xs
xsm
sm
md
lg

‘ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ’ รวมตัวคัดค้าน ‘นโยบายไบเดน’ ที่หนุนยูเครนทำสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ ***


จดหมายเปิดผนึกของ เครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ ที่ตีพิมพ์เป็นโฆษณาอยู่ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์
The U.S. Should Be a Force for Peace in the World
by Eisenhower Media Network
16/05/2023

“เครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์” ของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่มีทั้งอดีตนักการทูต อดีตนายทหาร และนักวิชาการผู้มีชื่อเสียง ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะบริหารไบเดน คัดค้านการหนุนหลังยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้การทูตเพื่อทำให้เกิดสันติภาพขึ้นมา โดยนำออกเผยแพร่ในรูปโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีดังต่อไปนี้:

สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังกลายเป็นความหายนะที่ยังไม่เห็นว่าจะผ่อนเพลาบรรเทาลงได้อย่างไร ผู้คนจำนวนเป็นแสนๆ ถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ ผู้คนเป็นล้านๆ ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ การทำลายล้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจนไม่อาจคำนวณได้ ขณะที่อาจเกิดความวิบัติในอนาคตซึ่งมีขนาดขอบเขตมโหฬารยิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อพวกมหาอำนาจนิวเคลียร์คืบคลานขยับเข้าใกล้การทำสงครามกันอย่างเปิดเผยกันมากขึ้นเรื่อยๆ

พวกเราเสียใจและตำหนิคัดค้านการใช้ความรุนแรง การก่ออาชญากรรมสงคราม การโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบไม่มีการจำแนกแยกแยะ การก่อการร้าย และการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนอื่นๆ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามคราวนี้ หนทางแก้ไขคลี่คลายความรุนแรงอันน่าตื่นตระหนกนี้ไม่ใช่อยู่ที่การจัดส่งอาวุธเพิ่มมากขึ้น หรือการทำสงครามกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น ซึ่งมีแต่รับประกันว่าจะเกิดการเสียชีวิตและความเสียหายย่อยยับกันต่อไปอีกเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นชาวอเมริกันและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติ พวกเราเรียกร้องประธานาธิบดีไบเดน และรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ใช้อำนาจของพวกเขาอย่างเต็มที่เพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้อย่างรวดเร็วโดยผ่านวิถีทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพิจารณาถึงอันตรายอันสาหัสร้ายแรงของการบานปลายขยายตัวทางการทหารที่อาจดำดิ่งควงสว่านจนกระทั่งเกินความสามารถที่จะควบคุมเอาไว้ได้

เมื่อ 60 ปีก่อน ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ได้เคยกล่าวตั้งข้อสังเกต ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการอยู่รอดของพวกเราในทุกวันนี้ ท่านกล่าวว่า “เหนือสิ่งอื่นใดเลย ขณะที่กำลังพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ที่สำคัญมากๆ ของพวกเรา เหล่าชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่เข้าสู่การเผชิญหน้า ซึ่งจะนำพาให้ผู้เป็นปรปักษ์รายใดรายหนึ่งต้องตัดสินใจเลือกว่า จะยินยอมล่าถอยอย่างน่าอับอาย หรือว่าจะทำสงครามนิวเคลียร์ การนำเอาหนทางชนิดนี้เข้ามาใช้ในยุคนิวเคลียร์มีแต่จะเป็นหลักฐานแสดงถึงความล้มละลายของนโยบายของพวกเรา –หรือเป็นการแสดงความปรารถนาที่จะตายหมู่ร่วมกันสำหรับโลกใบนี้”

สาเหตุเฉพาะหน้าที่นำมาซึ่งสงครามแห่งความหายนะในยูเครนคราวนี้ คือการรุกรานของรัสเซีย อย่างไรก็ดี การดำเนินแผนการตลอดจนการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อแผ่ขยายองค์การนาโตไปจดแนวชายแดนของรัสเซีย ก็เป็นสิ่งซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นยั่วยุความหวาดกลัวของฝ่ายรัสเซีย โดยที่พวกผู้นำรัสเซียได้ชี้ให้เห็นถึงจุดนี้มาเป็นเวลายาวนานถึง 30 ปีแล้ว ความล้มเหลวในทางการทูตนั้นคือสิ่งที่เคยได้นำไปสู่สงครามในอดีตที่ผ่านมา เวลานี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องใช้การทูตเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่มันจะทำลายล้างยูเครนและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษยชาติ

ศักยภาพเพื่อสันติภาพ

ความว้าวุ่นไม่สบายใจในทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากการที่พวกเขาได้รับข้อมูลเตือนภัยด้วยความทรงจำของการถูกรุกรานในอดีต ไม่ว่าโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 นโปเลียน พระเจ้าไกเซอร์ และฮิตเลอร์ กองทหารสหรัฐฯ นั้นก็เคยอยู่ในหมู่กองกำลังรุกรานของกลุ่มพันธมิตร ที่เข้าไปแทรกแซงมุ่งต่อต้านคัดค้านฝ่ายที่กำลังเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมืองในรัสเซียภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทว่าการแทรกแซงดังกล่าวนี้ไม่ประสบความสำเร็จ รัสเซียนั้นมองการขยายตัวของนาโต และการปรากฏตัวของนาโตที่พรมแดนของตนว่าคือภัยคุกคามอย่างตรงๆ โต้งๆ ขณะที่สหรัฐฯ และนาโตมองแต่ว่ามันเป็นการเตรียมพร้อมอย่างสุขุมรอบคอบ ในทางการทูต เราจะต้องพยายามมีมุมมองแบบมุ่งเข้าอกเข้าใจคนอื่นในทางยุทธศาสตร์ พยายามหาทางทำความเข้าใจพวกที่เป็นปรปักษ์ของเรา เรื่องนี้ไม่ใช่ความอ่อนแอ ตรงกันข้าม มันคือสติปัญญา

พวกเราคัดค้านแนวความคิดที่ว่า นักการทูตทั้งหลาย ในขณะที่กำลังแสวงหาสันติภาพกันอยู่นั้น จักต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างใด ซึ่งในกรณีนี้คือถ้าไม่อยู่ข้างรัสเซียก็ต้องอยู่ข้างยูเครน ทว่าในการดำเนินการทางการทูตที่พึงประสงค์นั้น พวกเราต้องเลือกที่จะอยู่ข้างความมีเหตุมีผลเป็นปกติทางจิตใจ อยู่ข้างมนุษยชาติ อยู่ข้างสันติภาพ

พวกเราพิจารณาว่า คำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีไบเดน ที่จะหนุนหลังยูเครน “ตราบจนกว่าจะได้ชัยชนะ” [1] นั้น เป็นเสมือนใบอนุญาตเพื่อการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่มีการนิยามจำกัดความเอาไว้อย่างย่ำแย่ และเมื่อถึงที่สุดแล้วก็จะไม่สามารถบรรลุได้ มันอาจจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่สร้างความพินาศฉิบหายพอๆ กับการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินเมื่อปีที่แล้ว ที่จะเปิดการรุกรานและการยึดครองซึ่งก็คือการก่ออาชญากรรมของเขา พวกเราไม่สามารถรับรองเห็นชอบ และก็จะไม่ให้ความรับรองเห็นชอบกับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัสเซียจวบจนกระทั่งถึงชาวยูเครนคนสุดท้ายเช่นนี้

พวกเราเรียกร้องสนับสนุนอย่างแข็งขันให้ใช้การทูตที่มีความหมายและมีความยึดมั่นผูกพันอย่างแท้จริงกับแนวทางนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้มีการหยุดยิงกันและการเจรจากันในทันที โดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ ที่มุ่งตัดรอนสิทธิหรือเป็นไปในทางสั่งห้ามใดๆ การยั่วยุอย่างจงใจที่ผ่านการขบคิดพินิจพิเคราะห์ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้ขึ้นมา ในทำนองเดียวกัน การทูตด้วยความจงใจที่ผ่านการขบคิดพินิจพิเคราะห์จักสามารถยุติมันได้

