xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ชญานุช วีรสาร



ชญานุช วีรสาร

ในอดีตทฤษฎีและแนวคิดเรื่องความเป็นกลางของข่าวสารมักถูกตอกย้ำเสมอโดยเฉพาะสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทต่อสังคมและมีอิทธิพลของผู้อ่านเป็นอย่างมาก

ก่อนยุคดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการสื่อสารมวลชน ย้อนไปหลายสิบปีหนังสือพิมพ์ไทยก็มีบทบาทเช่นนั้น นักหนังสือพิมพ์ ไม่ว่านักข่าว บรรณาธิการหรือคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์จะเป็นผู้กำหนดทิศทางสังคมหรือ Agenda Setting ได้ เพียงแค่พาดหัวข่าว

และเมื่อข่าวสารทางโทรทัศน์เริ่มมีบทบาทเข้าถึงผู้ชมมากขึ้น ความเป็นกลางก็ถูกนักวิชาการหรือนักทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชนหยิบมากล่าวถึงอีกครั้งเรื่องของความเที่ยงตรงในการรายงานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติ หรือไม่สอดแทรกความคิดเห็นของนักข่าวโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องด้วย แต่ความเป็นกลางเป็นเพียงแนวคิดไม่ใช่กฎหมายชี้เป็นชี้ตายแก่สื่อมวลชน ขณะเดียวกันความเป็นกลางก็ถูกคนทำสื่อตีความต่างกันไป

หลายปีให้หลังมานี้ แนวคิดนี้ดูจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อหนังสือพิมพ์ถูกลดบทบาทลง นักข่าวหนังสือพิมพ์หันไปเป็นนักข่าวโทรทัศน์ และยิ่งมีช่องเพิ่มขึ้นทั้งผ่านดาวเทียมและดิจิทัล รูปแบบการนำเสนอข่าวสารเป็นแบบเล่าข่าว คุยข่าว วิเคราะห์ข่าว ซึ่งหนีไม่พ้นการสอดแทรกความคิดเห็น แม้แรกๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเพราะผู้ชมไม่ชินกับการแสดงความคิดเห็นของพิธีกรข่าวหรือผู้ประกาศข่าว แต่เมื่อทุกช่องพร้อมใจกันทำ การแสดงความคิดเห็นจึงกลายเป็นเรื่องปกติ และอาจจะชื่นชอบมากกว่าแค่อ่านข่าวตามสคริปต์เพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ นอกจากได้รับความสนุกได้อารมณ์แล้วยังช่วยชี้นำและตัดสินใจให้ผู้ชมไปพร้อมกันด้วย

แม้จะมีโซเชียลมีเดียเข้ามาแทนที่จนวันนี้เป็นสื่อกระแสหลักมากกว่าสื่อดั้งเดิมจนผู้รับสารเป็นผู้กำหนดทิศทางสังคมหรือเป็นสื่อได้เองแล้ว แต่รายการข่าวทางโทรทัศน์ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่นำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ความเป็นสื่อมวลชนกับความเป็นกลางไม่ชัดเจนเหมือนเก่า แนวคิดเดิมๆ ในความเที่ยงตรงแทบจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะข่าวสารถูกกำหนดด้วยเรตติ้ง ทุกช่องทุกสื่อต้องมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เนื่องจากสื่อมวลชนมีจำนวนมากต้องแข่งขันกันแย่งลูกค้า เพื่อทำการตลาดให้ตรงกลุ่มมากที่สุด คนทำสื่อจึงต้องคำนึงถึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้จำเป็นต้องเลือกข้างมากกว่าเป็นกลาง

ในความเป็นสื่อมวลชนในฐานะผู้ส่งสารก็ต้องมีความคิดหรือความเชื่อตามนั้นด้วยเช่นกัน สังเกตว่านักข่าวไม่สามารถฝืนความรู้สึกของตนเองได้ ต้องเลือกทำหรืออยู่ในที่ที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสงวนท่าทีกันแล้วว่าคิดอ่านเช่นไร ผู้รับสารที่เลือกชมจะตัดสินใจเลือกเอง หากยังแสดงความเป็นกลางมักจะถูกมองว่าเป็นสื่อมวลชนที่ไม่มีจุดยืน จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับสื่อมวลชนที่เลือกข้างแล้ว โดยเฉพาะจุดยืนในทางการเมือง ยิ่งการใช้พื้นที่โซเชียลของบุคคลเผยแพร่เป็นสาธารณะมากขึ้นยิ่งแสดงจุดยืนของตนเองได้ง่ายกว่าองค์กรที่สังกัด

แต่หากเป็นสื่อเลือกข้างจะถูกใจผู้ชมมากกว่า จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น โดยผู้ชมจะไม่สนใจว่าข้อมูลที่รับมาจริงหรือเท็จหรือมาจากแหล่งข่าวใด ขอให้เป็นข้อมูลที่ถูกใจไม่เน้นถูกต้อง ขณะที่ข้อมูลที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจก็มักไม่ได้รับการเผยแพร่หรืออาจถูกบิดเบือน ขึ้นอยู่กับว่าสื่อมวลชนเลือกนำเสนออย่างไร อยากได้ผู้ชมแบบไหนเป็นลูกค้าของตน

เมื่อผู้ชมเลือกสื่อ สื่อก็เลือกผู้ชมแล้ว ก็ไม่สมควรที่ผู้ชมหรือสื่อมวลชนใดจะถูกบูลลี่หรือด้อยค่ากัน เพราะเป็นเรื่องของรสนิยมความพึงพอใจและการใช้ประโยชน์ของผู้ชมแต่ละคน

ความเป็นกลางของสื่อมวลชนปัจจุบันแทบไม่มีอยู่จริง ทุกช่องทุกสื่อต้องการเรตติ้ง ต้องการรายได้จากกลุ่มเป้าหมาย ฉะนั้นเมื่อสื่อไม่เป็นกลาง ผู้ชมก็ไม่เป็นกลาง จึงไม่จำเป็นต้องถามหาความเป็นกลางในโลกของสื่อมวลชน หรือสื่อใดๆ อีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น