(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Big development in Ukraine?
By STEPHEN BRYEN
10/06/2023
คำพูดคราวนี้ของรัฐมนตรีกลาโหมยูเครน โอเลคซีย์ เรซนิคอฟ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตมากน้อยแค่ไหน บางทีอาจจะขึ้นอยู่กับว่า เขากำลังหมายถึงอะไรกันแน่จากคำแถลงของเขา
ดูเหมือนว่ามีศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะเกิดพัฒนาการครั้งใหญ่ขึ้นมาในยูเครน โดยจุดโฟกัสอยู่ที่เรื่องการทำข้อตกลงด้วยการเจรจากันกับฝ่ายรัสเซีย
“ยูเครนพร้อมแล้วสำหรับการเจรจาและการทำข้อตกลงสันติภาพ” รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน โอเลคซีย์ เรซนิคอฟ (Oleksiy Reznikov) กล่าว โดยเขาขยายความต่อไปว่า – “ถ้าหากรัสเซียเปลี่ยนแปลงเป้าหมายต่างๆ ของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารจากที่ได้เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้”
คำแถลงของเขาปรากฏออกมาหลังจากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางไปเยือนเคียร์ซอน (Kherson) ในวันที่ 8 มิถุนายน เพื่อรับรู้ความเป็นไปล่าสุดเกี่ยวกับการรุกที่กำลังดำเนินอยู่ในแคว้นซาโปริซเซีย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เซเลนสกี ได้รับข่าวชนิดที่เขาไม่ต้องการได้ยิน อันได้แก่ การรุกของฝ่ายยูเครนมิได้ดำเนินไปด้วยดี และกองทัพยูเครนประสบความสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายรัสเซียใช้ความพยายามจนสามารถน็อกเอาต์รถถังยูเครนจำนวนมาก รวมทั้งพวกรถถัง AMX-10 ที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส และรถถังลีโอพาร์ด (Leopard) ของเยอรมนี ที่ใช้กันในแนวหน้าจำนวน 3 คัน ซึ่งเป็นโมเดล A-6 (ไม่ใช่พวกโมเดล A-4 ที่ได้รับโอนมาจากโปแลนด์)
ฝ่ายรัสเซียยังทำลายเรดาร์ เฮนโซลด์ท ทีอาร์เอ็มแอล-4 ดี เออีเอสเอ (Hensoldt TRML-4D AESA) ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการป้องกันภัยทางอากาศ ไอริส-ที (Iris-T air defense system) ซึ่งถูกนำมาตั้งประจำการในพิสัยที่สามารถสนับสนุนกองกำลังของยูเครนในการรุกโจมตี การที่เรดาร์ดังกล่าวนี้ได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้กองกำลังรัสเซียสามารถควบคุมน่านฟ้าเหนือสมรภูมิตรงนี้ได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/ukraines-prized-iris-t-air-001630355.html)
เราไม่ทราบอะไรนักเกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายหรือความสูญเสียด้านวัสดุยุทโธปกรณ์ของฝ่ายรัสเซีย แต่เราทราบแน่ๆ ว่า กองกำลังที่น่าจะเป็นกองทหารระดับกองพลน้อยของยูเครนซึ่งได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมความทันสมัยจนอยู่ในระดับดีเยี่ยมที่สุด --นั่นคือ กองพลน้อยยานยนต์ที่ 47 (the 47th Mechanized Brigade) ซึ่งทั้งได้รับการฝึกอบรมในยุโรปโดยนาโต ได้รับการประกอบยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทั้งกล้องช่วยให้มองเห็นในเวลากลางคืน และกล่องถ่ายภาพโดยอาศัยความร้อน รวมทั้งพวกยานสู้รบทหารราบ อย่าง ยานสู้รบแบรดลีย์ (Bradley) ของสหรัฐฯ แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากพวกอาวุธยิงไกลแม่นยำจำนวนมากมาย ซึ่งมีทั้งระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ด้วย— ประสบความล้มเหลวไม่สามารถช่วงชิงครอบครองพื้นที่เพิ่มเติม หรือผลักดันขับไล่ฝ่ายรัสเซียให้ถอยหนีได้
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กองพลน้อยนี้โดยรวมแล้วได้รับความเสียหายขนาดไหน แต่มีรายงานว่าหน่วยอื่นๆ ได้รับความเสียหายหนัก –หนักมากจนกระทั่งมีบางกองพันปฏิเสธไม่ขอเข้าสู้รบอีก
