“คมนาคม” สอบส่วยสติกเกอร์ สั่งทล.-ทช.เร่งจัดหากล้อง (Body Camera) ติดตามตัวด่านเคลื่อนที่อุดช่องโหว่ทุจริต คาดใช้งบเหลือจ่ายเร่งจัดหา ส่วนด่านถาวรใช้เทคโนโลยีเกือบหมดทุจริตยาก เร่งประสาน ขบ.เชื่อมระบบ GPS รถบรรทุกเพิ่มศักยภาพตรวจจับกรณีฝ่าด่าน นัดประชุมอีก 20 มิ.ย.
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงาน ของคณะทำงานฯ ที่มีนายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ที่ได้รวบรวมข้อมูลและได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 ของกรมทางหลวง (ทล.) ร่วมตรวจสอบการทำงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นและเข้าใจการทำงานของด่านชั่งน้ำหนักถาวร ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมด และมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตค่อนข้างน้อยมาก
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตรวจสอบกระบวนการที่เกี่ยวข้องและมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้ พบว่าจุดที่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือตัดสินใจมีโอกาสในการเกิดทุจริตได้ ดังนั้นจึงให้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการให้มากที่สุด เพื่อลดการใช้คนเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเป็นการลดโอกาสเกิดการทุจริตลงไป ซึ่งปัจจุบันด่านชั่งน้ำหนักถาวร คือสถานีตรวจสอบน้ำหนัก (Static) ซึ่งอยู่บนถนนสายหลัก ใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการเกือบทั้งหมด มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องน้อย ลดโอกาสในการทุจริต แต่หน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ซึ่งเป็นด่านเคลื่อนที่ตามถนนสายรองที่รถบรรทุกมักจะวิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงด่านชั่งน้ำหนักถาวรบนถนนสายหลัก แต่ Spot Check ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้คนในการพิจารณา จึงยังมีโอกาสที่ทำให้เกิดการทุจริตได้
ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พิจารณาทบทวนกระบวนการทำงานของด่านเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อให้มีความโปร่งใสและลดโอกาสเกิดทุจริตลง โดยให้พิจารณาเพิ่มอุปกรณ์ คือ กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ (Body Camera) เพื่อบันทึกความเคลื่อนไหวระหว่างการปฏิบัติงานจับกุมของภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) และในระยะยาวกรมทางหลวง มีแนวคิดในการเชื่อมสัญญาณ Body Camera ออนไลน์เข้าสู่ส่วนกลางแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นการควบคุมอีกชั้น แต่ทั้งนี้ มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าจะใช้เงินจากการจับกุมและทางหลวงชนบทจะใช้งบเหลือจ่ายซึ่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปวางแผนเร่งรัดการจัดหาเพื่อให้ได้เริ่มใช้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ในส่วนบุคลากร กรมทางหลวงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ โดยมีการประสานข้อมูล กับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ว่ามีข้อมูลบุคลากรของกรมทางหลวง ที่เข้าข่าย หรือมีส่วนร่วมกับกระบวนการส่วยสติกเกอร์อย่างไรบ้าง และให้นำข้อมูลมาสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป โดยแผนการดำเนินงานทั้งการจัดหา Body Camera และด้านบุคลากร ให้นำรายงานต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 มิ.ย. 2566
“ในระหว่างนี้ไม่ได้ต้องการให้ด่านเคลื่อนที่ (Spot Check) หยุดการทำงานไปเลย เพราะจะกลายเป็นช่องว่างให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบนถนนสายรอง ดังนั้น ในระหว่างนี้หน่วยงานจะต้องเพิ่มกระบวนการตรวจสอบการทำงานเพื่อให้มีความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดและสอบสวนได้ผลที่สุด จะมีบทลงโทษทางวินัย ตั้งแต่ ภาคทัณฑ์, ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน, ปลดออก, ไล่ออก ตามลำดับ ซึ่งไม่รวมส่วนโทษทางแพ่งและอาญา ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป”
@เร่งประสาน ขบ.เชื่อมระบบ GPS รถบรรทุกเพิ่มศักยภาพตรวจจับ
ผู้สื่อข่าวสอบถาม การเชื่อมต่อข้อมูลระบบ GPS รถบรรทุก กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามรถบรรทุกที่หลบเลี่ยงไม่เข้าด้านชั่งน้ำหนัก มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายพิศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการเชื่อมข้อมูล GPS รถบรรทุกระหว่าง กรมการขนส่งทางบก กับกรมทางหลวง ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริตครั้งนี้ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมากรมการขนส่งฯ อาจจะยังติดขัดปัญหา ทำให้ยังไม่สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้ แต่จะประสานเร่งรัดให้ดำเนินการต่อไป
นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล.มีด่านชั่งถาวร หรือสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละด่านจะมีหน่วยเคลื่อนที่ (Spot Check) 1 ชุด ที่จะทำหน้าที่ออกไปตรวจ กรณีที่ได้รับแจ้งหรือมีข้อมูล มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินหลบเลี่ยงด่าน ขณะที่ในส่วนกลางมีหน่วย Spot Check อีก 12 ชุด เพื่อตรวจสอบซ้ำ (cross check) อีกชั้น และมีการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ทำงานในแต่ละภารกิจจะใช้ระบบสุ่ม (random) เจ้าหน้าที่ในการออกตรวจสอบตามภารกิจหรือเรื่องที่ได้รับร้องเรียน
ขณะนี้อธิบดีกรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1. ตรวจสอบด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ตามรายชื่อที่มีร้องเรียนมาสอบสวนข้อเท็จจริง 2. คณะทำงานด้านประสิทธิภาพด่านชั่งน้ำหนักที่เน้นใช้เทคโนโลยีดำเนินการทุกขั้นตอนและลดการใช้คนตัดสินใจ ส่วนหน่วย Spot Check จะเร่งรัดจัดหา Body Camera เบื้องต้นจะพิจารณางบเหลือจ่าย เร่งดำเนินการ ซึ่งจะทำแผนจัดหาเป็นระยะเร่งด่วนเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป รวมถึงการทำเป็นระบบออนไลน์เชื่อมภาพเข้าส่วนกลางแบบเรียลไทม์ด้วย
ส่วนแผนระยะยาว มีทั้งแนวทางการเชื่อมต่อข้อมูลระบบ GPS รถบรรทุก กับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม และการจับกุมรถบรรทุกที่หลบเลี่ยงหรือฝ่าด่าน ซึ่งกรณีรถน้ำหนักเกินที่ด่านชั่งน้ำหนักถาวร (Static) สามารถดำเนินการจับกุมได้ตามกฎหมาย แต่จะมีกรณีรถน้ำหนักเกินจากการตรวจของระบบ WIM ก่อนถึงด่านถาวรประมาณ 1 กม. จะมีเซ็นเซอร์ติดตั้งไว้บนพื้นถนน จับน้ำหนักขณะรถวิ่งผ่าน ซึ่งเมื่อรถบรรทุกน้ำหนักเกินแต่ไม่เข้าด่านชั่งถาวร หรือฝ่าด่าน ตรงนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ การมีระบบ GPS จะช่วยได้มาก
จากสถิติสัดส่วนการจับรถน้ำหนักเกินที่ด่านชั่งน้ำหนักถาวร คือ 40% ติดตามจับนอกด่าน ด้วยหน่วย Spot Check 60% สำหรับเงินค่าปรับน้ำหนักเกิน เฉลี่ยประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งรายได้ เข้าแผ่นดิน 20%, ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 20% (ทล.นำมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้งานประจำด่าน เช่น เสื้อกั๊กจราจร กรวยจราจร กระบอกไฟจราจร เป็นต้น), เงินสินบนรางวัล 60% (สำหรับเจ้าหน้าที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้แจ้งเบาะแส)
ส่วนกรมทางหลวงชนบท ด่านชั่งน้ำหนักถาวร 5 แห่ง ได้แก่ สาย นย. 3001 จ.นครนายก, สาย ฉช.3001 จ.ฉะเชิงเทรา, สาย นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) จ.นนททบุรี, สาย ชม.3035 จ.เชียงใหม่, สาย สค.2055 จ.สมุทรสาคร มีหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) 95 ชุด หรือประจำทุกแขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศ และมีชุดเฉพาะกิจจากส่วนกลางออกตรวจสอบการทำงานของแต่ละจังหวัดด้วย