xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจึงพูดกันว่าถึงแม้สหรัฐฯ-นาโตยอมส่ง F-16 ให้ยูเครนแล้ว มันก็ยังไม่สามารถเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ในสงครามได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


เครื่องบิน F-16 ของกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine’s new F-16s are far from new
By STEPHEN BRYEN

มีความเป็นไปได้สูงที่เครื่องบินขับไล่ F-16 ที่ยูเครนจะได้รับจากฝ่ายตะวันตก โดยอาจมีการส่งมอบกันในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้านี้ น่าจะมาจากคลังแสงของเนเธอร์แลนด์ F-16 เหล่านี้จะเป็นรุ่นเก่า ใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และ 1980 ไม่มีระบบเรดาร์ที่ทันสมัย กระนั้นก็ยังประกอบอาวุธที่น่าเกรงขาม อย่างขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศนำทางด้วยเรดาร์พิสัยปานกลาง เอไอเอ็ม 120 อีกทั้งยังเป็นการเสริมเติมคลังแสงของยูเครนที่เหลือเครื่องบินรบที่ใช้งานได้อยู่น้อยเต็มที ดังนั้น จึงน่าจะมีผลในการส่งเสริมขวัญกำลังใจ ทว่ามันไม่อาจกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ในสงครามคราวนี้ได้

เวลานี้เมื่อประธานาธิบดีไบเดน ตกลงเห็นชอบว่าชาติสมาชิกนาโตทั้งหลายสามารถฝึกอบรมนักบินยูเครนให้ใช้เครื่องบินขับไล่ F-16 มันก็มีความเป็นไปได้สูงที่ยูเครนจะได้รับเครื่องบินเก่าแบบ F-16A/B ถึงแม้ว่าเครื่องบินเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงอัปเกรดขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว มันยังคงมีอายุเยอะ โดยใช้งานกันมาตั้งช่วงทศวรรษ 1970 หรือ 1980 อยู่ดี พวกมันจึงไม่ได้มีฐานะเป็นตัวเปลี่ยนเกม อาจจะทำหน้าที่เพิ่มพูนขวัญกำลังใจ ทว่าทันทีที่เครื่องบินเหล่านี้จัดส่งมาถึง (ในระยะเวลาราวๆ 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า หรือนานกว่านั้น) F-16 เหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสงครามในยูเครนได้หรอก

ฝูงบิน F-16 ของยูเครนมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะมาจากคลังแสงของนอร์เวย์ เดนมาร์ก หรือไม่ก็เนเธอร์แลนด์ โดยที่ประเทศหลังนี้มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งนี้ มีรายงานว่าเนเธอร์แลนด์กำลังเจรจาอย่างต่อเนื่องกับยูเครนอยู่แล้วด้วยซ้ำในเรื่องการบริจาคเครื่องบินขับไล่ไอพ่นเหล่านี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/europe/dutch-pm-says-talks-f-16s-ukraine-progressing-2023-05-04/)

เครื่องบินที่กล่าวถึงนี้คือเวอร์ชันเก่าของ F-16 (เป็นแบบ F-16A และ F-16B) ที่ได้รับการปรับปรุงอัปเกรดเป็นบางส่วนในช่วงต้นๆ ทศวรรษ 2000 แต่ไม่เหมือนกับเวอร์ชันที่ใหม่กว่านั้น ตลอดจนไม่เหมือนแม้กระทั่ง F-16 ที่ผ่านการอัปเกรดแล้วของไต้หวัน นั่นคือ F-16 สำหรับยูเครนจะไม่มีการติดตั้งเรดาร์ AESA ที่ก้าวหน้าทันสมัย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.northropgrumman.com/what-we-do/air/active-electronically-scanned-array-aesa-radars/)

กระนั้น เครื่องบินเหล่านี้ยังคงสามารถติดตั้งพวกอาวุธยิงจากอากาศสู่อากาศ และอากาศสู่ภาคพื้นดิน รวมไปถึงขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศนำทางด้วยเรดาร์พิสัยปานกลาง เอไอเอ็ม 120 (AIM 120 medium-range radar-guided air-to-air missile) ถึงแม้เครื่องบินเหล่านี้ยังคงดีกว่า Mig-29 ของยูเครนที่พวกมันจะเข้าแทนที่ รวมทั้งใช้งานได้ง่ายดายกว่ากันมากๆ ทว่ายูเครนจะสามารถใช้งานเครื่องบินไอพ่นเหล่านี้ได้ในภาคสนาม มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งพวกศูนย์ซ่อมบำรุงขึ้นมารองรับ

