xs
xsm
sm
md
lg

เพราะได้กลิ่นความพ่ายแพ้ของยูเครน ‘ไบเดน’ จึงใส่เกียร์ถอยไม่เอาด้วยเรื่องรีบรับเคียฟ ‘เข้านาโต’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ หารือกับเลขาธิการองค์การนาโต เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2023
Biden walks back on Ukraine’s Nato accession
BY M. K. BHADRAKUMAR
19/06/2023

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ไบเดน มีความตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การรุกใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ของฝ่ายยูเครนจะประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และกองทัพที่ยังเหลืออยู่ของเคียฟก็จะถูกทำลายล้าง ยังไม่มีความแน่นอนว่าเคียฟต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะสามารถระดมเกณฑ์ทหารมาได้อย่างพอเพียง

ถ้าหากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มีเครื่องข้ามกาลเวลา “time machine” เหมือนอย่างที่บรรยายไว้ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ขนาดสั้นท้องเรื่องว่าด้วยโลกหลังยุคโลกาวินาศของ เอช.จี.เวลส์ (H.G.Wells) แล้ว เขาก็ควรใช้ยานหรือเครื่องดังกล่าวเพื่อเลือกเดินทางด้วยวัตถุประสงค์อันแน่วแน่ ย้อนหลังผ่านวันเวลากลับไปจนถึงปี 1999 ซึ่งเป็นตอนที่สหรัฐฯ กำลังจะประสบกับการสูญเสียทั้งพล็อตใหญ่ว่าด้วยเรื่องการสร้างความมั่นคงขึ้นมาในยุโรป และทั้งการที่รัสเซียร้องขอมาอย่างยาวนานเพื่อให้ได้เข้าอยู่ในแผนการความมั่นคงร่วมกันกับทางยุโรป

ณ ห้วงเวลาเมื่อ 24 ปีก่อน ซึ่งกลายเป็นห้วงเวลาแห่งการตัดสินชะตากรรมของโลกยุคหลังสงครามเย็นนี้เอง จอร์จ เคนแนน (George Kennan) [1] ได้กล่าวเตือนคณะบริหารบิลล์ คลินตัน ราวกับเป็นถ้อยคำจากศาสดาพยากรณ์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียจะได้รับความเสียหายอย่างชนิดไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนดีได้ ถ้าหากทางกลุ่มพันธมิตรตะวันตกขยายตัวโดยมุ่งดึงเอาพวกประเทศที่เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เข้าไปร่วมด้วย ปรากฏว่าคำแนะนำของเขาถูกเพิกเฉยละเลย ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า สงครามในยูเครนเกิดขึ้นมาเนื่องจากการสะสมเพิ่มพูนอย่างไม่หยุดไม่หย่อนของการที่นาโตเดินหน้าอย่างไม่มียั้งคิดมุ่งสู่เส้นพรมแดนของรัสเซีย

เมื่อ (กลางเดือนธันวาคม) ปี 2021 (ก่อนหน้า “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ไม่นานนัก) รัสเซียได้เสนอร่างเอกสาร 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการต่างๆ ที่จะสร้างความแน่ใจด้านความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซีย และเหล่ารัฐสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Agreement on Measures to Ensure the Security of the Russian Federation and Member States of the North Atlantic Treaty Organisation) ซึ่งมีข้อเรียกร้องกำหนดให้เหล่าสมาชิกนาโตให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่ขยายกลุ่มพันธมิตรของตนออกไปอีก รวมทั้งมีการเอ่ยเจาะจงเป็นพิเศษถึงยูเครน ตลอดจนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนกำลังพลของนาโต ซึ่งมีผลกระทบต่อประเด็นปัญหาความมั่นคงระดับแกนกลางของรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mid.ru/ru/foreign_policy/rso/nato/1790803/?lang=en)

สำหรับร่างเอกสารฉบับที่ 2 ซึ่งมุ่งส่งถึงวอชิงตัน ใช้ชื่อว่า “สนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยการค้ำประกันด้านความมั่นคง” (Treaty between the United States of America and the Russian Federation on Security Guarantees)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mid.ru/ru/foreign_policy/rso/nato/1790818/?lang=en)

เมื่อพิจารณากันโดยรวม ร่างเอกสาร 2 ฉบับนี้คือตัวแทนของมอสโกในการเสนอให้เปิดการเจรจากันอย่างจริงจัง แต่แล้วมันก็ไม่ได้นำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ทั้งนั้น เนื่องจากคณะบริหารไบเดน เอาแต่ตั้งกำแพงด้วยข้ออ้างง่ายๆ เพียงแค่ว่า สหรัฐฯ กับรัสเซียไม่สามารถทำความตกลงกันโดยข้ามหัวของชาวยุโรปและชาวยูเครนได้!

