โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ส่งเสริมโอกาสจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดชานมไข่มุกในประเทศอิตาลี คาด ปี 2570 มูลค่าตลาดโต 3,600 ล้านบาท เฉลี่ย 18% ต่อปี
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้แนวทางนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมผู้ประกอบการ ส่งออกสินค้าเครื่องดื่มในตลาดต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการเติบโตของตลาดชานมไข่มุกในประเทศอิตาลี ในปี 2565 มีมูลค่าการค้าถึง 42 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) หรือมากกว่า 15% ของตลาดยุโรป และคาดการณ์ว่า จะเติบโตเฉลี่ยที่ 18% ต่อปี และจะมีมูลค่าถึง 98 ล้านยูโร (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) ภายในปี 2570 เชื่อว่า จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยและร้านอาหารไทย ขยายตลาดชาไทย และวัตถุดิบสำหรับทำชานมไข่มุก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี รายงานผลการเติบโตของตลาดชานมไข่มุก ระบุว่า ในปี 2565 ตลาดชานมไข่มุกในอิตาลี มีมูลค่าการค้าถึง 42 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) หรือมากกว่า 15% ของตลาดยุโรป ซึ่งการเติบโตนี้ทำให้ร้านชานมไข่มุกที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ของอิตาลี ประมาณ 30 เมือง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีร้านชานมไข่มุกเพิ่มจำนวนเป็น 236 ร้าน ในเดือนมีนาคม 2566 อย่างไรก็ตาม ตลาดชานมไข่มุกในอิตาลี ยังคงไม่มีผู้นำที่โดดเด่น จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยและร้านอาหารไทยที่จะขยายตลาดชาไทยและวัตถุดิบสำหรับทำชานมไข่มุก เนื่องจากไทยมีศักยภาพและมีตลาดชานมไข่มุกจำนวนมาก รวมทั้ง เว็บไซต์ tasteatlas ยังได้จัดอันดับให้ชาไทย หรือชานมเย็นของไทย (Thai Iced Tea) เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีรสชาติดีที่สุดในโลกในอันดับ 7 จากทั้งหมด 100 อันดับ ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในอิตาลีได้รู้จักชาไทยมากขึ้น และสามารถนำเข้าชาและส่วนผสมชานมไข่มุกจากไทย รวมทั้งอาจสอดแทรกเป็นเมนูเครื่องดื่มที่น่าลิ้มลอง และอาจนำสมุนไพรและผลไม้มาผสมในสูตรเพื่อเสนอเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้
ทั้งนี้ ตลาดชานมไข่มุกในอิตาลียังเติบโตได้อีกมาก คาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 มูลค่าตลาดโต ถึง 98 ล้านยูโร หรือ 3,600 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยที่ 18% ต่อปี ซึ่งถือเป็นโอกาสผู้ประกอบการไทย ในการร่วมลงทุนธุรกิจเครื่องดื่ม โดยนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพของไทยไปนำเสนอ เช่น ชาไทยที่มีกลิ่นหอม ชาเขียว ชามะลิ หรือชากลิ่นผลไม้ใหม่ๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ทุเรียน เสาวรส เผือก เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพและคุณภาพ ของผู้ประกอบการ และสินค้าไทย และเชื่อในการทำงานผ่านแนวทางการประเมินความนิยม กระแสตลาด และพิจารณาโอกาสที่เหมาะสมกับสินค้าไทย การประเมินผลการเติบโตของตลาดในต่างประเทศ เป็นโอกาส และช่องทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบไทยได้นำเสนอสินค้าส่งออกได้เหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมบูรณาการการทำงานให้การสนับสนุนสินค้าไทยในต่างประเทศ และเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยได้” นายอนุชา กล่าว