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรี มาร์ก รีตเตอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่กรุงเฮก เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2023
การยืนหยัดจัดตั้งศูนย์ซ่อมขึ้นในยูเครนสักศูนย์หนึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี และการฝึกอบรมบุคลากรอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นอีก การที่จะบำรุงรักษาให้เครื่องบินเหล่านี้สามารถบินในอากาศได้ต่อไปนั้นต้องเกี่ยวข้องกับสมรรถนะความสามารถที่จะดำเนินการซ่อมแซมส่วนประกอบอันสลับซับซ้อนหลายๆ ส่วน เป็นต้นว่า เรดาร์ หรือไม่ก็ต้องถอดเอาชิ้นส่วนที่บกพร่องเสียหายออกไปแล้วเอาชิ้นอะไหล่มาติดตั้งแทนที่ เวลาเดียวกันพวกซอฟต์แวร์สำหรับเรดาร์ คอมพิวเตอร์ และระบบอื่นๆ ของเครื่องบินจะต้องได้รับการดูแล และเมื่อมีความจำเป็นจะต้องคอยอัปเกรดยกระดับหากปรากฏภัยคุกคามขึ้นมา

ดังนั้น คงมีแต่งานถอดเปลี่ยนพวกส่วนประกอบที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วที่สุดและง่ายที่สุดเท่านั้นแหละ ซึ่งน่าจะมีความพยายามกระทำกันภายในยูเครน สำหรับงานอื่นๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นคงจะต้องไปทำกันในชาติยุโรปอื่นๆ บางทีอาจจะต้องทำในประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดด้วยซ้ำไป

นอกเหนือจากพวกส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ F-16 เหล่านี้มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า F-110 ของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) ที่จะต้องไปรับการซ่อมบำรุงกันในต่างประเทศ

F-16 พวกนี้เรียกร้องต้องการสนามบินที่มีรันเวย์ยาวสภาพดีๆ แบบเดิมๆ ซึ่งอาจจะไม่สามารถหาได้เสมอไปในยูเครน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจจะต้องใช้งานโดยลดน้ำหนักบรรทุกลงมาราวครึ่งหนึ่งเพื่อให้มันสามารถทะยานขึ้นจากรันเวย์ขนาดสั้นกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่พวกรันเวย์สภาพขรุขระซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน อาจสร้างความเสียหายให้แก่โครงลำตัวเครื่องบินหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเครื่องบินได้

องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการอัปเกรดยกระดับเมื่อถึงช่วงครึ่งชีวิต (mid-life upgrade) ของ F-16 ได้แก่ การซ่อมแซมรอยร้าวต่างๆ ในลำตัวเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฝากั้นแบ่งส่วน (bulkhead) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การซ่อมแซมเช่นนี้ที่ผ่านมาดูเหมือนทำได้ดี จนกระทั่งทำให้เครื่องบินไอพ่นเหล่านี้สามารถใช้งานได้ไปจนตลอดสิ้นอายุของพวกมันตามที่กำหนดกันเอาไว้ ซึ่งทางกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ให้ตัวเลขที่ประมาณปี 2023 นี่แหละ ทว่าการคำนวณดังกล่าวยึดโยงอยู่กับเงื่อนไขของการมีรันเวย์ที่อยู่ในสภาพดีมากๆ และมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ เครื่องบินซึ่งอยู่ในช่วงท้ายของชีวิตย่อมไม่ใช่แพลตฟอร์มดีเยี่ยมที่สุดสำหรับการปฏิบัติการสู้รบซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดและต้องทำแบบยืนยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำเนินไปด้วยจังหวะเวลาที่เร่งรัดรวดเร็ว

