(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Tech giants ‘de-risk’ from China, but selectively
By JEFF PAO
17/06/2023
ผลิตภัณฑ์ของไมครอน เทคโนโลยี ถูกทางการจีนสั่งแบน ทว่าพวกบริษัทเทคตะวันตกระดับกูรูซึ่งแสดงความปรารถนาที่จะร่วมหอลงโรงกับจีนเพิ่มมากขึ้นอีก ต่างได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่น
มันเป็นสัปดาห์ที่น่าติดตามทีเดียวสำหรับซีเมนส์ และประเทศจีน ในระหว่างเข้าพบเจรจากับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Minister of Industry and Information Technology) จิน จ้วงหลง (Jin Zhuanglong ) ของจีน ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (14 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ประธานผู้บริหารบริษัทซีเมนส์ เอจี (Siemens AG) โรแลนด์ บุช (Roland Busch) บอกว่าบริษัทจะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือกับจีนในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การผลิตทางอุตสาหกรรมระดับก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202306/1292614.shtml)
ในวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) ซีเมนส์ แถลงว่าบริษัทยังจะใช้จ่ายเงิน 140 ล้านยูโร (153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการขยายโรงงานทางดิจิทัลของตนในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เพื่อให้บริการแก่ตลาดต่างๆ นอกจากนั้นบริษัทจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบเพื่อการควบคุมการเคลื่อนไหว โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อการแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์พลังงานไฟฟ้าของบริษัท
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://press.siemens.com/sg/en/pressrelease/siemens-presents-2-billion-investment-strategy-boost-future-growth)
ก่อนหน้านี้ บุชเคยบอกกับสื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมว่า เรื่องการถอนตัวออกจากตลาดประเทศจีนนั้น “ไม่ใช่เป็นทางเลือกหนึ่ง” ที่ซีเมนส์ จะเลือกนำมาใช้ ทั้งนี้ในปัจจุบัน ตลาดจีนเป็นตัวทำรายรับให้บริษัทอยู่ราวๆ 13% กระนั้นก็ตาม ในวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) บริษัทแถลงว่าจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งต้องใช้จ่ายเงินราวๆ 200 ล้านยูโร
(ดูเพิ่มเติมรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ได้ที่ https://www.ft.com/content/e985f675-88e5-4bd5-9a44-7228a7525b39)
เวิร์ทชาฟท์สวอช (Wirtschaftswoche) นิตยสารภาษาเยอรมัน รายงานเอาไว้ว่า ตอนแรกทีเดียว บุช ต้องการให้ตั้งโรงงานแห่งใหม่นี้ในประเทศจีนมากกว่า แต่เขาเผชิญแรงต้านทานจากคณะกรรมการที่ปรึกษาของซีเมนส์ ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wiwo.de/unternehmen/industrie/technologiekonzern-siemens-baut-neue-hightech-fabrik-in-singapur/29202568.html)
อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นแนวโน้มซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่าแค่เป็นเรื่องของบริษัทซีเมนส์เพียงรายเดียวเท่านั้น กล่าวคือ สืบเนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังขึ้นสูง เมื่อบวกกับการที่เศรษฐกิจของจีนยังคงมีการฟื้นตัวแบบซึมเซา จึงมีบริษัทเยอรมันเพียงแค่ 55% เท่านั้นที่วางแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในจีนภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับที่เคยมีจำนวนกว่า 70% ในปี 2020 และปี 2021 ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจที่จัดทำโดยหอการค้าเยอรมัน (German Chamber of Commerce หรือ DIHK) ในประเทศจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://china.ahk.de/news/news-details/german-chamber-post-covid-flash-survey-business-outlook-restrained-by-market-development-geopolitics)
ทำนองเดียวกันกับ บุช แห่งซีเมนส์ มีกูรูทางเทคโนโลยีชาวตะวันตกจำนวนมากทีเดียวได้เดินทางไปเยือนจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อพยายามค้นหาดูว่าพวกเขาจะทำอย่างไรดีที่จะสามารถยังคงอยู่ในตลาดต่างๆ ของจีนต่อไปได้ เพื่อทำเงินทองหารายได้ อย่างชนิดที่ – “ในความหมายสุดท้ายที่สุด หากพูดกันแบบเป็นอุดมคติเลยก็คือ เป็นการหารายได้แบบที่ปลอดความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์”
ทั้งนี้ คำแถลงร่วมของพวกผู้นำกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมของโลกตะวันตก (จี7) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ภายหลังการประชุมซัมมิตของพวกเขา ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่ามีส่วนเสริมสร้างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวนี้ จากการที่พวกเขาระบุว่า พวกเขา “มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ประการหนึ่งในการต้องป้องกันขัดขวางไม่ให้บางประเทศนำเอาชุดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับคับแคบมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเพิ่มพูนสมรรถนะทางการทหารและทางการข่าวกรองของพวกเขา และเกิดผลกลายเป็นการบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” โดยที่คำแถลงร่วมนี้ยังบอกด้วยว่า เหล่าประเทศจี7 จะหาหนทางเพื่อ “ลดความเสี่ยง” (de-risk) จากประเทศจีน
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงร่วมของ จี7 ได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/05/20/g7-leaders-statement-on-economic-resilience-and-economic-security/)
สำหรับประเทศจีนเองไม่ได้ปิดบังเลยว่าพวกเขามีความไม่พอใจพวกบริษัทตะวันตกในรายที่ถูกมองว่าเดินตามนโยบายต่างๆ ของประเทศพวกเขาอย่างใกล้ชิดเกินไป และทำให้จีนตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังจะเห็นได้ว่าในวันที่ 20 พฤษภาคมวันเดียวกันนั้นเอง สำนักงานทบทวนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity Review Office) ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งใต้สังกัดของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (Cyberspace Administration of China) ได้สั่งห้ามพวกผู้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่ทรงความสำคัญของประเทศ ไม่ให้ซื้อหาใช้งานผลิตภัณฑ์จากไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติสหรัฐฯ รายหนึ่ง ซึ่งได้ลดขนาดธุรกิจในจีนของพวกเขาลงไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2019 [1]
กระจายการลงทุน
อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้วจีนยังคงกำลังพยายามที่จะเดินหน้าไปอย่างระมัดระวังตัว ไม่ผลีผลามที่จะทำให้เกิดการแตกหักตัดรอนกัน ระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปักกิ่งยังได้ส่งเสริมสนับสนุนพวกบิ๊กบอสบริษัทเทคต่างชาติเดินทางไปเยือนอย่างไม่ขาดสาย
เป็นต้นว่าเมื่อวันศุกร์ (16 มิ.ย.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบปะต้อนรับ บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และเวลานี้เป็นประธานร่วมของมูลนิธิ บิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ที่กรุงปักกิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.news.cn/20230616/aa25e60271b74e6d92dd7cd22d4b1a27/c.html)
สี เรียก เกตส์ ว่าเป็น “เพื่อนเก่า” และบอกว่า จีนพร้อมแล้วที่จะเดินหน้ามีความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับทุกๆ ประเทศในด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ก่อนหน้านั้น ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม อีลอน มัสก์ ประธานฝ่ายบริหารของเทสลา ได้ออกเดินทางไปเยือนปักกิ่ง โดยมีรายงานว่าเขาคาดหวังจะได้เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน แต่ปรากฏว่าเขาได้แค่หารือกับรองนายกรัฐมนตรี ติง เซี่ว์ยเสียง เท่านั้น
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา คำเฉลยดูเหมือนจะปรากฏออกมาทาง 36Kr เว็บไซต์ข่าวไอทีภาษาจีน ซึ่งรายงานเอาไว้ว่า ระหว่างทริปเดินทางเยือนจีนเที่ยวนี้ มัสก์ได้ขอให้พวกซัปพลายเออร์ชาวจีนโยกย้ายไปดำเนินกิจการที่เม็กซิโก เพื่อสนับสนุนโรงงานเรือธงของเทสลาที่นั่น มีข่าวออกมาว่าซัปพลายเออร์จีนบางแห่งได้รับแจ้งว่าพวกเขาจะต้องพลาดออเดอร์ใหญ่ๆ ไปบางส่วน ถ้าหากพวกเขาไม่ได้แสดงปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการตอบสนองคำขอร้องของ เทสลา เสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1768103662873867873&wfr=spider&for=pc)
คอลัมนิสต์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้รายหนึ่ง ได้เผยแพร่ข้อเขียนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่พาดหัวเรื่องเอาไว้ดังนี้ “อีลอน มัสก์ กำลังหลบหนีออกไปจากจีนใช่ไหม? เทสลาไปสร้างโรงงานที่เม็กซิโก และเรียกร้องให้พวกซัปพลายเออร์จีนตามเขาไปด้วย”
“ในปัจจุบัน จีนไม่ได้เป็นเพียงโรงงานระดับโลกรายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นตลาดบริโภครายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย” คอลัมนิสต์ผู้นี้เขียนเอาไว้เช่นนี้ “พวกบริษัทอเมริกันไม่สามารถที่จะละทิ้งตลาดจีนที่มีทั้งผลิตภาพและเป็นทั้งตลาดบริโภคไปได้หรอก”
คอลัมนิสต์ผู้นี้บอกว่า ขณะที่เทสลากำลังสร้างโรงงานขึ้นมาในเม็กซิโก บริษัทก็ไม่สามารถละทิ้งโรงงานที่มีอยู่แล้วในเซี่ยงไฮ้ และกล่าวพยากรณ์ด้วยว่า ในอนาคตอีกยาวนานนัก โรงงานเซี่ยงไฮ้ของ เทสลา ยังจะคงอยู่ที่นี่แหละ ไม่ได้ไปไหนหรอก
ต่างประเทศลงทุนในจีน และบริษัทจีนไปลงทุนในต่างประเทศ
บริษัทอภิมหายักษ์ที่เรียกว่า กิกะแฟกทอรี ในเซี่ยงไฮ้ ของ เทสลา เริ่มต้นดำเนินการผลิตในเดือนตุลาคม 2019 ด้วยกำลังผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 500,000 คันต่อปี โรงงานแห่งนี้เคยปิดทำการไป 2 สัปดาห์ในช่วงต้นปี 2020 สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-9 หลังจากนั้นการผลิตของโรงงานประสบภาวะชะงักงันอีกครั้งในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีที่แล้ว สืบเนื่องจากนครเซี่ยงไฮ้ประกาศการล็อกดาวน์เพื่อสู้กับการระบาดของโรคนี้อีกรอบหนึ่ง
ในเดือนมีนาคมปีนี้ เทสลา ประกาศแผนการของตนที่จะสร้างโรงงานระดับกิกะแฟกทอรีขึ้นในเม็กซิโก ซึ่งจะมีศักยภาพในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าปีละ 1 ล้านคัน
“ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดุเดือดมากขึ้นทุกที กลายเป็นตัวเร่งให้พวกผู้นำของบริษัทนานาชาติทั้งหลายต้องปรับแผนการลงทุนของพวกเขา” นักเขียนที่อยู่ในมณฑลหูหนานผู้หนึ่ง เขียนเอาไว้เช่นนี้ “กิจการนานาชาติส่วนใหญ่ได้เลือกโมเดล “ใช้พวกประเทศเพื่อนมิตร (กับสหรัฐฯ) เป็นฐาน” (friend-shoring) หรือไม่ก็โมเดล “ใช้จีน+ประเทศอื่นๆ เป็นฐาน” (China + N) เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาขึ้นมาใหม่”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1768417813711675049&wfr=spider&for=pc)
เขากล่าวต่อไปว่า เงินทุนจีนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จะไปยังต่างแดน เพื่อให้อยู่ใกล้ๆ พวกลูกค้าของพวกเขา เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาจะสูญเสียออเดอร์ เขาบอกว่าสภาพเช่นนี้เองที่อธิบายว่า ทำไมยอดการลงทุนของต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ของจีน จึงกำลังลดต่ำลง เวลาเดียวกับที่ยอดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (overseas direct investment หรือ ODI) ของจีน กลับกำลังเติบโตขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนแรกของปีนี้ FDI ของจีนหล่นลง 3.3% มาอยู่ที่ระดับ 73,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ODI ของจีนสูงขึ้น 17.1% ไปอยู่ที่ 52,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://data.mofcom.gov.cn/lywz/inmr.shtml และที่ http://hzs.mofcom.gov.cn/article/date/202305/20230503411986.shtml)
เวลาเดียวกันนั้น มีคอมเมนเตเตอร์ (นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ) บางรายกล่าวว่า การเรียกร้องของจี7 ที่ให้ “ลดความเสี่ยง” ในการพึ่งพิงผูกพันกับจีน ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายนักหรอก พวกเขากล่าวว่า สิ่งที่เรียกกันว่า “การหวนกลับไปตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ” (re-shoring) และ “การไปตั้งฐานผลิตที่ประเทศซึ่งเป็นมิตรกับสหรัฐฯ” (friend-shoring) นั้น เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำมาแทนที่ การที่จีนจะส่งออกสินค้าขั้นกลาง ซึ่งจะนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเพื่อส่งไปยังสหรัฐฯ ต่อไปเท่านั้นเอง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2023/04/the-great-re-shoring-charade/)
พวกเขาบอกว่า จีนกำลังโยกย้ายกำลังผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ อีกบางประเทศ เวลาเดียวกับที่พวกนักลงทุนต่างประเทศในจีนกำลังทำอย่างเดียวกันนี้ด้วย
กระนั้นก็ตาม ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนยังคงสามารถดึงดูดพวกกิจการเทคโนโลยีต่างประเทศบางรายให้จัดตั้งโรงงานขึ้นในแดนมังกร
เป็นต้นว่า ในเดือนมีนาคม KMWE ซัปพลายเออร์รายหนึ่งของ ASML ผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการทำชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ แถลงว่า บริษัทจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่มณฑลเสฉวน เพื่อผลิตแขนหุ่นยนต์สำหรับพวกเครื่องจักรทำงานด้านบรรจุภัณฑ์ชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ไม่ได้ครอบคลุมเอาไว้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.sina.com.cn/money/fund/jjzl/2023-05-31/doc-imyvrtcc3939736.shtml)
ในวันที่ 7 มิถุนายน เอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (STMicroelectronics) ผู้ผลิตชิปที่ตั้งฐานอยู่ในสวีเดน แถลงว่า ได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทซานอันออปโตอิเล็กทรอนิกส์ (Sanan Optoelectronics) ของจีน เพื่อก่อตั้งกิจการร่วมลงทุน ซึ่งจะทำโปรเจกต์โรงงานผลิตอุปกรณ์ซิลิคอนคาร์ไบด์ระดับ 200 มม. แห่งใหม่ขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.globenewswire.com/news-release/2023/06/07/2683466/0/en/STMicroelectronics-and-Sanan-Optoelectronics-to-advance-Silicon-Carbide-ecosystem-in-China.html)
ซานอัน จะสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาส 4 ของปี 2025 ขณะที่เอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จะให้เทคโนโลยีของตนแลกเปลี่ยนกับการได้ถือหุ้น 49% ในกิจการร่รวมทุนนี้
กระทั่ง ไมครอน ยังประกาศในวันศุกร์ (16 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า จะใช้จ่ายเงินเป็นจำนวน 603 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในโรงงานบรรจุภัณฑ์พวกสินค้าชิปของบริษัทที่เมืองซีอาน
พวกบริษัทตะวันตกที่กำลังทำธุรกิจอยู่ในประเทศจีน โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ถึงกับจะเลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่งให้เด็ดขาดลงไปหรอก เมื่อพบว่าพวกเขาถูกบีบคั้นให้จำเป็นต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ หากพูดกันอย่างลงรายละเอียดกันชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น บุช แห่งซีเมนส์ เขาพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนไปในสองทิศทางของเขาเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเอาไว้ดังนี้ : “การลงทุนเหล่านี้เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของเราที่ต้องการผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล –เช่นเดียวกับจุดโฟกัสของเราในเรื่องการกระจายตัวและเรื่องการทำธุรกิจแบบท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น (local-for-local business) เรากำลังใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนจากการปรากฏตัวอย่างแข็งแรงในทั่วโลกของเรา ในการสนับสนุนการเติบโตขยายตัวในตลาดต่างๆ ที่มีความสอดคล้องเหมาะสมที่สุดในโลกใบนี้”
อย่างไรก็ตาม พวกประเทศที่ไม่ใช่จีน ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้รับเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ได้มีความลังเลใจเลยที่จะแสดงความยินดีปรีดาของพวกเขาออกมา ผิง เชือง บุน (Ping Cheong Boon) ประธานของคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board หรือ EDB) กล่าวอย่างดีอกดีใจว่า “โรงงานไฮเทคแห่งใหม่ของซีเมนส์ที่มาตั้งในสิงคโปร์นี้ จะยกระดับฐานะความเป็นศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้ของเรา และสมรรถนะความเป็นโรงงานการผลิตระดับก้าวหน้าอันแข็งแกร่งของเรา โดยที่เราสามารถตอบสนองความต้องการที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ในตลอดทั่วทั้งตลาดซึ่งมีอัตราเติบโตสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หมายเหตุผู้แปล
[1] กรณี ไมครอน เทคโนโลยี กลายเป็นบริษัทเทคของฝ่ายตะวันตกแห่งแรกที่ถูกทางการจีนเล่นงานแซงก์ชันนั้น เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เอเชียไทมส์ได้เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นหนึ่ง ซึ่งเขียนโดย เจฟฟ์ เปา พูดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องนี้เอาไว้ ผู้แปลจึงขอเก็บความบางส่วนจากข้อเขียนชิ้นดังกล่าวมาเสนอเอาไว้ในที่นี้
ด้วยการสั่งแบน ‘ไมครอน’ จีนกำลังประกาศว่าไม่ต้อนรับนโยบาย ‘ลดความเสี่ยง’ ที่กลุ่มจี7 จะนำมาใช้ในความสัมพันธ์กับแดนมังกร
โดย เจฟฟ์ เปา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
With Micron ban, China says no to ‘de-risking’
By JEFF PAO
23/05/2023
ไมครอน เทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติสหรัฐฯ กลายเป็นกิจการของตะวันตกแห่งแรกที่ถูกจีนลงโทษแซงก์ชัน ภายหลังบรรดาผู้นำประเทศจี7 ประกาศลั่นที่จะ “ลดความเสี่ยง” (de-risk) จากศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของโลกแห่งนี้
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกผู้ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติที่สำคัญๆ ทั้งหลายของจีน ถูกห้ามไม่ให้ซื้อหาผลิตภัณฑ์จากไมครอน เนื่องจากบริษัทมีทีท่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงในเครือข่ายขึ้นมา นี่เป็นคำตัดสินของสำนักงานทบทวนความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity Review Office) หน่วยงานหนึ่งของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (Cyberspace Administration of China)
เหมา หนิง (Mao Ning) โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมว่า การสอบสวนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไมครอน เป็นสิ่งที่จำเป็น และกระทำด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทเลคอมของประเทศจีนต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแสดงปฏิกิริยาที่ไม่เหนือความคาดหมาย โดยบอกว่าการกล่าวหาไมครอน ของจีนเป็นสิ่งที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่บนข้อเท็จจริง พร้อมกับบอกว่าจะติดต่อเกี่ยวข้องโดยตรงกับจีนเพื่อคลี่คลายแก้ไขมาตรการจำกัดต่างๆ ที่ใช้กับการจัดส่งชิปไมครอนมายังจีนเช่นนี้
“เรายังจะนำเอาบรรดาพันธมิตรหลักๆ และหุ้นส่วนหลักๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีการประสานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับการบิดเบือนตลาดชิปความจำที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจีน” กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ขู่สำทับ “การกระทำเช่นนี้ รวมทั้งการบุกตรวจค้นและพุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกบริษัทอเมริกันแห่งอื่นๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ไม่สอดคล้องกับการยืนยันของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ว่า ตนกำลังเปิดกว้างตลาดของตน และยึดมั่นกระทำตามกรอบโครงทางระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีความโปร่งใส”
ตามรายงานของสื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ที่เผยแพร่ในวันที่ 24 เมษายน สหรัฐฯ ได้ขอร้องเกาหลีใต้เอาไว้แล้ว ให้ช่วยรบเร้าพวกบริษัทผู้ผลิตชิปของตน อย่าได้เข้าไปเติมช่องว่างใดๆ ในตลาดประเทศจีน ถ้าหากผลิตภัณฑ์ของไมครอนถูกแบนในตลาดจีน
จาง ยังจิน (Jang Young-jin) รองรัฐมนตรีพาณิชย์ของเกาหลีใต้ ออกมาแถลงในวันที่ 19 พฤษภาคมว่า ซัมซุง (Samsung) และเอสเค ไฮนิกซ์ (SK Hynix) สองผู้ผลิตชิปรายยักษ์ของแดนโสมขาว จะเป็นผู้วินิจฉัยตัดสินว่าพวกเขาควรจะทำตามคำขอร้องของสหรัฐฯ หรือไม่
สำหรับไมครอน เองแถลงว่า กำลังศึกษาประเมินผลคำตัดสินของสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน เพื่อตัดสินใจว่าบริษัทจะทำอย่างไรต่อไป
ลงทุนใหม่อีกครั้ง หรือไม่ก็ถอนตัวออกไปเสีย
มีบทความชิ้นหนึ่งแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม บทความที่ใช้ชื่อว่า “ไมครอนทำแต่เรื่องแย่ๆ มาโดยตลอด เวลานี้พวกเขาจึงถูกแซงก์ชันในท้ายที่สุด” (Micron has done all the bad things! Now it is finally sanctioned) นี้ มีเนื้อหามุ่งอธิบายเหตุผลเบื้องหลังการที่ปักกิ่งเล่นงานผู้ผลิตชิปสหรัฐฯ รายนี้
(ดูบทความนี้ที่เป็นภาษาจีนได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1766555362830605583&wfr=spider&for=pc)
“ในเดือนมกราคม 2022 ตอนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผลักดันเดินหน้าแผนการของตนที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน ไมครอนแถลงว่าบริษัทจะยุติความร่วมมือที่มีอยู่กับจีน ปลดพนักงานของบริษัท และปิดศูนย์ออกแบบชิปความจำ DRAM ซึ่งตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ของตน” ผู้เขียนบทความนี้ระบุ “บริษัทยังจัดหาวีซ่าประเภทแรงงานมีทักษะให้แก่นักเทคนิคระดับอาวุโสของตนจำนวนกว่า 40 คน และโยกย้ายธุรกิจต่างๆ ของตนออกจากจีนไปยังอินเดียและสหรัฐฯ”
ผู้เขียนบทความนี้กล่าวต่อไปว่า “ในสงครามชิประหว่างจีน-สหรัฐฯ ไมครอนแสดงบทบาทเป็นกองหน้าของสหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้นมาโดยตลอด บริษัทแห่งนี้ทำเงินทองจากในตลาดจีน โดยที่เวลาเดียวกันนั้นก็กำลังตอบสนองต่อพลังอำนาจของสหรัฐฯ ในการกำราบเล่นงานพวกกิจการชิปของจีน บริษัทนี้ทำอะไรที่เลวร้ายย่ำแย่ไปหมดมาโดยตลอด!”
เขากล่าวอธิบายสรุปว่า “ทำไมเราจึงลงโทษแซงก์ชันเฉพาะไมครอน แต่ไม่แซงก์ชัน ซัมซุง และเอสเค ไฮนิกซ์? พวกเขาทั้งหมดต่างทำเงินทองอยู่ในประเทศจีนนี่ แต่ไมครอน ไม่ได้เพิ่มการลงทุนของพวกเขาในประเทศนี้เลย ขณะที่ซัมซุง กับเอสเค ไฮนิกซ์ มีการลงทุนใหม่ๆ เรื่อยมา”