(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Bakhmut has finally fallen to the Russians
By STEPHEN BRYEN
กองกำลังที่ยังเหลืออยู่ของยูเครนส่วนใหญ่ได้ถอนตัวออกไป ก่อนที่การป้องกันตรงแนวหน้าของเมืองจะพังทลายลงมา ทั้งนี้กลุ่มวากเนอร์คือกุญแจสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ชัยชนะของรัสเซีย
หัวหน้าของวากเนอร์ กรุ๊ป (Wagner Group) เยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin) ประกาศในวันนี้ (20 พ.ค.) ว่า เมืองบัคมุตทั้งเมืองได้ถูกกองกำลังวากเนอร์กรุ๊ป ยึดเอาไว้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว
เขาบอกอีกว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม กองกำลังวากเนอร์จะส่งมอบการควบคุมเมืองนี้ให้แก่กองทัพบกรัสเซีย และถอนตัวออกไปเพื่อจะได้หยุดพักผ่อน และเข้ารับการฝึกอบรมกันใหม่ แต่จะมีกองกำลังวากเนอร์บางส่วนถูกใช้ให้ทำหน้าที่ด้านการป้องกัน ซึ่งจะไม่ถูกส่งกลับไปเพื่อรับการฝึกและหยุดพักผ่อน
บัคมุต เป็นเมืองที่มีประชากรจำนวน 75,000 คน –อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงก่อนเกิดสงครามคราวนี้ ตั้งอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk region) และอยู่ในตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เมืองนี้มีฉายาเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “นครแห่งเกลือ” (Salt City) ซึ่งมุ่งหมายถึงเหมืองเกลือใต้ดินขนาดมหึมาหลายๆ เหมือง ที่ในความเป็นจริงแล้วตั้งอยู่ในเขตเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ โซเลดาร์ (Soledar) ซึ่งตกอยู่ในมือของฝ่ายรัสเซียมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมปีนี้
บัคมุต ยังเป็นสถานที่ผลิตเหล้าไวน์แห่งใหญ่แห่งหนึ่ง ทว่าเมื่อคาบสมุทรไครเมียยถูกฝ่ายรัสเซียยึดครองไป ซัปพลายผลองุ่นที่ส่งมาจากไครเมียก็ถูกตัดขาด และธุรกิจไวน์ในบัคมุตจึงพังครืน เมืองนี้ยังเป็นศูนย์คมนาคมทางถนนที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมทั้งยังทรงความสำคัญในด้านการต่อเชื่อมทางรางรถไฟอีกด้วย ตามรายงานข่าวที่ออกมาหลายชิ้นเมื่อเร็วๆ นี้ กองกำลังวากเนอร์รู้สึกเซอร์ไพรส์ที่พบว่ามีพลเมืองบางส่วนยังคงใช้ชีวิตภายในเมืองซึ่งอยู่ในสภาพพินาศย่อยยับแห่งนี้
ปรีโกจิน ได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยเขากล่าวว่า “และขอบคุณ วลาดิมีร์ วลาดิมิโรวิช ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) สำหรับการให้โอกาสครั้งนี้แก่เรา และการให้เกียรติอย่างสูงสำหรับการพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิของเรา” เขายังกล่าวขอบคุณ พล.อ.เซียร์เก ซูโรวิคิน (Sergei Surovikin) และ พล.ท.มีฮาอิล มีซินต์เซฟ (Mikhail Mizintsev) ผู้ซึ่ง “ทำให้มันเป็นไปได้ที่จะแบกรับการปฏิบัติการอันยากลำบากครั้งนี้”
ซูโรวิคิน เป็นที่รู้จักกันในฉายาว่า “นายพลวันสิ้นโลก” (General Armageddon) สืบเนื่องจากผลงานทางทหารในอดีตของเขาซึ่งก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งกันอยู่มาก สำหรับที่ยูเครนนั้น หลังจากได้รับงานเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังของรัสเซียที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน เขาก็ถูกโยกย้าย โดยให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของ พล อ.วาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) ประธานคณะเสนาธิการทหารของรัสเซีย (Chief of the General Staff) แต่ได้รับมอบหมายให้มาสนับสนุนกองกำลังวากเนอร์ และนำเอาทักษะความชำนาญในเรื่องการสู้รบตามตัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากมาสู่กลุ่มนี้ ซูโรวิคิน นั้นมีชื่อเสียง --หรือที่บางคนอยากจะเรียกว่า มีชื่อเสียฉาวโฉ่มากกว่า-- สำหรับผลงานในสมรภูมิการสู้รบที่เมืองอิดลิบ (Idlib) ในประเทศซีเรีย ซึ่งสร้างความพินาศย่อยยับให้แก่เมืองดังกล่าว
พล ท.มีฮาอิล มีซินต์เซฟ ก็ทำนองเดียวกัน ได้รับมอบหมายให้ดูแลสนับสนุนกลุ่มวากเนอร์ เขาได้รับฉายาว่า “เพชฌฆาตแห่งมาริอูโปล” (Butcher of Mariupol) สืบเนื่องจากความสำเร็จในการเป็นผู้นำการโจมตีเพื่อยึดเมืองท่าสำคัญในแคว้นโดเนตสก์แห่งนี้ ก่อนหน้านั้น เขาแสดงบทบาทสำคัญอยู่ในสมรภูมิเมืองอะเลปโป (Aleppo) ประเทศซีเรีย และเฉกเช่นเดียวกับ ซูโรวิคิน เพื่อนร่วมงานของเขา มีซินต์เซฟก็ใช้ยุทธวิธีแบบมุ่งทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
บทบาทของ 2 นายพลระดับท็อปของรัสเซียเหล่านี้ในวากเนอร์กรุ๊ป เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร จากการเป็นองค์กรทหาร “ภาคเอกชน” กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพรัสเซีย และด้วยเหตุนี้จึงกระทำตามการสั่งการของกองบัญชาการทหารรัสเซีย ขณะที่ ปรีโกจิน นั้นเป็นเสมือนหน้าตาของกลุ่มวากเนอร์ ทว่าตัวเขาไม่มีประสบการณ์ใดๆ ทางการทหาร
ยุทธวิธีของกลุ่มวากเนอร์มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับวิธีการซึ่งสหภาพโซเวียตนำมาใช้อย่างประสบความสำเร็จในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม บัคมุต ก็เฉกเช่นเดียวกับ มาริอูโปล จัดอยู่ในประเภทของกรณีการพลิกผันกลับตาลปัตร เมื่อกองทัพรัสเซียและวากเนอร์จะต้องบุกเข้าไปโจมตีเมืองใหญ่ๆ แทนที่จะได้รับมอบหมายให้คอยเฝ้ารักษาเมืองเหล่านี้
การตีเมืองบัคมุตแตกถือเป็นชัยชนะทางการเมืองสำหรับ ปรีโกจิน ซึ่งผู้คนจำนวนมากเชื่อว่ากำลังจัดวางฐานะตำแหน่งของตัวเขาเองอย่างทะมัดทะแมง เพื่อรอคอยโอกาสเข้าแทนที่ ปูติน การที่เขาพูดโวยวายเกรี้ยวกราดใส่ ปูติน ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่เขากล่าวหา “คุณปู่” ซึ่งเป็นคำเรียกที่ในรัสเซียนิยมใช้พูดจากันเพื่อให้หมายถึง ปูติน ว่ากำลังกลายเป็น “คนงี่เง่า” ดูแล้วยังคงกลายเป็นปัญหาสำหรับตัวเขาในวันเวลาต่อไปข้างหน้า การเมืองของรัสเซียนั้นสามารถที่จะเล่นงานกันอย่างเหี้ยมโหดมากๆ อย่างที่ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นกันอยู่แล้ว
เวลานี้ยังไม่มีรายงานสรุปสุดท้ายเกี่ยวกับความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายปรากฏออกมา ตัวปรีโกจินได้กล่าวยกย่องชมเชยฝ่ายยูเครนซึ่งทำหน้าที่รักษาเมืองบัคมุตแตกหลังจากพื้นที่ส่วนที่มีการปกป้องรักษากันอย่างเต็มที่สุดๆ ที่เรียกกันว่าพื้นที่ “ป้อมปราการ” (Citadel) ตกเป็นของกองกำลังวากเนอร์ภายหลังการสู้รบที่ดุเดือดเลือดพล่าน และการถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วงโดยปืนใหญ่รัสเซีย
โครงสร้างอาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่ในเมืองบัคมุตแทบจะทุกๆ อาคารล้วนได้รับความเสียหายอย่างสาหัส หรือกระทั่งถูกทำลายราบโดยสิ้นเชิง อันที่จริงแล้วกองทัพยูเครนก็ได้ระเบิดทิ้งอาคารจำนวนหนึ่งขณะที่พวกเขาล่าถอย เพื่อที่กองกำลังวากเนอร์จะได้ไม่สามารถใช้อาคารเหล่านี้เป็นฐานติดตั้งอาวุธคอยไล่ยิงพวกเขา
