ปตท.จับมือ กฟผ. ซาอุฯ เร่งศึกษาโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย คาดได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ ยอมรับต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทยสูงกว่าการนำเข้า ชี้หลายประเทศภาครัฐให้การอุดหนุนระยะยาวเพื่อให้เกิดโครงการนี้
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ กฟผ.และบริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) จากซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น โดยยอมรับว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสูงกว่า 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน หรือสูงกว่าราคานำเข้า
ขณะที่พื้นที่การสร้างโครงการดังกล่าวก็ถือเป็นข้อจำกัดด้วย แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของ กฟผ. เพราะสุดท้ายก็ต้องพิจารณาต้นทุนต่อหน่วยไปได้หรือไม่ รวมทั้งแข่งขันกับตลาดได้หรือไม่ และลูกค้าคือใคร
อย่างไรก็ดี ในหลายประเทศที่ผลักดันให้เกิดโครงการไฮโดรเจนสีเขียวขึ้น ภาครัฐจะอุดหนุนระยะยาวมากกว่า 5-10 ปี ทำให้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวลดต่ำกว่า 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน ส่วนการเกิดโครงการไฮโดรเจนสีเขียวในไทย ขึ้นกับนโยบายรัฐว่าจะสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างไร คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ในปี 2565 ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของซาอุดิอาระเบีย เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 252,000 ล้านบาท
นายเชิดชัยกล่าวต่อไปว่า ปตท.มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดว่าในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ หรือ 12 กิกะวัตต์ (GW) และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภท Conventional 8,000 เมกะวัตต์ หรือ 8 กิกะวัตต์
ล่าสุดคณะกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ได้อนุมัติขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในบริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) และอนุมัติการชำระหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 42.93 ใน AEPL ผ่านบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 19,167 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 8,625 ล้านบาท โดยจะชำระเงินเพิ่มทุนครั้งแรกช่วงกรกฎาคมนี้ราว 8,649 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 3,892 ล้านบาท