อย่างเดียวกับคำพูดของ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ที่กล่าวออกมาและได้รับการกล่าวขวัญเลื่องลือนั่นแหละ “ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพวกคุณ (ยูเครน) ที่ไม่มีพวกคุณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” มันเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้นเอาเลย ก็การสถาปนาระบอบปกครองเคียฟให้ขึ้นสู่อำนาจนั้น ไม่ใช่ด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจในยูเครนเมื่อปี 2014 ที่สหรัฐฯ หนุนหลัง ซึ่งทั้งละเมิดรัฐธรรมนูญ มีการใช้กำลังอาวุธ และนองเลือดหรอกหรือ ระบอบปกครองนี้จึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งของวอชิงตันเท่านั้นเอง

คณะบริหารไบเดนคิดว่าตนกำลังไล่ต้อนมอสโกให้จนมุม และกำลังวางกับดักหมีเตรียมเอาไว้แล้ว โดยที่รัสเซียจะต้องฉิบหายไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง –นั่นคือพวกเขาจะต้องยอมรับอย่างเซื่องๆ ถึงความเป็นจริงที่ว่า นาโตมาปรากฏตัวอย่างชัดเจนตรงธรณีประตูของพวกเขาแล้ว หรือไม่ก็ต้องเลือกดำเนินการต่อต้านด้วยหนทางใช้กำลังบังคับ เมื่อตอนที่การปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 สโตรบ แทลบอตต์ (Strobe Talbott) ซึ่งเป็นจอมบงการอยู่ในคณะบริหารบิลล์ คลินตัน ที่คอยผลักดันโดยป่าวร้องหลักนิยมว่าด้วยการที่นาโตต้องขยายตัวไปทางตะวันออก เพื่อเข้าสู่ดินแดนต่างๆ ของอดีตกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ ได้ทวีตแสดงความยินดีกับทีมไบเดนสำหรับการไล่ต้อนฝ่ายรัสเซียให้เข้ามุมอับได้สำเร็จ!

พวกนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ หลายต่อหลายคนเขียนเอาไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกชื่นมื่นในชัยชนะว่า รัสเซียกำลังจะจมดิ่งลงไปในหล่มโคลนดูดที่จะเกิดผลพวงต่อเนื่องอันเลวร้ายยิ่ง ทั้งต่อระบอบปกครองของประเทศนั้น และกระทั่งต่อการดำรงคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ของรัสเซียด้วยซ้ำไป การเล่าเรื่องเช่นนี้ของฝ่ายตะวันตกกลายเป็นที่สนใจและได้รับความยกย่องสรรเสริญกันอยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นมามันก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วเรียบร้อย

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดมอสโกก็สามารถผงาดขึ้นมาในสมรภูมิอย่างเด็ดขาดและอย่างชนิดไม่มีการหวนกลับไปเป็นตรงกันข้ามอีก ถือว่าเป็นการหันหัวเลี้ยวกลับได้สำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ทีเดียว

ท่ามกลางพื้นหลังทางประวัติศาสตร์เช่นนี้แหละ การที่ ไบเดน ออกมากล่าวในวันเสาร์ (17 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ “ไม่ได้กำลังจะทำให้มันเป็นเรื่องง่าย” สำหรับเรื่องที่ยูเครนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต จึงมีแต่ต้องมองว่าเป็นการใส่เกียร์ถอยหลังกลับจากสิ่งที่สหรัฐฯ เคยเดินมาในอดีตเท่านั้น ทั้งนี้ ไบเดนยังเน้นย้ำว่า ยูเครนถูกเรียกร้องให้กระทำตาม “มาตรฐานต่างๆ อย่างเดียวกัน” กับสมาชิกรายอื่นๆ ไม่ว่ารายไหนของกลุ่มพันธมิตรทางทหารกลุ่มนี้ นี่เป็นการส่งสัญญาณอย่างอ้อมๆ ว่า ยูเครนต้องปฏิบัติให้ได้ตามสิ่งที่เรียกกันว่า “แผนปฏิบัติการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก” (Membership Action Plan หรือ MAP) ซึ่งกำหนดให้ชาติผู้สมัครแต่ละรายต้องมีการปฏิรูปทางการทหารและการปฏิรูปทางประชาธิปไตย ภายใต้คำแนะนำและความช่วยเหลือของนาโต ก่อนที่จะสามารถวินิจฉัยตัดสินในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกล่าวของ ไบเดน ได้ที่ https://www.politico.com/news/2023/06/17/biden-nato-ukraine-china-00102527)

กระบวนการ MAP นี้อาจใช้เวลาเป็นปีๆ มาซิโดเนีย นั้นใช้เวลานานถึง 21 ปี คำพูดคราวนี้ของ ไบเดน ไม่ได้เป็นเพียงการส่งสัญญาณไปถึงเคียฟเท่านั้น แต่ยังออกมาในจังหวะเวลาที่การแสดงความคิดเห็นจำนวนมากภายในกลุ่มพันธมิตรนาโตปรากฏออกมาว่า เรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐฯ ต้องให้หลักประกันความมั่นคงของนาโตที่ชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ยูเครน โดยที่เรื่องนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียวสำหรับอนาคตของความมั่นคงของยุโรปโดยรวม

ในความเป็นจริงแล้ว ไบเดน ออกมาพูดคราวนี้หลังจากได้พบปะหารือกับ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการของนาโต ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารที่แล้ว หรือก็คือเพียงแค่ 4 วันก่อนหน้านั้น โดยตามรายงานข่าวบอกว่า สโตลเตนเบิร์กมุ่งหาทางลดขั้นตอนในกระบวนการพิจารณารับยูเครน เพื่อให้เคียฟเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่ายูเครนมีความคืบหน้าไปอย่างสำคัญเรียบร้อยแล้วในเส้นทางสู่การเป็นสมาชิก

แล้วอะไรหรือที่เร่งรัดให้ ไบเดน รู้สึกว่าต้องแสดงให้เห็นว่าเขาจะเลือกเส้นทางที่เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้? ขณะประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา ของโปแลนด์ จะเข้าร่วมการหารือในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ในฟอร์แมตที่เรียกชื่อว่า “สามเหลี่ยมไวมาร์” (Weimar Triangle) ดูดา ได้ประกาศว่า ยูเครนปรารถนาที่จะได้ “โอกาสลู่ทางที่เป็นรูปธรรมมากๆ ... ในเรื่องการเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรแอตแลนติกเหนือ” ดูดา ยังแสดงความคาดหวังว่าการประชุมซัมมิตของนาโต ซึ่งกำลังจะมีขึ้นที่กรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะ “ส่งข้อความในทางบวกถึงกรุงเคียฟ ... ว่าการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนในอนาคต เป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างถนัดชัดเจน”

ดูเหมือนว่าในหมู่สมาชิกสามเหลี่ยมไวมาร์ก็มีฉันทมติกันว่า ยูเครนควรที่จะได้รับหลักประกันด้านความมั่นคง ชอลซ์นั้นประกาศว่า “มีหลักฐานยืนยันว่าเราจำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างแบบนี้ และเราจำเป็นต้องให้มันอยู่ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากๆ ด้วย” ทางด้าน มาครง ก็รับรองแข็งขัน โดยเรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงอย่างรวดเร็วในเรื่อง “การรับประกันความมั่นคงที่จับต้องได้และน่าเชื่อถือ” แก่ยูเครน

อันที่จริง ภายในนาโตมีการส่งเสียงแบบข่มขู่ออกมาด้วยซ้ำว่า ถ้าหากไม่มีกระบวนการสร้างความเป็นรูปธรรมให้แก่การเข้าเป็นสมาชิกของยูเครนในการประชุมซัมมิตที่วิลนีอุสแล้ว ชาติสมาชิก “ฮาร์ดคอร์” บางรายอาจจะตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ด้วยตัวพวกเขาเองเสียเลย และการดำเนินการแบบนอกคอกที่จะเกิดขึ้น –ในระดับชาติ— อาจจะรวมถึงการที่พวกชาติสมาชิกนาโตบางรายส่งกองทหารเข้าไปประจำในยูเครน

ทีนี้ สิ่งที่ ไบเดน พูดออกมา ก็คือการเมินเฉยไม่แยแสเสียงเรียกร้องเหล่านี้ซึ่งมาจากทั้งพวกยุโรปเก่าและพวกยุโรปใหม่ เขาแสดงออกถึงความมั่นอกมั่นใจที่ว่าเขายังคงมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาตามใจปรารถนาได้ หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะเขาอ่านออกกระมังว่า ทั้ง มาครง และ ชอลซ์ เพียงแค่กำลังเล่นบทที่เห็นว่าสามารถเรียกคะแนนนิยมได้เยอะเท่านั้น? เราอาจจะไม่ได้รับรู้หรอกว่าความจริงเป็นยังไง

