กรมทางหลวงชนบทเผยก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองปราจีนบุรีกว่า 25 กม.คืบหน้ากว่า 50% คาดแล้วเสร็จในปี 2567 ลดปัญหาจราจรตัวเมือง คมนาคมขนส่งสู่ประเทศเพื่อนบ้านสะดวก
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3452-สี่แยกบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ระยะทางรวม 25.656 กม. งบประมาณ 1,799.99 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าการขนส่งสู่อินโดจีนทางประเทศกัมพูชา และเป็นการบรรเทาการจราจรติดขัดในตัวเมืองปราจีนบุรี โดยโครงการจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567
ทั้งนี้ แบ่งการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 53% ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้นโครงสร้างทาง และงานก่อสร้างสะพาน มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับ ทล.3452 บริเวณ กม.ที่ 0+000 แยกทางหลวงชนบทสาย ปจ.4025 ใกล้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และแขวงทางหลวงชนบทปราจีนบุรี ถึง กม.ที่ 7+200 บริเวณช่วงแยก ทล.319 ตำบลบางเดชะ ระยะทางรวม 7.200 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2-4 ช่องจราจร มีไหล่ทาง และบริเวณทางแยกก่อสร้างเป็นขนาด 4 ช่องจราจร ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบระบายน้ำในเขตชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพานในสายทาง จำนวน 7 แห่ง ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ 1 แห่ง ใช้งบประมาณ ในการก่อสร้าง 899.999 ล้านบาท
ตอนที่ 2 ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 59 % ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างชั้นรองพื้นทาง และงานก่อสร้างสะพาน มีจุดเริ่มต้น ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 กม.ที่ 7+200 ถึง อำเภอบ้านสร้าง กม.ที่ 25+656 ระยะทาง 18.456 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร และ 4 ช่องจราจรมีไหล่ทาง ส่วนบริเวณทางแยกก่อสร้างถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีเกาะกลาง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในเขตชุมชน พร้อมก่อสร้างสะพานในสายทาง จำนวน 5 แห่ง ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ 1 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง
900 ล้านบาท
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จประชาชนจะสามารถเดินทางและขนส่งสินค้าจากอำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี ไปสู่อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอประจันตคาม และอำเภอพนมสารคาม ได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถใช้เป็นเส้นทางทดแทนเส้นทางเดิม โดยไม่ต้องผ่านตัวเมือง ผ่านโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีปริมาณการจราจรมากถึง 15,200 คันต่อวัน นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด ช่วยลดการทรุดตัวของอาคารอนุรักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เป็นโบราณสถานที่เกิดการทรุดตัวแตกร้าวทุกปีจากสาเหตุการจราจรที่หนาแน่น พร้อมทั้งยังสนับสนุนโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ตำบลบางแตน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปอีกด้วย