xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงนักการเมือง นักคิด นักวิชาการ และนักวางแผนยุทธศาสตร์ของรัสเซียว่า มันจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องความมั่นคงของมาตุภูมิ และปกป้องมนุษยชาติจากหายนะของสงครามที่ก่อโดยชาติมหาอำนาจตะวันตกให้จบสิ้นไปเลยตลอดกาล

ศาสตราจารย์เซอร์เก้ คารากานอฟ (Sergey Karaganov) ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงประธานกิตติมศักดิ์ของ Council on Foreign and Defence Policy และที่ปรึกษาด้านวิชาการของ School of International Economics and Foreign Affairs Higher School of Economics ในกรุงมอสโก เป็นผู้นำเสนอว่า มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป สำหรับรัสเซียที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิงไปหลายพื้นที่ในยุโรป มิเช่นนั้นรัสเซีย และมวลมนุษยชาติอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต

คำพูดของคารากานอฟมีน้ำหนักและมีเหตุผลที่น่ารับฟัง เนื่องจากในอดีตเขาเคยเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในฐานะผู้อำนวยการของสภานโยบายต่างประเทศ และกลาโหมของรัสเซีย

คารากานอฟเขียนบทความตีพิมพ์ในวันที่ 13 มิถุนายนในวาสาร Global Affairs ภายใต้หัวข้อที่ชื่อว่า “การตัดสินใจที่ยากแต่จำเป็น : การใช้อาวุธนิวเคลียร์สามารถช่วยมนุษยชาติจากหายนะทั่วโลก” โดยเขาได้อธิบายบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ เงื่อนไขของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และความจำเป็นของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปิดเกมสงครามที่ถูกยั่วยุจากฝ่ายมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องความอยู่รอดของรัสเซียแล้ว ยังจะช่วยป้องกันมนุษยชาติจากหายนะของสงครามที่ใหญ่กว่า

คารากานอฟอธิบายว่า รัสเซียกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะตัดสินใจ เพราะว่ามันชัดเจนว่าการประจัญบานกับตะวันตกจะไม่มีวันหยุด แม้ว่ารัสเซียจะชนะสงครามยูเครนบางส่วน หรือทั้งหมดก็ตาม ใจความสำคัญของบทความมีดังนี้ :

1. แม้ว่ารัสเซียจะยึดโดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาโปริซเซีย และเคอร์สันได้ มันจะเป็นเพียงชัยชนะที่น้อยนิด ความสำเร็จที่ใหญ่กว่า คือการปลดปล่อยภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งหมดของยูเครนภายใน 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า แต่ชาวยูเครนที่เหลือจะยังคงเป็นพวกชาตินิยมที่รุนแรง และได้รับอาวุธสนับสนุนอย่างเต็มที่จากศัตรู ซึ่งจะทำให้สถานการณ์มีความสลับซับซ้อนหรือเลวร้ายลงไปอีก ถ้าหากรัสเซียยึดยูเครนได้ทั้งประเทศ จะต้องแลกกับการสูญเสียมาก จะมีเหลือแต่ซากปรักหักพัง และประชาชนยูเครนที่ยังมีชีวิตอยู่จะจงเกลียดจงชังรัสเซียไปอีกนานแสนนาน

2. รัสเซียต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ หันไปร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารกับยูเรเซีย หรือเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ เนื่องจากยุโรปไม่ต้องการอยู่ร่วมกับรัสเซียอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรต้องมาเสียเวลากับทรัพยากรกับสงครามที่ยูเครนกลาง และยูเครนตะวันตก ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกยังมีความขัดแย้ง หรือความเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียต่อไปไม่เลิกรา จะยังคงให้การสนับสนุนสงครามกองโจรที่จะแซะพลังของรัสเซียลงไปเรื่อยๆ

3. จะจัดการเรื่องราวให้เด็ดขาด รัสเซียต้องยึดยูเครนตะวันออกและยูเครนใต้ให้ได้ พร้อมกับปลดอาวุธของทหารยูเครนทั้งประเทศ ให้ยูเครนเป็นรัฐกันชน แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องสามารถเอาชนะตะวันตก หรือให้ตะวันตกต้องถอนตัวออกไป แต่มันจะเป็นการยาก

4. ภัยของสงครามยูเครน ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ของโลก และภัยของสงครามการทหารมาจากความล้มเหลวของผู้ปกครองอีลิทตะวันตก ที่ต้องการรักษาอำนาจแต่ฝ่ายเดียวของตัวเอง ในขณะที่ดุลอำนาจโลกกำลังเปลี่ยนไปจากการผงาดทางเศรษฐกิจของจีน และอินเดีย โดยมีรัสเซียเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ และการทหาร ตะวันตกกำลังสูญเสียความได้เปรียบที่มีมาเป็นระยะเวลา 500 ปี จากการปล้นความมั่งคั่งของโลก ผ่านการบังคับใช้ระเบียบการเมือง และเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางวัฒนธรรม และการใช้กำลังที่รุนแรง เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่ตะวันตกจะยกเลิกการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองไปได้อย่างง่ายๆ


5. สหรัฐฯ ก่อสงครามตัวแทนในยูเครน เพื่อที่จะทำลายรัสเซีย ซึ่งจะทำให้จีนอ่อนแอลงไปด้วย ในขณะเดียวกัน รัสเซียมีความชักช้าในการประเมินสถานการณ์ในยูเครนที่มีความผิดพลาดไป ปล่อยให้วิกฤตขยายวง ดังนั้น มันมีความจำเป็นที่ต้องลดระดับเงื่อนไขของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ให้ต่ำลง

6. ผู้ปกครองอีลิทตะวันตกมีอุดมการณ์ต่อต้านความเป็นมนุษย์ ปฏิเสธความเป็นครอบครัว ประเทศ และประวัติศาสตร์ ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ความศรัทธา และการกระทำเพื่ออุดมการณ์ที่สูงกว่า หรือทุกอย่างที่เป็นมนุษย์ พวกเขาทำลายทุกคนที่ขัดขวางทุนนิยมโลก ซึ่งไม่มีความยุติธรรมและเป็นภัยต่อมนุษย์ ตะวันตกกำลังมุ่งสู่เผด็จการเสรีนิยม (liberal totalitarianism) สถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงไป การปรองดองเป็นไปไม่ได้ และจะเกิดความท้อแท้หมดหวัง อันนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งความจริง มันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่จะขยายวงเต็มรูปแบบจากความไร้ความรับผิดชอบของผู้ปกครองอีลิทตะวันตกที่แต่ก่อนมีการปรามกันในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) ที่จะทำลายซึ่งกันและกัน แต่ความกลัวนี้ได้หมดลงไปแล้วจากการก่อสงครามใต้ท้องรัสเซีย เราต้องสร้างความกลัวของสงครามนิวเคลียร์อีกครั้ง มิเช่นนั้นมนุษยชาติจะประสบกับหายนะ

7. เราไม่สามารถให้ความผิดพลาดแบบยูเครนเกิดขึ้นได้อีก เป็นเวลากว่า 25 ปีที่เราได้เตือนนาโตไม่ให้ขยายสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่สงคราม เราได้พยายามที่จะเลื่อนสงครามออกไปด้วยการเจรจา แต่สิ่งที่เราได้คือความขัดแย้งทางสงคราม ราคาของการที่ไม่ตัดสินใจจะแพงขึ้นต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้นำตะวันตกไม่ยอมถอย บางทีพวกเขาสูญเสียจิตสำนึกของการป้องกันตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องโจมตีกลุ่มเป้าหมาย (ในยุโรป ด้วยอาวุธนิวเคลียร์) เพื่อที่จะทำให้พวกที่สูญเสียจิตสำนึกได้กลับมามีสำนึกใหม่

คารากานอฟไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ถ้าหากรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียุโรปประเทศใด แม้ว่าเขาจะแสดงความเห็นว่า อาจจะต้องใช้นิวเคลียร์หลายลูกก็ตาม โดยหวังว่าจะทำให้สหรัฐฯ ที่อยู่เบื้องหลังยุโรปต้องยอมถอย เพราะว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมปกป้องเมืองปอซนานของโปแลนด์ เพื่อแลกกับความปลอดภัยของเมืองบอสตัน

ความจริง มันไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่รัสเซียออกมาเตือนยุโรปว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ยุโรปที่ให้การสนับสนุนสงครามตัวแทนในยูเครน และดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซียทางทหารผ่านนาโต

ในเดือนพฤษาคมปี 2022 นายDmitry Kiselyov ผู้ดำเนินรายการข่าวทีวีรัสเซีย รายงานว่า ถ้าหากรัสเซียโจมตีอังกฤษด้วยโดรนโพไซดอนใต้น้ำจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 500 เมตร ซึ่งสามารถทำลายเกาะอังกฤษให้จมใต้ท้องทะเลได้

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ปูตินเตือนว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเป้าหมายของตะวันตกได้ เพื่อป้องกันตัวเอง หรือในกรณีที่รัสเซียเล็งเห็นว่าการดำรงอยู่ของรัสเซียตกอยู่ภายใต้ภัยอันตราย หลังจากที่รัสเซียเสนอข้อตกลงความมั่นคงกับยุโรป นาโตและสหรัฐฯ แต่ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

สหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนหลักนิยมทางทหารสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน (preemptive strike) เพื่อโจมตีศัตรู โดยได้ปรับนำมาใช้แล้วในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย และจีน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในปี 2020 ที่จะประกาศว่าจุดประสงค์เดียวของอาวุธนิวเคลียร์คือ การยับยั้งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ หรือพันธมิตร แต่เขากลับอนุมัตินโยบายฉบับหนึ่งจากรัฐบาลโอบามา ซึ่งเปิดทางเลือกให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่เพียงแต่เป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ด้วย

สหรัฐฯ มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และตุรกี โดยมีรัสเซียเป็นเป้าใหญ่

ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกเหนือเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นตามลำดับ การทิ้งระเบิดทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนไประหว่าง 129,000-226,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และยังคงเป็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียวในการสู้รบ

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคนทั่วไปจะลืมประวัติศาสตร์ไปแล้ว หรือไม่คิดว่าจะมีสงครามนิวเคลียร์อีก และผู้นำชาติต่างๆ ก็ไม่กลัวการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อันเห็นได้จากการยั่วยุจากมหาอำนาจตะวันตกให้เกิดสงครามใหญ่ในยุโรปและเอเชีย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุสยืนยันในคำพูดล่าสุดกับสถานีโทรทัศน์ของรัสเซียว่า เบลารุสเริ่มรับมอบอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยสัญญาไว้ก่อนหน้านี้

ลูกาเชนโก กล่าวกับช่องทีวี Rossiya-1 ว่านิวเคลียร์ทางยุทธวิธีมีอานุภาพรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 3 เท่า

เบลารุสเป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซีย โดยจะช่วยรัสเซียในการทำสงครามในยูเครนเพื่อยึดเคียฟ และการที่รัสเซียติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ให้เบลารุสเพื่อที่จะข่มขวัญโปแลนด์ และนาโต และเพื่อตอบโต้ที่อังกฤษตัดสินใจติดตั้งกระสุนยูเรเนียมที่หมดแล้วให้ยูเครน

ผู้ที่อธิบายจุดยืนที่เป็นทางการของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ดีที่สุดคือมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยเธอพูดนอกรอบการประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ซึ่งมีผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัสเซียอาจหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ก็ต่อเมื่อการดำรงอยู่ของรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น

เธอย้ำว่า มอสโกถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นมาตรการป้องกันขั้นสุดท้าย

“นโยบายยับยั้งนิวเคลียร์ของรัสเซียมีลักษณะเป็นการป้องกันอย่างแท้จริง และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามสมมติฐานนั้นจำกัดเฉพาะสถานการณ์พิเศษอย่างชัดเจน” ซาคาโรวากล่าว

เธออธิบายว่าสิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ หรือ “การรุกรานแบบเดิมที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐรัสเซีย”

“ประเด็นพื้นฐานนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” เธอเน้นย้ำ

โฆษกหญิงกล่าวย้ำว่า “รัสเซียมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในหลักการที่ว่าไม่ควรทำสงครามนิวเคลียร์” “อาจไม่มีผู้ชนะในเรื่องนี้” เธอกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศนิวเคลียร์อื่นๆ ยอมรับท่าทีนี้เช่นกัน


เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันพฤหัสบดี ประณามวาทศิลป์นิวเคลียร์ของรัสเซียว่า “ประมาท” และกล่าวว่ากลุ่มทหารที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า “จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในท่าทีเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้เราต้องปรับท่าที”

ในระหว่างการประชุมสัมมนาในเวที St.Petersburg International Economic Forum ในวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้ปิดกันความเป็นไปได้ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถ้าจะอ่านใจปูตินแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะตัดสินใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำลายยุโรป และปิดเกมสงครามยูเครนไปในตัว เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้ :

1. แม้ว่ารัสเซียจะชนะสงครามยูเครนแล้ว ความพยายามของมหาอำนาจตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และอังกฤษที่จะทำลายความมั่นคงของรัสเซียจะยังคงดำเนินต่อไปไม่เลิก

2. มหาอำนาจตะวันตกจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอำนาจแต่ฝ่ายเดียวของตัวเองที่ดูแลระเบียบโลกนี้มาเป็นเวลา 500 ปี โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมา หรือแม้ว่าจะต้องเกิดสงครามนิวเคลียร์ก็ตาม

3. รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ของมาตุภูมิ และมนุษยชาติจากภัยของเผด็จการนิยมแบบเสรีนิยมของตะวันตก ส่วนสหรัฐฯ ที่อยู่ทวีปอเมริกาเหนือห่างไกลจากความขัดแย้งในยุโรปไม่ได้มีภัยของการดำรองอยู่ของมาตุภูมิเหมือนรัสเซีย

4. ถ้าหากจะยิงนิวเคลียร์ รัสเซียอาจมุ่งเป้าไปที่อังกฤษ โปแลนด์ หรือเยอรมนี แล้วดูว่าประเทศนาโตอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร ถ้าหากยอมความกันเร็ว สงครามจะยุติหลังจากนั้นไม่นาน ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่ยอมแพ้ สงครามนิวเคลียร์จะทำลายโลก

5. ตะวันตกประเมินรัสเซียต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้เรียนรู้แนวความคิดความตายของรัสเซียน (Russian Fatalism) Friedrich Nietzsche นักปรัชญาเยอรมนีในศตวรรษที่ 19 อธิบายว่า ไม่ว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายจะทรุดโทรมหรือถูกเอาชนะด้วยความเจ็บปวดทางจิตใจ/อารมณ์จะเป็นอย่างไร เขาแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาที่เขาเรียกว่า “ความตายแบบรัสเซีย” ผู้ที่ใช้วิธีการรักษาดังกล่าวจะยุติความพยายามในการรักษาตัวเอง และเพียงแค่นอนลงและยอมรับความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดของตน และยับยั้งปฏิกิริยาทางร่างกายหรืออารมณ์ใดๆ ก็ตาม ในการทำเช่นนั้น เขาประหยัดพลังงานอันมีค่าและเร่งการฟื้นตัวของเขา

ในแง่นี้ รัสเซียยอมทนทุกข์ทรมานนอนรอความตายมาร่วมกว่า 100 ปีแล้วจากการถูกทำลายโดยตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการล้มราชวงศ์ซาร์ และการส่งลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปทำลายรัสเซีย รัสเซียยอมอยู่นิ่งๆ สงวนกำลังจนบัดนี้มีอาวุธนิวเคลียร์มหาประชัยพร้อมที่จะตอบโต้กลุ่มแองโกล-อเมริกันที่เป็นฝ่ายรุกราน และกระทำสิ่งที่เลวร้ายกับรัสเซียมาตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น