาม สถานีรถไฟ สะพานข้ามคลอง โครงการสิ้นสุดประมาณ พ.ศ. 2572 ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ เริ่มจาก อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด สิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ในการจ่ายค่าที่เวนคืนกำลังเริ่มทยอยจ่าย งบประมาณ 80 กว่าล้าน เครื่องจักรทยอยเข้ามาในพื้นที่ อุปสรรคในการก่อสร้าง ลักษณะน้ำในกรณีที่มีฝนตก มีการเบี่ยงทางน้ำไม่ให้มีการกระทบต่อประชาชนในพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น