ผู้ตรวจฯ คมนาคมลุยสอบปมสติกเกอร์ "ส่วยรถบรรทุก" ตรวจด่านชั่งน้ำหนักอยุธยา มีระบบคัดกรอง 2 ชั้น เจอผิดจับปรับ ไม่มีละเว้น ทล.สั่งย้ายเจ้าหน้าที่ด่านชั่งสุวินทวงศ์และตั้งสอบแล้วหลังถูกร้อง เผยรถวิ่งขวาหนีด่านชั่งติดตามยาก จ่อขอเชื่อมระบบ GPS กรมการขนส่งฯ
วันที่ 7 มิ.ย. 66 นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานในการพิจารณาข้อมูลรายละเอียด และประเด็นเพิ่มเติมกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 ของกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อตรวจสอบการทำงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี และดูการทำงานของสถานีตรวจสอบน้ำหนัก (Static) และระบบ WIM และหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check)
นายมนตรี เดชาสกุลสม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก พร้อมทั้งพาสื่อมวลชนมาร่วมด้วยนั้น เพื่อให้เห็นวิธีการทำงานของระบบและเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ว่ายังมีประเด็นหรือข้อสังเกตที่จะเกี่ยวข้องกับกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่และการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุกหรือไม่อย่างไร ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สติกเกอร์มีกี่แบบ และมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร
ส่วนสถานีชั่งน้ำหนักนั้น มีการใช้เทคโนโลยีแบบ Static และระบบด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (Weigh in Motion : WIM) ซึ่งมีซอฟต์แวร์ทำงานร่วมกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้บนพื้นถนนเป็นการตรวจวัดน้ำหนักขณะรถวิ่ง ซึ่งจะติดตั้งไว้ก่อนถึงสถานีตรวจสอบน้ำหนักประมาณ 1 กม. เพื่อช่วยคัดกรองรถ หากระบบ WIM ตรวจจับว่ารถคันใดมีน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด ขึ้นข้อความ “เข้าชั่ง” ให้รถคันนั้น เข้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักเพื่อตรวจสอบแบบ Static ส่วนคันที่ระบบ WIM คัดกรองว่าน้ำหนักไม่เกินข้อความขึ้นว่า “ผ่านได้” คือไม่ต้องเข้าด่านชั่ง โดยทั่วประเทศมีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่ง โดยสถานีที่ระบบ WIM ด้วยมีจำนวน 37 แห่ง โดยคณะทำงานฯ จะเร่งรัดให้ทล.ดำเนินการติดตั้ง WIM ให้ครบถ้วนเพื่อลดการใช้เจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบให้มากที่สุด
@เก็บข้อมูลทุกส่วนตรวจสอบ เจอเจ้าหน้าที่มีเอี่ยว สอบวินัยเอาผิดขั้นเด็ดขาด
นายมนตรีกล่าวว่า กรมทางหลวงระบุว่ามีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีชั่งน้ำหนักเป็นประจำทุก 8 เดือน เพื่อช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสติกเกอร์และการติดสินบน ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (8 มิ.ย.) ทราบว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จะเข้าพบ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ รักษาการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) ซึ่งจะมีผู้แทนกรมทางหลวงเข้าร่วมประชุมด้วย หากมีข้อมูลเพิ่มเติมคณะทำงานฯ จะนำมาพิจารณาเพิ่มเติม
“คณะทำงานฯ จะรวบรวมข้อมูลทั้งการทำงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นเข้ามาพิจารณาด้วย ซึ่งกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีข้อสงสัย ทางอธิบดีกรมทางหลวงจะสั่งย้ายออกจากพื้นที่และหากมีข้อมูล จะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและหากพบมีมูล จะตั้งสอบวินัยตามขั้นตอน ซึ่งให้ สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวงส่งรายงานสถิติเรื่องการสอบสวนเจ้าหน้าที่เข้ามาด้วย”
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยืนยันนโยบายชัดเจนในการรักษากฎหมายเคร่งครัดและส่งเสริมการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ที่เป็นธรรม รถบรรทุกทุกคันต้องเข้าสู่ระบบกฎหมายเท่าเทียมกัน จะมีส่วยสติกเกอร์ไม่ได้เด็ดขาด หากการสอบสวนขยายผลไปพบเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะระดับใด จะดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาด
@ย้ายเจ้าหน้าที่ด่านชั่งสุวินทวงศ์ ตั้งสอบข้อเท็จจริงแล้ว
นายอลงกรณ์ พรหมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง กล่าวว่า กรณีที่ได้รับข้อร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ว่ามีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักสุวินทวงศ์ เกี่ยวข้องกับสติกเกอร์ ทล.ได้มีคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่ไปที่ จ.สระแก้ว ซึ่งไม่ให้ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบน้ำหนัก และตั้งสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากมีผลอย่างไรก็จะดำเนินการตามระเบียบต่อไป ในขณะเดียวกันทาง ป.ป.ท.ได้สอบเรื่องนี้ด้วย โดย ทล.ได้ให้ข้อมูลอย่างเต็มที่
โดยเมื่อช่วงเช้า ที่ด่านตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา ตรวจจับกุมรถบรรทุกทรายน้ำหนักเกิน 2 คัน ซึ่งบริษัทขนส่งดังกล่าวแย้งว่าขับผ่านประจำหลายปี น้ำหนักไม่เคยเกิน นายอลงกรณ์กล่าวว่า ระบบชั่งน้ำหนักที่ด่านมีการตรวจสอบจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ทุกปีต่อเนื่อง เพื่อความแม่นยำในการบังคับใช้กฎหมาย กรณีพบบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนดจะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 23 และมาตรา 61 และบทลงโทษตามมาตรา 70 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 73/2 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานจะมีด่านชั่งน้ำหนักทั้งสิ้น 128 ด่าน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 97 ด่าน นอกจากนี้ที่ส่วนกลางยังมี เครื่องตรวจน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) อีก 12 ชุด เพื่อดำเนินการสุ่มตรวจอีกชั้น ป้องกันการทุจริต ซึ่งสถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นทุกปี
@ วิ่งขวาหนีด่าน ติดตามยาก ประสานกรมการขนส่งฯ พิจารณาให้เชื่อมระบบ GPS รถบรรทุก
รายงานข่าวแจ้งว่า สถานีด่านตรวจสอบน้ำหนักที่ไม่มีระบบ WIM อีกประมาณ 60 แห่ง ซึ่ง ทล.ได้เสนองบประมาณดำเนินการ ที่ผ่านมาได้ประมาณปีละ 3-4 ชุด (เบื้องต้นชุดละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ขึ้นกับจำนวนช่องจราจรที่จะติดตั้งด้วย) งบประมาณที่กรมทางหลวงได้รับแต่ละปีจะดำเนินการติดตั้งได้เพียง 1-2 เลน หรือบางจุดติดตั้งได้เพียง 1 เลนซ้ายสุดเท่านั้น แต่รถบรรทุกไม่ได้วิ่งเลนซ้ายทุกคัน จะมีวิ่งเลนขวาเพื่อหลีกเลี่ยงระบบ WIM ตรวจไม่ได้ จึงเป็นอีกจุดที่ยังมีช่องโหว่
โดยเมื่อรถบรรทุกไม่เข้าด่านชั่งเจ้าหน้าที่ต้องติดตาม แต่ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีระบบติดตามหรือ GPS ซึ่งเคยมีการเสนอกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการเชื่อมระบบ GPS รถบรรทุก กับศูนย์ของทางหลวงแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะหากสามารถต่อเชื่อมระบบ GPS ติดตามรถบรรทุก กรมการขนส่งฯ ได้ จะทำให้การติดตามรถบรรทุกที่จงใจหลีกเลี่ยงการเข้าด่านชั่งน้ำหนักได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจากสถิติสัดส่วนการจับรถน้ำหนักเกินที่ด่านชั่งน้ำหนักได้ 40% ติดตามจับนอกด่าน 60%
จากข้อมูลพบว่าถนนทั่วประเทศมีประมาณ 700,000 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงประมาณ 70,000 กิโลเมตร ที่เหลือเป็นของกรมทางหลวงชนบท ถนนของท้องถิ่น โดยระยะทาง 70,000 กม.มีสถานีตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่ง ค่าเฉลี่ย 700 กว่า กม.ต่อ 1 สถานี
ด้านนายชวลิต ทิพากรวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารสินทรัพย์ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ถนนของกรมทางหลวงชนบทมีด่านชั่งน้ำหนักถาวร 5 แห่ง ได้แก่ สาย นย. 3001 จ.นครนายก, สาย ฉช.3001 จ.ฉะเชิงเทรา, สายนบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) จ.นนทบุรี, สาย ชม.3035 จ.เชียงใหม่, สาย สค.2055 จ.สมุทรสาคร มีระบบ WIM จำนวน 9 จุด และมีหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) 95 ชุด โดยมีแผนติดตั้งด่านถาวรอีก 145 แห่ง