การกระทำต่างๆ ของสหรัฐฯ และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตพังทลาย และสงครามเย็นยุติลง พวกผู้นำสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกได้ให้ความมั่นใจแก่พวกผู้นำโซเวียตและจากนั้นก็พวกผู้นำรัสเซียว่า นาโตจะไม่ขยายตัวไปสู่พรมแดนของรัสเซีย “จะไม่มีการขยาย ... นาโตแม้แต่นิ้วเดียวไปทางตะวันออก” [2] รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เจมส์ เบเกอร์ (James Baker) บอกกับผู้นำโซเวียต มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1990 นอกจากนั้น ยังมีการให้ความมั่นใจทำนองเดียวกันจากพวกผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นๆ ตลอดจนจากพวกผู้นำของสหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส ตลอดทั้งทศวรรษ 1990 [3] เพื่อยืนยันเรื่องนี้

ตั้งแต่ปี 2007 รัสเซียได้กล่าวเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การมีกองทัพของนาโตมาตั้งอยู่ที่ตรงชายแดนรัสเซียเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้ –ก็ในทำนองเดียวกับการมีกองกำลังรัสเซียในเม็กซิโกหรือแคนาดา ย่อมจะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ในเวลานี้ไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้เหมือนกัน หรืออย่างที่มีขีปนาวุธโซเวียตไปติดตั้งในคิวบาเมื่อปี 1962 นั่นเอง รัสเซียยังได้ระบุเจาะจงว่าการที่นาโตขยายตัวเข้าไปในยูเครนจะถือเป็นการยั่วยุอย่างมากมายเป็นพิเศษอีกด้วย

พินิจสงครามผ่านสายตาของรัสเซีย

ความพยายามของพวกเราที่จะทำความเข้าใจทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซียในการพินิจดูสงครามของพวกเขา ไม่ใช่เป็นการรับรองเห็นชอบกับการรุกรานและการยึดครองของพวกเขา รวมทั้งไม่ได้มีนัยส่อแสดงว่าฝ่ายรัสเซียไม่ได้มีทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการทำสงครามนี้

กระนั้นก็ตาม เหมือนๆ กับที่รัสเซียมีทางเลือกอื่นๆ นั่นแหละ สหรัฐฯ และนาโตก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่อาจกระทำได้เช่นกัน ก่อนมันจะมาถึงตรงชั่วขณะเวลานี้

ฝ่ายรัสเซียนั้นได้ระบุเส้นสีแดงห้ามล่วงละเมิดของพวกเขาออกมาอย่างกระจ่างชัดแจ้ง ในจอร์เจีย และในซีเรีย พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะใช้กำลังเพื่อพิทักษ์รักษาเส้นสีแดงเหล่านี้ไม่ให้ใครล่วงล้ำ ในปี 2014 การที่พวกเขาบุกเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียเอาไว้ตลอดจนการให้ความสนับสนุนแก่พวกแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส (Donbas) โดยทันที ก็เป็นเรื่องที่สาธิตให้เห็นว่าพวกเขามีความขึงขังจริงจังในพันธกรณีของพวกเขาที่จะดำเนินการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา แต่ทำไมเรื่องนี้จึงกลับไม่เป็นที่เข้าอกเข้าใจของคณะผู้นำสหรัฐฯ และนาโต เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ การไร้ความสามารถ ความเย่อหยิ่งโอหัง การเอาแต่มองโลกในแง่หยามหยันและเกลียดชิงมนุษย์ (cynicism) หรือส่วนผสมอย่างเป็นอันตรายของทั้ง 3 ส่วนนี้แหละน่าที่จะเป็นปัจจัยซึ่งมีส่วนในเรื่องนี้

เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เหล่านักการทูต นายพล และนักการเมืองของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายของการขยายนาโตไปประชิดพรมแดนของรัสเซีย และอันตรายของการเข้าแทรกแซงอย่างประสงค์ร้ายในเขตอิทธิพลของรัสเซีย อดีตเจ้าหน้าที่ระดับคณะรัฐมนตรี อย่างเช่น รอเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) และวิลเลียม เพอร์รี (William Perry) ได้ออกคำแถลงเตือนเรื่องนี้ เช่นเดียวกับนักการทูตที่ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างสูงเฉกเช่น จอร์จ เคนนัน (George Kennan) แจ็ค แมตล็อค (Jack Matlock) และเฮนรี คิสซินเจอร์ (Kissinger) ในปี 1997 ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ จำนวน 50 คนได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน แนะนำเขาว่าอย่าได้ขยายนาโต โดยเรียกมันว่า เป็น “ความผิดพลาดทางนโยบายที่มีสัดส่วนเป็นความผิดพลาดในทางประวัติศาสตร์” [4] แต่ประธานาธิบดีคลินตันก็เลือกที่จะเมินเฉยละเลยคำเตือนเหล่านี้

สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งทำให้เรามีความเข้าอกเข้าใจว่า ในการตัดสินใจต่างๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งแวดล้อมสงครามรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องความอหังการ และการคาดคำนวณชนิดคดในข้องอในกระดูกแบบแมคเคียเวลลีกันถึงขนาดไหน ก็คือการปฏิเสธไม่รับฟังคำเตือนที่มาจาก วิลเลียม เบิร์นส์ (Williams Burns) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) คนปัจจุบัน ทั้งนี้ ในรายงานที่ เบิร์นส์ ส่งถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) เมื่อปี 2008 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย เบิร์นส์เขียน [5] ถึงการขยายนาโตและการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตเอาไว้ดังนี้:

“ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเข้านาโตของ ยูเครน และจอร์เจีย ไม่เพียงเป็นสิ่งที่ยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้เนื่องจากถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งในรัสเซียเท่านั้น มันยังก่อให้เกิดอันตรายที่น่าวิตกกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลต่อเนื่องซึ่งจะมีต่อเสถียรภาพในภูมิภาคนี้อีกด้วย ไม่เพียงรัสเซียมีความรับรู้มีความเข้าใจว่าตนเองถูกปิดล้อม และมีความพยายามที่จะบ่อนทำลายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น แต่รัสเซียยังมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดผลพวงต่อเนื่องชนิดที่ไม่อาจทำนายคาดทายได้และชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะสร้างความกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย พวกผู้เชี่ยวชาญบอกกับเราว่า รัสเซียมีความห่วงใยเป็นพิเศษว่าจะเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรงในยูเครนจากเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต เนื่องจากชุมชนคนชาติพันธุ์รัสเซียจำนวนมากคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิก มันจึงอาจนำไปสู่การแตกแยกครั้งใหญ่ บังเกิดความรุนแรงขึ้นมา หรือถึงขั้นเลวร้ายที่สุดก็คือเกิดสงครามกลางเมือง และเมื่อบังเกิดผลบั้นปลายเช่นนั้น รัสเซียก็จะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าแทรกแซงหรือไม่ อันเป็นการตัดสินใจที่รัสเซียไม่ต้องการเจอะเจอเลย”

ทำไมสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานในเรื่องการขยายนาโต้ต่อไปอีก ทั้งๆ ที่มีการเตือนภัยกันถึงขนาดนี้แล้ว? ผลกำไรจากการขายอาวุธนั่นเองคือปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง เมื่อเผชิญกระแสคัดค้านการขยายนาโต พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) กลุ่มหนึ่งและพวกผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตอาวุธสหรัฐฯ ก็ได้รวมตัวก่อตั้ง [6] คณะกรรมาธิการสหรัฐฯ เพื่อขยายนาโต (U.S. Committee to Expand NATO) ขึ้นมา ระหว่างปี 1996 ถึง 1998 พวกผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงิน [7] เป็นจำนวน 51 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่ากับ 94 ล้านดอลลาร์ในทุกวันนี้) ในการล็อบบี้รัฐสภา และอีกหลายๆ ล้านอยู่ในรูปของการให้เงินสนับสนุนทีมรณรงค์หาเสียงต่างๆ ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เช่นนี้ การขยายนาโตก็กลายเป็นดีลที่เสร็จสรรพเรียบร้อยไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นพวกบริษัทผลิตอาวุธสหรัฐฯ ก็ได้ขายอาวุธเป็นจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ชาติสมาชิกหน้าใหม่ๆ ของนาโต

จวบจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯ ได้จัดส่ง [8] อุปกรณ์ทางการทหารและอาวุธต่างๆ ให้แก่ยูเครนเป็นมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดความช่วยเหลือทั้งหมดที่ให้แก่ยูเครนเกินขีด 100,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว มีคำกล่าวพูดกันเอาไว้ว่า สงครามคือกิจกรรมต้มตุ๋นที่เอะอะครึกโครม เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างกำไรสูงลิบลิ่วให้แก่ผู้คนที่ได้รับคัดเลือกจำนวนน้อย

กล่าวโดยรวม การขยายนาโตคือลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของนโยบายการต่างประเทศแบบมุ่งเน้นการทหารของสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ลัทธิทำอะไรตามอำเภอใจฝ่ายเดียว โดยแสดงออกให้เห็นในการมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองประเทศอื่นและการทำสงครามแบบบุกโจมตีประเทศอื่นเอาไว้ก่อน สงครามที่ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยครั้งทีหลังกว่าเพื่อนก็คือในอิรักและในอัฟกานิสถาน ได้ก่อให้เกิดการเข่นฆ่าผลาญชีวิตกันและมีการเผชิญหน้ากันต่อไปอีก นี่คือความเป็นจริงที่หยาบกระด้างซึ่งอเมริกาเป็นผู้กระทำขึ้นมาเอง สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เช่นกัน ได้เปิดเวทีใหม่ของการเผชิญหน้ากันและการเข่นฆ่าผลาญชีวิตกัน ถึงแม้ความเป็นจริงคราวนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราชาวอเมริกันกระทำขึ้นมาเองทั้งหมด กระนั้นมันก็น่าจะยังคงอยู่ในข่ายของการสร้างความหายนะของพวกเรา ยกเว้นแต่ว่าพวกเราจะยินดีอุทิศพวกเราเองให้แก่การหาทางตกลงรอมชอมกันทางการทูต เพื่อยุติการเข่นฆ่าและปลดชนวนความตึงเครียด

มาช่วยกันทำให้อเมริกากลายเป็นพลังเพื่อสันติภาพพลังหนึ่งในโลกกันเถิด

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.EisenhowerMediaNetwork.org)
 
ผู้ร่วมลงนาม

เดนนิส ฟริตซ์ (Dennis Fritz) ผู้อำนวยการของเครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Media Network) หัวหน้านายทหารชั้นประทวนแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ (Command Chief Master Sergeant, US Air Force) (เกษียณอายุแล้ว)

แมตธิว โฮห์ (Matthew Hoh) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ของเครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ อดีตนายทหารเหล่านาวิกโยธิน และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม

วิลเลียม เจ. แอสตอร์ (William J. Astore) นาวาอากาศโท กองทัพอากาศสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว)

แคเรน คะเวียตโควสกี (Karen Kwiatkowski) นาวาอากาศโท กองทัพอากาศสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว)

เดนนิส ไลช์ (Dennis Laich) พลตรี กองทัพบกสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว)

แจ็ค แมตล็อก (Jack Matlock) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหภาพโซเวียต ปี 1987-1991 ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Reagan and Gorbachev: How the Cold War Ended (เรแกนและกอร์บาชอฟ: สงครามเย็นยุติลงได้อย่างไร)

ท็อดด์ อี. เพียร์ซ (Todd E. Pierce) พันตรี อัยการทหาร กองทัพบกสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว)

โคลีน โรว์ลีย์ (Coleen Rowley) เจ้าหน้าที่สายสืบพิเศษ (Special Agent) เอฟบีไอ (เกษียณอายุแล้ว)

เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University)

คริสเตียน โซเรนเสน (Christian Sorensen) อดีตนักภาษาศาสตร์อาหรับ กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ชัค สปินนีย์ (Chuck Spinney) วิศวกร/นักวิเคราะห์ เกษียณอายุแล้ว สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

วินสโลว์ วีเลอร์ (Winslow Wheeler) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติให้แก่คณะบริหารสหรัฐฯ ทั้งที่สังกัดพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตรวม 4 คณะ

ลอว์เรนซ์ บี. วิลเคอร์สัน (Lawrence B. Wilkerson) พันเอก กองทัพบกสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว)

แอนน์ ไรต์ (Ann Wright) พันเอก กองทัพบกสหรัฐฯ (เกษียณอายุแล้ว) และอดีตนักการทูตสหรัฐฯ



ภาพประกอบที่เครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ จัดทำขึ้นและใส่ไว้ในโฆษณาของตนทางนิวยอร์กไทมส์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปรียบเทียบว่า ฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ และนาโตที่ตั้งรายล้อมรัสเซียอยู่ในตอนนี้ (ภาพบน) หากเปลี่ยนเป็นสหรัฐฯ อยู่ในสภาพเช่นนั้นบ้าง โดยที่มีพวกฐานทัพของรัสเซียตั้งอยู่ในแคนาดาและเม็กซิโก มันจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร (ภาพล่าง)
ลำดับเวลา

ปี 1990 - สหรัฐฯ ให้ความมั่นใจแก่รัสเซียว่า นาโตจะไม่ขยายตัวไปสู่พรมแดนของแดนหมีขาว “... จะไม่มีการขยาย ... นาโตแม้แต่นิ้วเดียวไปทางตะวันออก” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เจมส์ เบเกอร์ กล่าว [9]

ปี 1996 - พวกผู้ผลิตอาวุธสหรัฐฯ รวมตัวก่อตั้งกลุ่มคณะกรรมาธิการสหรัฐฯ เพื่อขยายนาโต (U.S. Committee to Expand NATO) มีการใช้จ่ายเงิน [10] มากกว่า 51 ล้านดอลลาร์เพื่อล็อบบี้รัฐสภา

ปี 1997 - ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศ 50 คน ในจำนวนนี้มีทั้งอดีตวุฒิสมาชิก นายทหารและนักการทูต เกษียณอายุ ลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งเน้นย้ำว่า การขยายนาโตถือเป็น “ความผิดพลาดทางนโยบายที่มีสัดส่วนเป็นความผิดพลาดในทางประวัติศาสตร์”[11]

ปี 1999 - นาโตยอมรับฮังการี โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก เข้าเป็นสมาชิก [12] สหรัฐฯ และนาโตทิ้งระเบิด [13] ถล่มใส่เซอร์เบีย ผู้เป็นพันธมิตรของรัสเซีย

ปี 2001 - สหรัฐฯ ถอนตัวตามลำพังฝ่ายเดียว [14] ออกจากสนธิสัญญาอาวุธต่อสู้ขีปนาวุธทิ้งตัว (Anti-Ballistic Missile Treaty)

ปี 2004 - ชาติยุโรปตะวันออกอีก 7 ชาติเข้าร่วมนาโต ถึงตอนนี้มีกองทหารนาโตตั้งประจำอยู่ตรงชายแดนรัสเซียแล้ว

ปี 2004 - รัฐสภารัสเซียผ่าน [15] ญัตติประณามการขยายตัวของนาโต ปูตินตอบโต้ด้วยการแถลงว่ารัสเซียจะ “สร้างนโยบายกลาโหมและนโยบายความมั่นคงของเราเพื่อเป็นการตอบสนอง”

ปี 2008 - พวกผู้นำนาโตประกาศ [16] แผนการในการนำเอายูเครนและจอร์เจีย ซึ่งต่างอยู่ประชิดติดชายแดนรัสเซียเช่นกันเข้าเป็นสมาชิกนาโต

ปี 2009 - สหรัฐฯ ประกาศ [17] แผนการในการนำเอาระบบขีปนาวุธเข้าไปในโปแลนด์และโรมาเนีย

ปี 2014 - วิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ประธานาธิบดียูเครนผู้ได้รับเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย [18] หลบหนีความรุนแรงไปยังมอสโก รัสเซียมองการโค่นล้มคราวนี้ว่าเป็นการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยสหรัฐฯ และพวกชาตินาโต

ปี 2016 - สหรัฐฯ เริ่ม [19] การสร้างสมกำลังทหารในยุโรป

ปี 2019 - สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวตามลำพังฝ่ายเดียวออกจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate Nuclear Forces Treaty)[20]

ปี 2020 - สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวตามลำพังฝ่ายเดียว [21] ออกจากสนธิสัญญาเปิดท้องฟ้า (from Open Skies Treaty)

ปี 2021 - รัสเซียยื่นข้อเสนอ [22} ให้เปิดการเจรจากัน ขณะเดียวกับที่จัดส่งกำลังทหารเพิ่มเติมไปยังชายแดนติดต่อกับยูเครน พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และนาโตปฏิเสธทันทีไม่ยอมพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายรัสเซีย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 - รัสเซียรุกราน [23] ยูเครน เริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในตอนท้ายของโฆษณาชิ้นนี้เขียนอธิบายเอาไว้ว่า “โฆษณาชิ้นนี้สะท้อนทัศนะของบรรดาผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ โฆษณาชิ้นนี้ชำระเงินโดยเครือข่ายสื่อไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Media Network) โครงการหนึ่งของแผนการริเริ่มพลังประชาชน (People Power Initiatives)”

เชิงอรรถ
[1] https://time.com/6243120/biden-zelensky-visit-ukraine-support/
[2] https://nsarchive.gwu.edu/document/16116-document-05-memorandum-conversation-between
[3] https://nsarchive.gwu.edu/briefing-book/russia-programs/2018-03-16/nato-expansion-what-yeltsin-heard
[4] https://www.armscontrol.org/act/1997-06/arms-control-today/opposition-nato-expansion
[5]https://wikileaks.org/plusd/cables/08MOSCOW265_a.html#efmBTnBfi
[6] https://militarist-monitor.org/profile/us_committee_on_nato/
[7] https://www.nytimes.com/1997/06/29/world/arms-makers-see-bonanza-in-selling-nato-expansion.html
[8] https://www.defense.gov/News/News-Stories/Article/Article/3318508/us-sends-ukraine-400-million-in-military-equipment/#:~:text=Since%20Russia%20invaded%20Ukraine%20on,the%20drawdown%20authority%20for%20Ukraine.
[9] https://nsarchive.gwu.edu/document/16116-document-05-memorandum-conversation-between
[10] https://www.nytimes.com/1998/03/30/world/arms-contractors-spend-to-promote-an-expanded-nato.html
[11] https://www.armscontrol.org/act/1997-06/arms-control-today/opposition-nato-expansion
[12]https://www.nytimes.com/1999/03/13/world/expanding-alliance-the-overview-poland-hungary-and-the-czechs-join-nato.html
[13]https://pittnews.com/article/121917/opinions/analysis-1999-nato-operation-turned-russia-west/
[14] https://carnegieendowment.org/2021/12/13/u.s.-exit-from-anti-ballistic-missile-treaty-has-fueled-new-arms-race-pub-85977
[15] https://www.nytimes.com/2004/04/03/world/as-nato-finally-arrives-on-its-border-russia-grumbles.html
[16]https://www.theguardian.com/world/2008/apr/01/nato.georgia
[17]https://www.realcleardefense.com/articles/2021/03/19/a_decade_of_us-romanian_missile_defense_cooperation_alliance_success_768925.html
[18] https://transparency.eu/corruption-opulence-and-decadence-in-ukraine/
[19]https://www.nytimes.com/2016/02/02/world/europe/us-fortifying-europes-east-to-deter-putin.html
[20] https://www.armscontrol.org/act/2019-09/news/us-completes-inf-treaty-withdrawal
[21] https://www.cnn.com/2020/11/22/politics/us-withdrawal-open-skies/index.html
[22]https://www.theguardian.com/world/2021/dec/17/russia-issues-list-demands-tensions-europe-ukraine-nato
[23]https://www.google.com/search?q=when+did+war+between+russia+and+ukraine+start&rlz=1C1CHBF_enUS926US926&oq=When+did+war+between+russia+and+Ukraine+start&aqs=chrome.0.0i512j0i22i30l8j0i390i650.10791j1j7&sourceid=chrome&ie=UTF-8


กำลังโหลดความคิดเห็น