ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ มี.ค. 66 มีมูลค่า 630.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 63.77% ลงตามภาพรวมการส่งออกที่ลดลง และเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว หากรวมทองคำมีมูลค่า 2,198.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 35.50% ยอดรวม 3 เดือน ไม่รวมทองคำ ยังเพิ่ม 16.76% แต่หากรวมทองคำ ลด 24.81% แนะเจาะตลาดกลุ่มตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูง ปรับการผลิตสินค้าให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ เน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีน่าสนใจ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนมี.ค. 2566 มีมูลค่า 630.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 63.77% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกภาพรวมที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศชะลอตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง แต่หากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,198.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 35.50% และรวม 3 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 2,216.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.76% และรวมทองคำ มูลค่า 4,125.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 24.81%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยสหรัฐฯ ลด 4.94% เยอรมนี ลด 17.08% สหราชอาณาจักร ลด 21.76% เบลเยียม ลด 10.61% อินเดีย ลด 67.42% แต่ฮ่องกง เพิ่ม 189.80% อิตาลี เพิ่ม 76.39% กาตาร์ เพิ่ม 1,464.55% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 58.81%
ส่วนสินค้าสำคัญ มีทั้งลดลงและเพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 68.72% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 43.90% พลอยก้อน เพิ่ม 27.63% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 150.70% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 159.42% อัญมณีสังเคราะห์ เพิ่ม 17.84% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 17.35% เพชรก้อน ลด 28.98% เพชรเจียระไน ลด 28.48% เครื่องประดับเทียม ลด 13.99% และทองคำ ลด 46.80%
นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่ปรับตัวลดลง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกปีนี้จะโต 1.7% ลดจากปีก่อนที่ 2.7% เป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อ และการคุมเข้มด้านนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ จากปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากภาคการเงินมีความยืดหยุ่นและสถานะการเงินที่ยังเข้มแข็ง ผู้ส่งออกควรเริ่มพิจารณาการค้าในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากแนวโน้มของการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้นและมีอนาคตที่สดใส และควรปรับการผลิตสินค้าที่ช่วยสร้างความรู้สึกสุขกายสบายใจ มีความคุ้มค่า มีการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อให้เกิดการยอมรับในสังคม สร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเทคโนโลยีน่าสนใจ ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาประยุกต์ในการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค