ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ปี 66 หนุนระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO ให้ทันปัญหาความท้าทายทั้งความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปฏิรูป WTO พร้อมย้ำสมาชิกขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ด้าน BCG การทำ FTAAP และช่วย SMEs และสตรีเข้ามามีส่วนร่วมในเอเปก
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting : MRT) ประจำปี 2566 ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน โดยในปีนี้สหรัฐฯ เน้นความสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปก “สรรค์สร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน” ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและแนวนโยบายของแต่ละสมาชิก ที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนภูมิภาคได้สอดคล้องกับหัวข้อหลักในปีนี้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดหัวข้อการหารือของรัฐมนตรีการค้าเอเปก 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องแรก การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจโลก และสามารถจัดการกับความท้าทายต่างๆ ทั้งความมั่นคงอาหาร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการค้าที่ครอบคลุม ซึ่งการปฏิรูป WTO จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ โดยไทยเรียกร้องให้เอเปกแสดงบทบาทสนับสนุนที่สำคัญในการผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 13 ในปี 2567 สามารถมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน ไทยได้รับโอกาสให้นำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform : NDTP) ของไทย ที่สามารถต่อยอดในการขับเคลื่อนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าไร้กระดาษ ภายใต้กรอบเอเปกและกรอบ WTO ด้วย
สำหรับเรื่องที่สอง การผลักดันการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม ไทยได้เน้นย้ำให้เอเปกสนับสนุนและขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ที่เป็นผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยในปี 2565 เพื่อตอบโจทย์สนับสนุนการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีความยั่งยืนและครอบคลุม ตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังสามารถส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนภายใต้ “เป้าหมายมาโนอา” ที่สหรัฐฯ ริเริ่มในปีนี้ หรือภายใต้แผนงาน FTAAP agenda Work Plan ที่ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปก ผ่านประเด็นการค้าการลงทุนดั้งเดิมและประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ ที่สมาชิกเอเปกให้ความสนใจ และยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น SMEs และสตรี เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้มากขึ้น รวมทั้งให้มีความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่เข้มแข็ง
ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก มีมูลค่า 99,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าจากกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก มูลค่า 51,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยส่งออกจากไทยไปกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก มูลค่า 48,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