xs
xsm
sm
md
lg

สกพอ.สำรวจความเห็นชาวแปดริ้ว ก่อนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ฉะเชิงเทรา -
 สกพอ.ปักหมุดสำรวจความเห็นชาวแปดริ้ว ก่อนเดินหน้าพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา รัศมี 500 เมตร เนื้อกว่า 200 ไร่ เน้นความต้องการของคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ

วันนี้ (9 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 1 ตามโครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกใน 5 ปีข้างหน้า ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ห้องประชุมโชคอนันต์ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

โดยมี นายวราวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและ TOD กล่าวถึงความเป็นมาของสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ต่อผู้ร่วมการประชุมว่า 100 คนว่า สาเหตุที่สถานีต้องตั้งอยู่นอกตัวเมือง และอยู่ห่างจากสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร บนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ เนื่องจากสถานีเดิมมีพื้นที่คับแคบ และต้องผ่านตลาดเข้าสู่ชุมชน

อีกทั้งขบวนรถไฟความเร็วสูงยังต้องการใช้พื้นที่ในการตีโค้งมากกว่ารถไฟปกติ เนื่องจากมีขบวนที่ยาวกว่า และที่ผ่านมาได้ทำการเวนคืนที่ดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างแล้ว


โดยพื้นที่ฝั่งขวาของถนนสุวินทวงศ์ (304) ด้านขาเข้า กทม. คือ สถานีรถไฟ และด้านซ้ายมือจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานซ่อมบำรุงรวมประมาณ 500-600 ไร่ และพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดในเส้นทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ และจะเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังอู่ตะเภา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 5 ปี

ขณะที่การเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ครั้งนี้เพื่อให้หน่วยราชการได้เตรียมพร้อมในการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็น “สมาร์ทซิตี” และความต้องการของคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ

ส่วนบรรยากาศในการนำเสนอความคิดเห็นพบว่า ยังชาวบ้านจำนวนมากที่ยังกังวลใจเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่คาดหวังจะใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิตที่อาจถูกเวนคืนหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น และหากไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดินอาจถูกปิดล้อมให้อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ ขณะที่ชาวบ้านบางรายมีความเป็นห่วงในเรื่องสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร








กำลังโหลดความคิดเห็น