ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่เปิดทางให้ชาติพันธมิตรฝึกฝนนักบินยูเครนให้สามารถขับเครื่องบินขับไล่ F-16 รวมไปถึงแนวโน้มการตัดสินใจส่งมอบเครื่องบินรบรุ่นนี้ให้ยูเครน หากดูเผินๆ เหมือนจะเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างกะทันหันของฝ่ายอเมริกา แต่ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าเรื่องนี้เป็นการ “ตกผลึก” ทางความคิดซึ่งเกิดจากกระบวนการหารืออย่างเงียบๆ ในหมู่ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ มานานหลายเดือนแล้ว
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดน ประกาศว่าสหรัฐฯ พร้อมจะเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรเครื่องบิน F-16 โดยสัญญาณไฟเขียวนี้มีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนใช้เวลาหลายเดือนรบเร้าชาติตะวันตกให้ยอมส่งมอบเครื่องบินรบอเมริกันรุ่นนี้ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยให้กองทัพอากาศยูเครนกลับมาเป็นฝ่ายรุกไล่รัสเซียในสงครามซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 15 เดือน
สหรัฐฯ กังวลมานานว่า การมอบเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยให้แก่ยูเครนจะดึงโลกตะวันตกให้กลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันหลายคนเตือนว่ากระบวนการฝึกฝนและสนับสนุนด้านโลจิสติกส์สำหรับฝูงบิน F-16 เป็นเรื่องยุ่งยาก และต้องใช้เวลานานพอสมควร
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่าในช่วง 3 เดือนหลังมานี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มเห็นตรงกันว่า นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ตะวันตกจะต้องเริ่มฝึกนักบินยูเครนให้สามารถใช้งาน F-16 ได้ และอากาศยานรุ่นนี้คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยตอบโจทย์ด้านความมั่นคงระยะยาวให้ยูเครน
กระนั้นก็ดี การปรับท่าทีของสหรัฐฯ ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องที่กะทันหันอยู่ไม่น้อย
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ABC ว่า ยูเครน “ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ F-16” และตัวเขาเอง “ปฏิเสธที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในเวลานี้”
ต่อมาในเดือน มี.ค. คอลิน คาห์ล เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายนโยบายของเพนตากอน ก็กล่าวต่อสมาชิกคองเกรสว่าต่อให้ประธานาธิบดีอนุมัติจัดส่งฝูงบิน F-16 ให้ยูเครน แต่กระบวนการฝึกและถ่ายโอนเทคโยโลยีต่างๆ ให้แก่นักบินยูเครนอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเลยทีเดียว
แม้สหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ในการส่งมอบ F-16 ให้ยูเครนในอนาคตอันใกล้ ทว่าเรื่องนี้กลับเป็นประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างเข้มข้นในทางลับ
แหล่งข่าวระบุว่า ทางเลือกนี้เริ่มถูกพิจารณาอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงที่ ไบเดน เดินทางเยือนยูเครนและโปแลนด์เมื่อเดือน ก.พ. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ของทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ ก็เริ่มอภิปรายกันถึงข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดกระบวนการส่งมอบที่อาจจะเป็นไปได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังมีการปรึกษาหารือในเชิงลึกกับพันธมิตรหลายๆ ชาติด้วย
ต่อมาในเดือน เม.ย. ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับทราบข้อเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของชาติพันธมิตรในกลุ่ม Ukraine Defense Contact Group ที่สนับสนุนให้มีการฝึก F-16 แก่นักบินยูเครน ซึ่ง ออสติน ได้นำประเด็นนี้เข้าหารือต่อที่ประชุมด้านนโยบายของ NSC กระทั่งบรรลุข้อตกลงว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่การฝึกจะต้องเริ่มขึ้น
ออสติน ยังได้หารือประเด็นนี้กับ ไบเดน ก่อนการประชุม G7 ที่ญี่ปุ่น โดยเสนอให้สหรัฐฯ “เดินหน้าพร้อมกับกลุ่มพันธมิตรที่เห็นด้วย” ในการฝึกฝนนักบินยูเครนและเตรียมกระบวนการส่งมอบ F-16
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นอีกคนที่สนับสนุนแผนการนี้ และแจ้งให้ ไบเดน ทราบว่าทางยุโรปเองมองเรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วน
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เดินทางไปลอนดอนเมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยมีประเด็นเครื่องบิน F-16 เป็นวาระหลักของการพูดคุย อย่างไรก็ตามทั้ง 4 ชาติยังมีความเห็นต่างในแง่ที่ว่าจะเริ่มกระบวนการฝึกอย่างไร รวมถึงมีชาติใดบ้างที่พร้อมจะมอบ F-16 ให้ยูเครน ทำให้สุดท้ายการหารือจบลงที่ว่าจะเน้นที่เรื่องการฝึกเป็นสำคัญก่อน
แหล่งข่าวเผยว่า ก่อนที่ ซัลลิแวน จะเดินทางออกจากลอนดอนได้โทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเนเธอร์แลนด์และโปแลนด์ ซึ่งเป็น 2 ชาติที่มีฝูงบิน F-16 ในครอบครอง “และคาดว่าจะเป็นกำลังหลักในการส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ให้ยูเครนในอนาคต” นอกจากนี้ ยังมี “เดนมาร์ก” อีกชาติที่อาจเต็มใจสนับสนุนเครื่องบินรบรุ่นนี้ให้แก่เคียฟด้วย
ไบเดน ได้มีการหารือส่วนตัวกับผู้นำ G7 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (19) โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนความพยายามในการฝึกนักบินยูเครน และจะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อพิจารณาว่าชาติใดบ้างที่สามารถส่งเครื่องบินรุ่นนี้ให้ยูเครนได้ และควรจะส่งให้มากน้อยเท่าใด
แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะระบุว่าต้องใช้เวลาหารือรายละเอียดกันอีก “หลายเดือน” แต่แหล่งข่าวเผยว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ มีการประเมินในทางลับว่าการฝึกจะเริ่มต้นอย่างจริงจังได้ภายในไม่เกิน 4 เดือน และจะเกิดขึ้นในประเทศยุโรป
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เน้นเสริมเขี้ยวเล็บให้ยูเครนด้วยอาวุธต่างๆ เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ รถหุ้มเกราะ และเครื่องกระสุนซึ่งจำเป็นสำหรับปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซียที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความกังวลว่าการส่งฝูงบิน F-16 จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า สิ่งที่นำมาซึ่ง “จุดเปลี่ยน” ในวันนี้คือการที่พันธมิตรยุโรปเริ่มแสดงท่าทีเต็มใจส่งมอบเครื่องบินขับไล่ของตนเองให้ยูเครนในนามกลุ่มพันธมิตรที่อเมริกาเป็นแกนนำ
รัฐบาล ไบเดน เองอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะส่งฝูงบิน F-16 ของสหรัฐฯ ให้ยูเครนโดยตรง แต่กระนั้นวอชิงตันยังจำเป็นต้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตร เนื่องจากสหรัฐฯ คงไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดหา F-16 ทั้งฝูงได้ตามที่ เซเลนสกี เรียกร้อง
แฟรงค์ เคนดาลล์ รัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพอากาศสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า แม้เครื่องบิน F-16 จะช่วยเติมเต็มแสนยานุภาพด้านการบินของยูเครนได้ในระยะยาว แต่อาจไม่ใช่ “ตัวเปลี่ยนเกม” ในสงครามครั้งนี้ เพราะระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทรงประสิทธิภาพของรัสเซียอาจขัดขวางเครื่องบินรบรุ่นนี้จากการมีบทบาทสำคัญในการตัดสินผลลัพธ์สงคราม นอกจากนี้ เขาเองก็ยอมรับว่า ในฟากฝั่งของอเมริกาเองบางส่วนยังมองว่าการมอบเครื่องบินรบ F-16 จะเป็นการกระทำที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย
อเล็กซานเดอร์ กรุสโค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาเตือนเมื่อวันเสาร์ว่า (20) ชาติตะวันตกจะต้องแบกรับความเสี่ยงใหญ่หลวงหากตัดสินใจมอบเครื่องบิน F-16 ให้แก่ยูเครน เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้