อย่างไรก็ตาม หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ไบเดน มีความตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การรุกใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ของฝ่ายยูเครนจะประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และกองทัพที่ยังเหลืออยู่ของเคียฟก็จะถูกทำลายล้าง ยังไม่มีความแน่นอนว่าเคียฟต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะสามารถระดมเกณฑ์ทหารมาได้อย่างพอเพียง บุคคล 2 คนซึ่งวอชิงตันได้พยายามฟูมฟักบ่มเพาะมาระยะหนึ่งเพื่อจะได้สามารถนำออกมาใช้เป็นแผนบีในเคียฟ (เป็นการทดแทนแผนเออย่างเซเลนสกี) โดยที่เวลานี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ดูเหมือนจำเป็นต้องงัดออกมาใช้แล้ว – ได้แก่ พลเอกวาเลรี ซาลุซนี (Gen. Valeri Zaluzhny) ผู้บัญชาการกองทัพยูเครน และ พลตรีคีรีโล บูดานอฟ (Maj. Gen. Kyrylo Budanov) เจ้ากรมข่าวทหาร— ปรากฏว่าขณะนี้กลับต้องตัดออกไปจากการวางหมากคาดคำนวณทั้งหลาย ท่ามกลางข่าวที่ว่าทั้งคู่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการโจมตีของขีปนาวุธรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้
(ดูเพิ่มเติมข่าวเกี่ยวกับพลเอกซาลุสนี ได้ที่ https://english.alarabiya.net/News/world/2023/06/18/Putin-does-not-rule-out-that-Ukraine-s-army-commander-in-chief-could-be-abroad)
(ดูเพิ่มเติมข่าวเกี่ยวกับพลตรีบาดูนอฟ ได้ที่ https://www.agenzianova.com/en/news/German-media-The-director-of-Ukrainian-intelligence-is-in-a-coma-in-a-Berlin-hospital/)

อย่าได้บอกปัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลุกฮือก่อกบฏขึ้นมาในยูเครน ถ้าหากการเสียชีวิตจากสงครามกลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่สามารถทนแบกรับต่อไปได้แล้ว ไบเดนยังมองเห็นด้วยว่า เสียงรับรองนโยบายสงครามของเขาในอเมริกาก็กำลังลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจสร้างอันตรายให้แก่โอกาสในการชนะการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของเขา ไบเดน ได้อธิบายให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ฟัง ระหว่างที่เขาไปเยือนกรุงเคียฟครั้งท้ายสุดว่า เงินงบประมาณความช่วยเหลือที่วอชิงตันสามารถจัดส่งให้ได้นั้นมีอยู่จำกัด และวิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้อำนวยการซีไอเอ ยังได้ส่งข้อความให้แก่ เซเลนสกี แยกออกไปต่างหากว่า หลังเดือนกรกฎาคมไปแล้ว ความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกันจะมีปัญหา

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ถ้าหากคำพูดอันแข็งกร้าวของปูตินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ในวันอังคารที่ 13 มิ.ย. และวันศุกร์ที่ 16 มิ.ย.) จะมีอะไรซ่อนเร้นอยู่แล้ว มันก็คือว่าคณะผู้นำของทำเนียบเครมลิน ไม่มีความไว้วางใจหรือความเชื่อมั่นใดๆ เลยในตัว ไบเดน ตลอดจนในพวกสหายชาวยุโรปของเขา เวลาเดียวกันนั้น ข้อเท็จจริงที่ไม่เข้าใครออกใครมีอยู่ว่า 90% ของฐานทรัพยากรของยูเครนนั้นตั้งอยู่ในแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งนี่หมายความว่ารัฐยูเครนที่ยังเหลืออยู่เวลานี้ กำลังจะกลายเป็นแหล่งดูดทรัพยากรต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างใหญ่โตมหึมา ขณะที่รัสเซียไม่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณของความอ่อนเปลี้ยหมดแรงใดๆ เลย

