xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลั่นโรงงานผลิตรถอีวีเสร็จปีหน้า เร่งเจรจารับจ้างผลิต-มั่นใจต้นทุนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.เผยโรงงานผลิตรถอีวีเตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 67 เร่งคุยค่ายรถต่างชาติเพื่อรับจ้างผลิตรถอีวี ส่วนโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเริ่มป้อนลูกค้าได้ปลายปีนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจใหม่ของ ปตท.เดินหน้าตามแผนงานเพื่อมุ่งสู่ New Growth ในการเพิ่มสัดส่วนกำไรของธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Future Energy & Beyond) ให้มากกว่า 30% ในปี 2573 โดยในปี 2569 ธุรกิจใหม่จะมีสัดส่วนกำไร 15 %

โดย Future Energy ปตท.จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, ระบบกักเก็บพลังงาน, ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรและไฮโดรเจน และส่วน Beyond ปตท.จะรุกธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science), เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business), ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เป็นต้น โดยร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญจริงในธุรกิจนั้นๆ และอาศัยทรัพยากรและฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของ ปตท.

นายเชิดชัยกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการผลิตรถไฟฟ้า (อีวี) ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างอรุณพลัส ในเครือ ปตท. กับ Foxconn มูลค่าการลงทุนรวม 3.6 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 เบื้องต้นจะผลิต 5 หมื่นคัน/ปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 1.5 แสนคัน/ปีภายในปี 2569-70


โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวออกแบบภายใต้แนวคิด BOL (Build-Operate-Localize) นำเทคโนโลยีระดับโลกมาดำเนินการออกแบบก่อสร้างและทั้งการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป เพื่อรับจ้างผลิตรถอีวี แม้ว่าปัจจุบันค่ายรถอีวียักษ์ใหญ่ของจีนเริ่มมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทยก็ตาม แต่พันธมิตรที่ปตท.ร่วมทุนด้วยมีความเชี่ยวชาญ ทำให้มั่นใจว่า ปตท.นั้นจะสามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนต่ำ

นอกจากนี้ อรุณ พลัส ได้จับมือกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก เพื่อผลิตระบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน แบบโมดูลแบตเตอรี่ และระบบ Cell-To-Pack (CTP) รองรับอีวีทุกประเภทตามความต้องการของลูกค้า โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูงสร้างโรงงานเสร็จภายปลายปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

NV Gotion เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Nuovo Plus ซึ่งเป็นบริษัทย่อย อรุณพลัส กับ Gotion High-tech จะเริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ขนาด 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะสามารถผลิตและส่งมอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนคุณภาพสูงแก่ตลาดได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2566

ส่วนโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) เป็นความร่วมมือลงทุนกับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) เงินลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 กำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

“ปตท.เดินหน้าอีโคซิสเต็มของอีวี ในอนาคตก็จะศึกษาร่วมทุนในระบบเซลล์แบตเตอรี่ และ SMART ELECCTRONIC รองรับความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งอีวี, โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ทุกด้านต้องหารือร่วมกับภาครัฐว่าจะมีการสนับสนุนให้เดินหน้า สร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมในประเทศอย่างไร” นายเชิดชัยกล่าว


นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) กล่าวว่า มั่นใจผู้มาจ้างโรงงานประกอบรถยนต์และแบตเตอรี่จะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะในปีหน้าจะต้องเริ่มผลิตรถในไทยเพราะต้องทำตามข้อกำหนดของรัฐบาล คือใช้แบตฯ และประกอบรถยนต์ในไทย หลังหมดโปรแกรมอุดหนุนทางการเงินจากภาครัฐ 31 ธ.ค. 2566 ที่รถยนต์อีวีจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์อีวี ได้รับ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน โดยในส่วนของความเชี่ยวชาญและต้นทุนของกลุ่ม ปตท.นั้นจะสามารถแข่งขันได้ด้วยต้นทุนต่ำ เพราะผู้ร่วมทุนแต่ละรายล้วนมีความเชี่ยวชาญระดับโลกทั้งสิ้น สร้างความมั่นใจแก่ค่ายรถอีวีที่จะมาลงทุนในไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น