xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟ "ไทย-จีน" ยังดีเลย์ 3 สัญญาส่อหลุดเป้าปี 70 เร่งแก้ปมทับซ้อน "ไฮสปีด" ซี.พี.ดึงเกมยื้อออก NTP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เร่งแก้ปมงานโยธา 3 สัญญา "รถไฟไทย-จีน" หวั่นดีเลย์เปิดบริการหลุดเป้าปี 70 คาดเจรจาโครงสร้างร่วมยืดเยื้อสุด ซี.พี.ดึงเกมยื้อออก NTP ส่วนสัญญา 3-1  สัญญา 4-5 มีทางออกแล้ว

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาทนั้น ยังมีงานโยธา 3 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามกับผู้รับจ้าง ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหา คือ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงินประมูล 9,348 ล้านบาท (ราคากลาง 11,386 ล้านบาท) มีปัญหาฟ้องร้อง ซึ่งล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ได้รับการคัดเลือก โดย รฟท.ทำหนังสือถึงกิจการร่วมค้า ITD-CREC ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2566 เพื่อให้ตอบว่าจะยังยืนยันราคาหรือไม่ ภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ กรณีกิจการร่วมค้า ITD-CREC ตอบยืนราคาจะสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างไ้ด้ทันที แต่หากเอกชนไม่ยืนราคา รฟท.จะต้องเปิดประมูลใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดราคากลางใหม่ เนื่องจากราคากลางเดิมเป็นราคาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้าง เหล็ก น้ำมัน ปรับขึ้นเกือบ 20% จึงมีโอกาสที่เอกชนจะไม่ยืนราคา โดยคาดว่าหากเปิดประมูลใหม่จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7-8 เดือน กรณีไม่มีข้อติดขัดและการอุทธรณ์ ฟ้องร้องเหมือนที่ผ่านมา คาดจะได้ตัวผู้รับจ้างอย่างเร็วประมาณปลายปี 2566 อย่างช้าต้นปี 2567


สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ติดปัญหา 2 ประเด็น คือ ผู้รับเหมาไม่ยืนราคา โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้มีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายที่ 3 และยืนราคาก่อสร้าง วงเงิน 10,325.96 ล้านบาท โดยภายในเดือน พ.ค.นี้ รฟท.จะส่งร่างเงื่อนไขสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบ ทั้งนี้ คาดว่าอัยการสูงสุดจะพิจารณาร่างสัญญาภายใน 1-2 เดือน จากนั้นจึงจะมีการลงนามสัญญาก่อสร้างต่อไป

ส่วนประเด็น สถานีอยุธยา ติดเงื่อนไขมรดกโลก โดยการศึกษา HIA หรือผลกระทบมรดกวัฒนธรรม กำหนดแล้วเสร็จเดือน เม.ย. 2566 แต่ปัจจุบันยังมีประชาชนในพื้นที่คัดค้านการก่อสร้างในเขตเมืองที่มีโบราณสถาน และแสดงความเห็นให้ปรับย้ายแนวเส้นทางนั้น หลักการคือ รฟท.จะต้องดำเนินการตามที่ได้ข้อสรุปไว้ ซึ่งไม่มีการปรับย้ายแนว โดยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างส่วนของทางวิ่งไปก่อน และสร้างสถานีอยุธยาหลังศึกษา HIA จบ ส่วนกรณีจะมีการย้ายสถานีหรือปรับแนวเส้นทาง ต้องมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือคำสั่งจากรัฐบาล


@เจรจาทับซ้อน “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ไม่จบ ซี.พี.ดึงเกมยื้อออก NTP

สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) จะประชุมร่วมกันในวันที่ 9 พ.ค. 2566 เพื่อเร่งหาข้อยุติกรณีโครงสร้างร่วม

แหล่งข่าวกล่าวว่า มีแนวทางการเจรจาเบื้องต้นคือ 1. ตัดเนื้องานส่วนโครงสร้างทับซ้อนออกจากไฮสปีด 3 สนามบิน โดยรฟท.รับมาทำเอง โดยให้ผู้รับจ้างของรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ก่อสร้าง ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้ไขสัญญาของ ซี.พี. หรือ 2. ต่างคนต่างทำโครงสร้างของโครงการตัวเอง ตามขอบเขตของสัญญากำหนด โดย ซี.พี.อาจจะขอใช้ผู้รับจ้างรายเดียวกับรถไฟไทย-จีนก็ได้ เพื่อให้ผู้รับเหมารายเดียว ทำให้การประสานแบบมีความสะดวกรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเจรจาวันที่ 9 พ.ค.นี้จะยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากคณะ กก.3 ฝ่ายถือเป็นตัวแทนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจทั้งสิ้น หากมีแนวทางอย่างไร ต้องนำกลับไปเสนอผู้มีอำนาจของแต่ละฝ่าย และยังต้องรอคำตอบจาก ซี.พี.ว่าจะยอมรับในข้อเสนอต่างๆ หรือไม่ เนื่องจากเดิมที่ ซี.พี.ยอมรับภาระก่อสร้างโครงสร้างร่วม โดยให้รัฐต้องปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเร็วขึ้น คือ สร้างไป-จ่ายไป จากเงื่อนไขสัญญาที่รัฐจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดเดินรถ

ส่วนกำหนดที่จะส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน มิ.ย. 2566 ยังมีโอกาสเลื่อนไปอีก เนื่องจาก ซี.พี.ระบุว่า ต้องการรับมอบพื้นที่ 100% ไม่ใช่รับพื้นที่บางส่วน อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าทาง ซี.พี.ต้องได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนด้วยจึงจะออก NTP ได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหารถไฟไทย-จีน 3 สัญญายืดเยื้อมากว่า 2 ปี ซึ่งส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้าออกไปแน่นอน โดยหากทั้ง 3 สัญญาเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 จะต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ จะกระทบการเปิดให้บริการที่กำหนดไว้ในปี 2570 ก็อาจต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน โดยการก่อสร้างงานโยธา ณ เดือนเม.ย. 2566 มีความคืบหน้า 20.720% ล่าช้า 37.75% (แผนงาน 58.47%)


กำลังโหลดความคิดเห็น