ยูเครนยังคงมีกองกำลังอาวุธขนาดใหญ่มาก ที่สามารถนำเอามาใช้ในสนามรบ ดังนั้น การรุกคราวนี้จึงยังเพิ่งอยู่ในขั้นต้นๆ เท่านั้นเอง ทว่าฝ่ายรัสเซียก็มีกองกำลังสำรองขนาดมหึมาเช่นกัน บางทีอาจจะยังมีจำนวนทหารถึง 200,000 คน ซึ่งพวกเขาเริ่มเริ่มต้นที่นำเอาเข้าประจำการใช้งาน
เซเลนสกี ไม่สามารถร้องขอฝ่ายรัสเซียอย่างเปิดเผยเพื่อให้มาทำข้อตกลงกัน เนื่องจากนั่นจะทำลายความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับสหรัฐฯและกับพวกประเทศนาโตอื่นๆ ตลอดจนทำให้ตัวเขาอ่อนแอลงภายในยูเครนเอง
คำถามจึงมีอยู่ว่า คำแถลงของเรซนิคอฟในครั้งนี้มีความมุ่งหมายที่จะเรียกร้องฝ่ายรัสเซียให้ตกลงยินยอมเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะเปิดการเจรจาต่อรองกันเพื่อเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ (ในการบุกยูเครน) ของมอสโก? หรือเขาหมายความว่าจุดยืนที่จะใช้ในการเข้าร่วมการเจรจาของฝ่ายยูเครนคือ ต้องการได้ข้อตกลงที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในวัตถุประสงค์แห่งการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของฝ่ายรัสเซีย?
ถ้าหากเขากำลังเรียกร้องฝ่ายรัสเซียให้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของพวกเขาเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้มีการเจรจากันแล้ว มันก็ย่อมจะถูกปฏิเสธไปแบบไม่มีลุ้น ทางทำเนียบเครมลินนั้น จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมา และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียกำลังพยายามที่จะทำให้เกิดความแน่ใจเสียก่อนว่า เรซนิคอฟ หมายความว่ายังไงกันแน่ๆ รวมทั้งในประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วตัวเขามีอำนาจที่จะดำเนินการเจรจาหรือไม่
เมื่อเร็วๆ นี้เอง เซเลนสกี ทำท่าเล็งที่จะปลด เรซนิคอฟ ออกจากตำแหน่งในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน ในยูเครนเวลานี้ที่มีการเซ็นเซอร์ตรวจข่าวกันอย่างเข้มงวด ทว่าก็ยังคงมีข่าวคราวหลายกระแสรั่วไหลออกมาเกี่ยวกับพฤติการณ์สกปรกมัวหมองของ เรซนิคอฟ แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็คลี่คลายสลายไป และเหมือนกันมีการยกโทษให้อย่างลึกลับเป็นปริศนา ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง เซเลนสกี กับเรซนิคอฟ จึงยังคงอยู่ในภาวะที่มองหน้ากันไม่สนิท เรซนิคอฟออกมาแถลงคราวนี้ เขากำลังพูดแทนคณะตัวแทนทางทหารคนอื่นๆ ของยูเครนใช่หรือไม่? เซเลนสกี หวาดกลัวว่าเขาอาจถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจถ้าหากขืนเดินหน้าทำตามคำขู่ในเรื่องการคอร์รัปชันของ เรซนิคอฟ ใช่หรือไม่?
(เรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของ เรซนิคอฟ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.eu/article/ukraine-war-corruption-fraud-defense-minister-oleksii-reznikov/)
หรือว่า เรซนิคอฟ เดินหน้าทำเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง? นี่ย่อมเป็นสมมติฐานประการหนึ่งที่ฝ่ายรัสเซียจำเป็นต้องทดสอบพิสูจน์ทราบ
รัสเซียสามารถที่จะใช้ความพยายามและหยั่งท่าทีให้ได้ความชัดเจนว่า เรซนิคอฟ จริงจังแค่ไหน –และมีศักยภาพที่จะเข้าเจรจาหรือไม่— ด้วยการปล่อยไอเดียบางอย่างของพวกเขาเองซึ่งโฟกัสอยู่ที่เรื่องวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของพวกเขาออกมา เรื่องนี้ย่อมสามารถทำได้โดยผ่านพวกช่องทางสื่อสาธารณะต่างๆ หรือผ่านผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลาง หรือผ่านคนทำหน้าที่ติดต่อประสานงานที่ไว้วางใจได้
ครั้งสุดท้ายที่ยูเครนกับรัสเซียมีการเจรจากันอย่างจริงจังก็คือตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรี นัฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) ของอิสราเอล เป็นคนกลางวิ่งรอกติดต่อระหว่างยูเครน.รัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ในตอนนั้นเบนเนตต์แถลงว่าเขาเกือบทำให้มีการตกลงแบบยื่นหมูยื่นแมวกันระหว่างเคียฟกับมอสโกประสบความสำเร็จอยู่แล้วเชียว ก่อนที่ความพยายามของเขาจะถูกบ่อนทำลายโดยคณะบริหารไบเดน ซึ่งบีบบังคับ เซเลนสกี ให้ยกเลิกไม่ยอมตกลงอะไรทั้งสิ้น
ตามที่ เบนเนตต์ กล่าวย้ำเอาไว้นั้น ประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดในตอนนั้นคือ เรื่องการต้องสงวนรักษาตัวเซเลนสกี และรัฐบาลของเขาเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ปูติน ในเวลานั้นยินดีพร้อมที่จะให้หลักประกัน โดยที่ ปูติน ยังตกลงที่จะยกเลิกวัตถุประสงค์ของฝ่ายรัสเซียทั้งเรื่องการทำให้ยูเครน “ปลอดจากความเป็นรัฐทหาร” (demilitarization) และ “ปลอดจากความยึดมั่นในลัทธินาซี” (denazification) อีกด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://jacobin.com/2023/02/ukraine-russia-war-naftali-bennett-negotiations-peace)
อย่างไรก็ดี ทั้งมอสโกและวอชิงตันต่างแถลงว่า เบนเนตต์พูดถึงผลลัพธ์ของการเจรจานี้อย่างผิดพลาดไม่ถูกต้อง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 1962 ในระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ของสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงไม่อาศัยทีมงานความมั่นคงแห่งชาติของเขาเอง แต่กลับใช้น้องชายของเขา คือ โรเบิร์ต เคนเนดี เข้าร่วมการประชุมหารือลับๆ กับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ อนาโตลี โดบรีนิน (Anatoly Dobrynin) เวลานั้น โรเบิร์ต เคนเนดี มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรียุติธรรม
คำถามที่นายกรัฐมนตรีโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) มีอยู่ก็คือ โรเบิร์ต เคนเนดี กำลังเป็นแค่มือสมัครเล่น หรือกำลังพูดในนามพี่ชายของเขาจริงๆ ปรากฏว่า มีนักหนังสือพิมพ์ชาวโซเวียตคนหนึ่งชื่อ อเล็กเซ อัดจูเบย์ (Alexei Adzhubei) ซึ่งเป็นบุตรเขยของ นิกิตา ครุสชอฟ ได้ไปสัมภาษณ์ประธานาธิบดีเคนเนดี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1962 โดยที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่บทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ คำถามใหญ่ของเขาเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจที่ได้รับมอบหมายของตัวน้องชายประธานาธิบดี ซึ่งเคนเนดียืนยันรับรองว่าน้องชายของเขาเป็นตัวแทนของเขา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nsarchive.gwu.edu/CMC-60/Adzhubei-Kennedy-talks-Jan-30-1962)
นั่นเป็นการเปิดประตูให้แก่การเจรจาลับๆ อย่างต่อเนื่องเป็นชุด ซึ่งส่งผลให้มีการถอนขีปนาวุธรัสเซียออกจากคิวบา และการที่สหรัฐฯ ถอนขีปนาวุธ “จูปิเตอร์” (Jupiter) ติดตั้งนิวเคลียร์ออกจากตุรกี ถึงแม้ในส่วนของขีปนาวุธจูปิเตอร์ในข้อตกลงนี้ ไม่ได้มีการประกาศต่อสาธารณชนในเวลานั้น
ถ้าหากในความเป็นจริงแล้ว เรซนิคอฟ ได้รับมอบอำนาจให้เข้าเจรจาต่อรองอย่างจริงจังกับฝ่ายรัสเซีย เขาก็จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงแก่ฝ่ายรัสเซีย
ถ้าหาก เรซนิคอฟ กำลังปฏิบัติการด้วยอำนาจของตัวเขาเอง ทว่าเป็นตัวแทนของกลไกความมั่นคงส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของยูเครนแล้ว ความริเริ่มของเขาก็ย่อมเป็นที่สนใจของฝ่ายรัสเซียในฐานะที่อาจใช้เป็นหนทางเพื่อสร้างความร้าวฉานให้แก่ความเป็นเอกภาพของฝ่ายยูเครน
แต่ความเป็นไปได้ที่จะมีความสำคัญมากที่สุด ย่อมจะต้องเป็น การที่มันจะทำให้สามารถเกิดการเจรจากันอย่างแท้จริงขึ้นมาได้
ถ้าหากการเดินหมากเดินเกมกันคราวนี้ ถูกพิสูจน์ออกมาว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว สงครามก็จะต้องดำเนินกันต่อไป
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน