xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผย “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีน้ำตาลต่ำ” มีโอกาสขายโรมาเนีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีน้ำตาลต่ำมีโอกาสขายตลาดโรมาเนีย หลังผลสำรวจพบผู้บริโภคหันมานิยมมากขึ้นเหตุดีต่อสุขภาพระบุเครื่องดื่มสมุนไพร ชา น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยมีโอกาสทำตลาดแนะศึกษากฎระเบียบ และนำสินค้าเปิดตัวในงานแสดงสินค้า

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.ฐะปะนีย์ เครื่องประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ถึงโอกาสในการขยายตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีน้ำตาลต่ำในตลาดโรมาเนีย ที่ขณะนี้มีแนวโน้มเติบโตดีในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม หัวน้ำเชื้อ น้ำผลไม้ กาแฟพร้อมดื่ม ชาพร้อมดื่ม เครื่องชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานเพิ่มเติมว่า น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลมยังเป็นตัวเลือกเครื่องดื่มยอดนิยมในโรมาเนีย แต่ผลกระทบจากราคาพลังงานที่กระทบต่อต้นทุนสินค้าและราคาขาย ทำให้น้ำอัดลมที่มีราคาสูง เริ่มไม่เป็นที่นิยม ขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังแบบน้ำตาลน้อย น้ำดื่มผสมวิตามินประเภท Functional Drink เครื่องดื่มเกลือแร่ และน้ำผลไม้ 100% เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าหากจะต้องจ่ายมากขึ้นแล้วก็จะเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน อีกทั้งผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพและตระหนักถึงผลกระทบของการเลือกบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลโรมาเนียได้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับกลุ่มธุรกิจ HoReCa เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และธุรกิจจัดเลี้ยง จาก 5% เป็น 9% ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีรสหวานที่จำหน่ายโดยผู้ประกอบการธุรกิจ HoReCa มีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหันไปผลิตเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำหรือปราศจากน้ำตาล เครื่องดื่มเสริมเกลือแร่ เครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น และตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มต้องเก็บค่าธรรมเนียมมัดจำขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกระป๋องเครื่องดื่มที่ทำจากอะลูมิเนียมในอัตรา 0.50 เลย์ (ประมาณ 0.1 ยูโร หรือ 3.75 บาท) ต่อเครื่องดื่ม 1 ขวดหรือ 1 ใบ ซึ่งจะกระทบต่อราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 เลย์ต่อสินค้าเครื่องดื่ม 1 รายการ

นายภูสิตกล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตลาดโรมาเนียดังกล่าว กรมฯ มองว่าเป็นโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับสินค้าไทย ประเภทเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำชา น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่จะเข้าไปทดลองทำตลาดโรมาเนีย แต่ในการเข้าสู่ตลาด ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนพิจารณาส่งออกมายังโรมาเนีย เช่น ระเบียบทั่วไปว่าด้วยอาหาร (General Food Law) ของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No 178/2002 of 28 January 2002) ระเบียบว่าด้วยฉลากสินค้าอาหาร (Regulation (EC) No. 1169/2011) ระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (Directive 94/62/EC) ระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องการจัดการอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (Commission Regulation (EU) 2021/382) เป็นต้น

นอกจากนี้ ต้องศึกษาด้านอัตราภาษี โดยผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบว่าสินค้าของตนอยู่ภายใต้พิกัดศุลกากร (Harmonized Code) ประเภทใด แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบอัตราศุลกากรในเว็บไซต์สำนักงานศุลกากรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ โรมาเนียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จึงจะใช้อัตราอากรเหมือนกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ทว่าจะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศโรมาเนียกำหนด VAT สินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็น 19% ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้น

ส่วนประเด็นอื่นๆ ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) จากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อใช้ในการรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่าส่งออกมาจากประเทศใด และปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎที่ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale) และใบอนุญาตการผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และด้านคุณภาพสินค้า ต้องพิจารณาการใช้สารกันบูดหรือวัตถุเจือปนอาหาร โดยศึกษาข้อมูลได้จากระเบียบสหภาพยุโรป เช่น Regulation (EC) No 178/2022 ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารและการใช้สารกันเสีย (Preservative) ในผลิตภัณฑ์อาหาร และสินค้าที่ส่งออกมาตลาดสหภาพยุโรป ควรมีอายุอย่างน้อย 5 ปี เพราะต้องเผื่อเวลาขนส่ง และการเก็บในโกดัง

สำหรับการสำรวจตลาดเครื่องดื่มของไทยในตลาดกรุงบูคาเรสต์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ทูตพาณิชย์รายงานว่า ร้านขายสินค้าเอเชียในกรุงบูคาเรสต์มีการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่มบรรจุกระป๋องยี่ห้อ FOCO และมีร้านขายเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานชงและชานมไข่มุก 2 ร้าน ที่บริหารโดยผู้ประกอบการไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงบูคาเรสต์ ได้แก่ ร้าน Zebra Cat และร้าน Dolly Bubble Cha Thai ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการไทย ทราบว่าชาไทยและน้ำหวานชงที่ใช้สินค้าแบรนด์ไทย เช่น Hell’s Blue Boy เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวโรมาเนีย ทว่าผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดปริมาณความหวาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวโรมาเนียมากขึ้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเครื่องดื่มของไทย ต้องการขยายตลาดสินค้าในกรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย ขอให้พิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจจำนวน 2 งาน ที่มีกำหนดจัด ณ ศูนย์ประชุม ROMEXPO กรุงบูคาเรสต์ในปี 2566 ได้แก่ 1. Indagra Food 2023 ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.2566 และ 2. Foodservice & Hospitality Expo 2023 ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย. 2566


กำลังโหลดความคิดเห็น