xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ตั้งสอบฯ สติกเกอร์ "ส่วยรถบรรทุก" สรุปใน 15 วัน ใครมีเอี่ยวลงโทษตามกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสติกเกอร์ "ส่วยรถบรรทุก" เหตุดูแลด่านชั่งน้ำหนักบนถนน ขีดเส้น 15 วันต้องชัดเจน พบมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมาย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากกรณี มีข่าวการจ่ายเงินของผู้ประกอบการรถบรรทุกเพื่อซื้อสติกเกอร์ที่มีลักษณะพิเศษจากนายหน้า สำหรับใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่ารถบรรทุกที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าวมีการจ่ายเงินเพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดเส้นทางของการขนส่งแล้ว ทำให้รถบรรทุกข้างต้นสามารถเดินทางและประกอบกิจการขนส่ง โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากด่านชั่งน้ำหนักตามเส้นทางต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาจส่งผลให้ประชาชนอาจเกิดความสงสัยในความโปร่งใสของการปฏิบัติงานของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงฯ จนอาจกระทบถึงภาพลักษณ์โดยรวมได้

กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว โดยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน

โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต สำนักงานปลัด กระทรวงคมนาคม และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ

มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า กรณีดังกล่าวมีมูลเป็นความจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด โดยให้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 โดยหากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามความจำเป็น และเหมาะสม สามารถเชิญบุคคลหรือผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ รวมถึงเรียกเอกสาร พยานหลักฐานต่างๆ จากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตรวจสอบได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมถึงจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนและตรวจสอบทุกประเด็นด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น