สำหรับยูเครนแล้ว สิ่งที่ถือว่าเป็นการปรับปรุงยกระดับอย่างใหญ่โตที่สุดจากการได้ F-16 ก็คือ การได้แพลตฟอร์มชั้นดีสำหรับการยิงขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศ AIM-120 ขีปนาวุธแบบนี้ซึ่งมีพิสัยทำการเกินกว่าที่สามารถมองเห็นด้วยสายตา จะคอยอัปเดตในลักษณะการปฏิบัติการแบบอัตโนมัติภายหลังยิงออกไปจากเครื่องบินแล้ว ในทางปฏิบัติ นี่หมายความว่าเครื่องบินข้าศึกและสถานีภาคพื้นดินของข้าศึกมีช่องทางอาจจะรบกวนเรดาร์ของ AIM-120 หรือการสื่อสารเชื่อมต่อของมันได้ ลักษณะประการหนึ่งของสงครามยูเครนคราวนี้คือระบบสงครามทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพซึ่งรัสเซียนำเข้ามาใช้ในภาคสนาม นี่เป็นครั้งแรกที่มหาอำนาจยุโรปรายหนึ่งมีการปฏิบัติการจริงๆ ในสภาพแวดล้อมทางสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่แน่นหนาถึงขนาดนี้

ขีปนาวุธ เอไอเอ็ม 120
ปัญหาประการที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านี้ซึ่งเครื่องบินยูเครนทั้งหมดต้องประสบกันอยู่ คือการเผชิญหน้ากับระบบการป้องกันภัยทางอากาศแบบที่มีหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ของรัสเซีย สภาพเช่นนี้อาจจะจำกัดความสามารถของ F-16 ในการเข้าไปใกล้ๆ พวกสถานที่ซึ่งมีความอ่อนไหวสูงของฝ่ายรัสเซีย จนเพียงพอที่จะเล่นงานโจมตี โดยเฉพาะพวกที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งมีการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400

พิจารณาจากสิ่งต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ยูเครนมีความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องได้รับ F-16 เพราะกำลังทางอากาศของพวกเขาร่อยหรอเต็มที และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ยังคงมีอยู่ในคลังแสงนั้น ถ้าหากยังสามารถขึ้นบินได้ ก็กำลังใช้เครื่องมืออุปกรณ์ระดับต่ำชั้นลงมาสืบเนื่องจากถูกรุมเร้าด้วยความเรียกร้องต้องการต่างๆ ของการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ มาถึงเวลานี้มีเครื่องบินใช้แล้วที่ยังมีศักยภาพเหลืออยู่ในคลังแสงเพียงไม่กี่ลำ โดยที่บางที ยูเครนอาจจะไม่ได้รับ Mig-29 หรือ Su-27 เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เนื่องจากไม่มีเหลือให้ยูเครนซื้อหาหรือรับถ่ายโอนมาได้

นอกเหนือจาก F-16 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้มาจาก นอร์เวย์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์แล้ว ตัวแข่งขันอื่นๆ ที่อาจเลือกใช้ได้อีกตัวหนึ่งคือเครื่องบินขับไล่ไอพ่น พานาเวีย ทอร์นาโด (Panavia Tornado) เยอรมนีนั้นมีเครื่องบินแบบนี้อยู่บ้าง เช่นเดียวกับอิตาลี และสหราชอาณาจักร ฝ่ายยูเครนไม่ได้ร้องขอเครื่องบินขับไล่แบบนี้ และว่ากันที่สัตย์จริง พานาเวีย ทอร์นาโด ไม่สามารถประชันขันแข่งใดๆ กับเครื่องบินระดับท็อปออฟเดอะไลน์ส่วนใหญ่ของรัสเซียได้เสียแล้ว

เครื่องบินขับไล่ พานาเวีย ทอร์นาโด ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 12 ต.ค. 2012) (ภาพจากวิกิพีเดีย)
การใช้ F-16 ที่อยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตของพวกมันแล้วเป็นเรื่องที่จะไม่อาจเปลี่ยนแปลงตารางหมากรุกของสงครามได้จริงๆ จังๆ อะไรหรอก กระนั้นก็ตามที การมาถึงของเครื่องบินไอพ่นเหล่านี้ควรเป็นเครื่องส่งเสริมเพิ่มพูนขวัญกำลังใจสำหรับยูเครน

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน


กำลังโหลดความคิดเห็น