ไบเดน ไม่ได้พูดอะไรใหม่ๆ ออกมาหรอก ไบเดนรู้สึกได้แล่วว่าสหรัฐฯ กำลังปราชัยในสงครามตัวแทนคราวนี้ แต่เขาจะต้องไม่ยอมรับและไม่สามารถยอมรับเรื่องนี้ได้ ดังนั้น ในสภาพที่ปราศจากเครื่องข้ามกาลเวลา ซึ่งน่าที่จะนำเขาย้อนกลับหลังไปสู่ปี 1999 เมื่อตอนที่การขยายนาโตกำลังเริ่มต้นขึ้นมา ไบเดนก็เลยเลือกใช้วิธีใส่เกียร์ถอยหลังกลับไปที่จุดยืนของการประชุมซัมมิตนาโตเมื่อปี 2008 ที่กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย ซึ่งเป็นจุดยืนของการปฏิบัติตามแบบแผนปกติธรรมดา นั่นคือการแสดงความยินดีต้อนรับยูเครน เข้าสู่กลุ่มพันธมิตรนี้ ทว่าให้เป็นการเข้ามาผ่านเส้นทาง MAP ตามปกติ – ราวกับว่าช่วงเวลาตลอด 15 ปีที่ล่วงลับไป ตอนนี้มันกลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว และไม่สามารถที่จะดึงกลับเข้ามาพิจารณาอะไรกันในปัจจุบันได้อีก อย่างไรก็ตาม รัสเซียจะไม่มีทางยินยอมเออออห่อหมกด้วยกับการตัดทอนช่วงเวลา 15 ปีออกไปเช่นนี้หรอก
(เรื่องการขยายนาโตตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/russia-ukraine-business-world-war-ii-sweden-finland-240d97572cc783b2c7ff6e7122dd72d2)

(เรื่องประชุมซัมมิตนาโตปี 2008 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nato.int/docu/update/2008/04-april/e0403h.html#:~:text=At%20the%20Bucharest%20Summit%2C%20NATO%20Heads%20of%20State%20and%20Government,towards%20their%20Euro%2DAtlantic%20goals.)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/biden-walks-back-on-ukraines-nato-accession

หมายเหตุผู้แปล
[1] จอร์จ เคนแนน (George Kennan) (เกิด 16 ก.พ.1904 - เสียชีวิต 17 มี.ค.2005) เป็นนักการทูตและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้รู้จักกันมากที่สุดในฐานะผู้ป่าวร้องสนับสนุนให้ใช้นโยบายปิดล้อมจำกัดควบคุมการขยายตัวของโซเวียตระหว่างช่วงสงครามเย็น เขาออกตระเวนแสดงปาฐกถาตามที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง อีกทั้งเขียนบทความทางวิชาการว่าด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา เขายังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อาวุโสทางด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “The Wise Men”

ระหว่างช่วงท้ายๆ ของทศวรรษ 1940 ข้อเขียนของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่หลักนิยมในยุคประธานาธิบดีเฮนรี ทรูแมน ที่เรียกกันว่า “หลักนิยมทรูแมน” (Truman Doctrine) ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯซึ่งมุ่งปิดล้อมจำกัดควบคุมโซเวียต

แต่ไม่นานนักหลังจากแนวคิดต่างๆ ของเขากลายเป็นนโยบายของสหรัฐฯ เคนแนนได้เริ่มหันมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่เขามีส่วนช่วยเหลือจัดทำขึ้นมาเหล่านี้ เมื่อถึงปลายปี 1948 เคนแนนกลายเป็นผู้ที่เชื่อมั่นว่าสามารถใช้การสนทนาในเชิงบวกเพื่อจัดการรับมือกับรัฐบาลโซเวียตได้ ทว่าข้อเสนอต่างๆ ของเขาในช่วงนี้ถูกคณะบริหารทรูแมนปฏิเสธ และอิทธิพลของเคนแนนก็จืดจางลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ดีน อาชีสัน (Dean Acheson) ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในปี 1949 ถัดจากนั้นไม่นาน ยุทธศาสตร์สงครามเย็นของสหรัฐฯ ก็มีลักษณะก้าวร้าวยืนกรานมากขึ้น และมีคุณภาพทางการทหารยิ่งขึ้น

ในปี 1950 เคนแนนออกจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ยกเว้นช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำมอสโกเป็นเวลาสั้นๆ และช่วงที่เป็นเอกอัครราชทูตประจำยูโกสลาเวียยาวนานกว่านั้น) และกลายเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในแบบสำนักคิดนักมองโลกตามความเป็นจริง (realist) เขายังคงศึกษาวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้ทำงานรายหนึ่งของสถาบันเพื่อการศึกษาชั้นสูง (International for Advanced Study) ตั้งแต่ปี 1956 จนกระทั่งมรณกรรมของเขาในปี 2005 สิริอายุ 101 ปี
(ข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/George_F._Kennan)

กำลังโหลดความคิดเห็น