(ชมคลิปวิดีโอสั้นๆ ขณะปรีโกจินประกาศว่ายึดบัคมุตได้ทั้งเมืองแล้ว ได้ที่ https://twitter.com/i/status/1659923608683126784)
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากองทัพบกรัสเซียจะดำเนินการอะไรสำหรับขั้นตอนต่อๆ ไป ในคืนก่อนหน้านั้น รัสเซียได้ระเบิดถล่มอย่างขนานใหญ่ใส่เป้าหมายต่างๆ ในยูเครนอีกคืนหนึ่ง รวมทั้งยังกล่าวอ้างว่าพวกเขาได้ยิงจรวดจำนวนหนึ่งจากระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ตลอดจนขีปนาวุธร่อนสตอร์ม แชโดว์ (Storm Shadow cruise missiles) ตกอีกด้วย
เวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายรัสเซียได้ทำลายสะพานสำคัญๆ ที่มุ่งไปยังชาซิฟ ยาร์ (Chasiv Yar) เมืองซึ่งทำหน้าที่คอยส่งกำลังบำรุงให้กองกำลังยูเครนในบัคมุต และแก่กองกำลงที่ปฏิบัติการอยู่ทางด้านปีกของบัคมุต มีความเป็นไปได้ที่กองกำลังรัสเซียอาจจะติดตามตีเมืองชาซิฟ ยาร์ เพื่อใช้ที่มั่นแห่งนี้เป็นจุดพักเตรียมการสำหรับการตีตะลุยต่อไปยังแม่น้ำดนีเปอร์ ทั้งนี้อะไรๆ จำนวนมากทีเดียวจะต้องขึ้นอยู่กับว่า การรุกของฝ่ายยูเครนตามที่คาดหมายกันเอาไว้นั้นจะพัฒนาคลี่คลายออกมาอย่างไร
ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ที่บริเวณปีกทางเหนือของบัคมุต ตรงด้านนอกเมืองออกไป ทว่าหลังจากองทัพยูเครนช่วงชิงพื้นที่มาได้บ้างในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา เวลานี้ฝ่ายรัสเซียกำลังพลิกกลับสถานการณ์และยึดพื้นที่ซึ่งเสียไปกลับคืน แต่สถานการณ์ทางอีกปีกหนึ่ง คือในทิศทางอีวานจ์สเก (Ivanjske) ทางด้านใต้ของตัวเมืองนั้นมีความชัดเจนน้อยกว่า ถึงแม้ดูเหมือนว่าแรงผลักดันของฝ่ายยูเครนอยู่ในอาการหมดพลังเสียแล้ว
ขณะที่พวกแหล่งข่าวฝ่ายยูเครนกำลังพยายามอ้างว่า บัคมุต ไม่ได้มีความสำคัญอะไร แต่การสู้รบอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 9 เดือนก็เป็นคำสั่งที่ออกมาจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โดยที่มีรายงานว่าเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับคำแนะนำของพวกผู้บังคับบัญชาทหารของเขาเอง
เวลานี้มีข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันแพร่กระจายไปในแพลตฟอร์มเทเลแกรม เมสเซนเจอร์ (Telegram Messenger) ซึ่งพวกบล็อกเกอร์ “ด้านการทหาร” ชาวรัสเซียส่วนใหญ่นิยมใช้กันอยู่ บอกว่า วาเลรี ซาลุซนี (Valerii Zaluzhny) นายพลระดับท็อปของยูเครนอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้ไม่มีใครเห็นตัวหรือได้ยินเสียงพูดของเขามาหลายวันแล้ว
เรื่องประหลาดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่ตัว เซเลนสกี เองวิ่งหนีหลบเข้าไปในการประชุมของกลุ่มจี7 ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลาซึ่งหนึ่งในสมรภูมิสำคัญที่สุดของยูเครนเพิ่งมาถึงบทสรุป
มีความรู้สึกกันอยู่ ทว่าไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ที่ว่าในกรุงเคียฟเวลานี้กำลังเกิดความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว เป็นความปั่นป่วนผันผวนซึ่งอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทิศทางของประเทศ และทิศทางของสงครามคราวนี้
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute