xs
xsm
sm
md
lg

แยกประเภท “ส่วยรถบรรทุก” วิเคราะห์หา “ขบวนการ” ร่วมมือคอรัปชั่นระดับชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“รถบรรทุกที่น้ำหนักเกินไปมาก แต่ออกมาวิ่งได้ พวกนี้เอาเปรียบสังคมนะครับ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ร่วมมือกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ จ่ายส่วยเป็นรายเดือนเพื่อให้บรรทุกน้ำหนักได้มากๆ เขาก็เอากำไรที่ได้จากการบรรทุกเกินมาแบ่งเป็นค่าส่วย จากนั้นเงินส่วยก็ถูกส่งต่อกันไปอีกหลายทอดในระบบ ไม่ได้หยุดอยู่แค่การรับเงินในท้องที่นั้นๆ เท่านั้น”

ชำนัญ ศิริรักษ์ เป็นทนายความที่เคยทำคดีส่วยรถบรรทุก จนทำให้ตำรวจถูกตัดสินจำคุกและต้องออกจากราชการมาแล้ว เปิดเผยให้เห็นถึง “วงจรผลประโยชน์ขนาดใหญ่” ที่ทำให้ปัญหา “ส่วยรถบรรทุก” เป็นปัญหาที่เรื้องรังมานานในสังคมไทย เพราะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันหลายฝ่ายใช่หรือไม่ จึงต้องตรวจสอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ตั้งแต่ตำรวจ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มกำไรด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกิน รวมไปถึงด่านชั่งน้ำหนักต่างๆ และยังต้องตรวจสอบด้วยว่าเงินถูกส่งต่อไปตามสายบังคับบัญชาอีกหรือไม่ เพราะมีเงินหมุนเวียนในระบบนี้ในหลักพันล้านบาทต่อปี

นั้นเป็นเพียงประเภทที่หนึ่งของส่วยรถบบทุก

เมื่อประมาณปี 2560-2561 ทนายชำนัญ รับทำคดี “ส่วยรถบรรทุก” ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออก โดยรถบรรทุกของผู้ประกอบการรายนี้ ถูกตำรวจตั้งด่านเรียกเข้าไปตรวจค้น และทั้งที่ไม่สามารถตั้งข้อหาความผิดได้ แต่ตำรวจกลับให้หมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอติดต่อเจ้าของบริษัทให้โทรมาเคลียร์ และในที่สุดก็เรียกรับเงิน โดยแลกกับการที่จะอำนวยความสะดวกในการวิ่งรถให้ ซึ่งคนที่โทรมาคุยกับตำรวจรายนี้แท้จริงแล้วก็คือ ทนายชำนัญ

“ทางตำรวจเขาบอกคนขับรถว่าให้เถ้าแก่โทรมาเคลียร์ ทางผู้ประกอบการก็ให้ผมทำทีเป็นเถ้าแก่โทรไปคุย ปรากฎว่า ตำรวจนายนั้นได้เสนอเงื่อนไขว่า ถ้าจ่ายเงินเป็นรายเดือนเขาก็จะอำนวยความสะดวกไห้ได้ตลอดเส้นทาง ชลบุรี – ระยอง คือ ให้วิ่งเลนขวาได้ ทำความเร็วได้ แต่งตัวไม่เรียบร้อยได้ ไม่จับเรื่องไฟหน้าไฟท้ายเสีย แต่ห้ามฝ่าไฟแดง พูดง่ายๆคือจะไม่มาก่อกวนจับกุมในเรื่องจุกจิกต่างๆ พอเราแกล้งทำเป็นตกลง เขาก็ส่ง QR Code มาให้ผมโอนเงินไป ผมก็โอนเงินไปและเก็บสลิปไว้ ตรวจสอบหมายเลขบัญชีพบว่าเป็นของภรรยาของนายตำรวจคนนั้น จึงทำเรื่องส่งฟ้องจนตำรวจนายนี้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ และถูกตัดสินจำคุก แต่เขายอมรับผิดคนเดียว ไม่ซัดทอดใครต่อเลย ทั้งที่เราเห็นเส้นทางเงินมันไปต่ออีกหลายทอด”

ทนายชำนัญ เล่าถึงคดีที่เคยทำไว้ เพื่ออธิบายให้เห็น ประเภทที่สองของการเรียกเก็บส่วย


ดังนั้น ทนายชำนัญได้แยกประเภทของ “ส่วยรถบรรทุก” ออกมาดังนี้

ประเภทที่ 1 ...เป็นขบวนการที่ร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายกับผู้ประกอบการรถบรรทุกบางรายที่ต้องการกำไรเพิ่มจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน และนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้กำไรเพิ่มมาจ่ายส่วย เป็นกลุ่มที่เอาเปรียบสังคม ทำให้ถนนเสียหาย เอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นที่ทำถูกต้อง กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ใช้ “สติกเกอร์” เป็นสัญลักษณ์

ประเภทที่ 2 ...ผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจมีความผิดเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เช่น วิ่งเลนขวา ไฟขาด แต่งตัวไม่เรียบร้อย ผ้าคลุมกันฝุ่นไม่เรียบร้อย โดยจะถูกเรียกตั้งข้อหาให้เสียค่าปรับแบบจุกจิก พร้อมถูกยื่นข้อเสนอ “บีบ” ให้เจ้าของบริษัท “เข้ามุม” ต้องยอมจ่ายส่วยเป็นรายเดือนแทน ด้วยแรงจูงใจว่าเสียน้อยกว่าการถูกเรียกเก็บบ่อยๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสียเปรียบเรื่องผลประกอบการอยู่แล้วจากการทำถูกกฎหมาย แต่ยังถูกเรียกรับส่วนจากการที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ สามารถใช้ “ดุลพินิจ” ในการจับกุมรถได้อีก กลุ่มนี้ไม่มีสติกเกอร์ แต่จะรู้กันว่าบริษัทไหนจ่ายแล้วบ้าง

ประเภทที่ 3 ...รถบรรทุกของสถานประกอบการขนาดใหญ่ แบรนด์ดัง กลุ่มนี้จะมีโลโก้แบรนด์เด่นอยู่ที่รถ ไม่ถูกเรียกเก็บส่วยตามรายทาง และไม่ต้องซื้อสติกเกอร์

เมื่อแยกประเภทแล้ว ทนายชำนัญ จึงสรุปสาเหตุที่ “ส่วยรถบรรทุก” เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนานและแก้ไขไม่ได้ โดยวิเคราะห์ได้ว่า นี่เป็นขบวนการที่มีผลประโยชน์แอบแฝงจำนวนมหาศาล มีผู้ได้รับผลประโยชน์ไล่ขึ้นไปเป็นลำดับขั้น และมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลรายใหญ่

“ถึงจะมีรถบรรทุกบางรายร่วมมือด้วย แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เขาไม่ชอบจ่ายส่วยหรอกครับ มันเพิ่มต้นทุนเขาเยอะมาก เราต่างก็รู้กันว่า ถนนในประเทศไทย มีมาตรฐานการรับน้ำหนักได้ต่ำกว่าบางประเทศในอาเซียนนะครับ เคยมีผู้ประกอบการเขาเสนอให้แก้กฎหมายให้บรรทุกน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับปรุงถนนรับให้รับน้ำหนักรถบรรทุกได้ เสนอให้เปลี่ยนมาตรฐานไปเลย แต่ฝ่ายรัฐบาลก็กดลงมาเท่าเดิม โดยอ้างว่า ถนนเรารับไม่ได้

มันก็มีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมประเทศอื่นเขาทำถนนที่รับน้ำหนักได้มากกว่าไทยได้ หรือแม้จริงแล้ว ตัวเลขน้ำหนักที่เรากำหนดไว้ มันไปผูกโยงกับผลประโยชน์อื่น จนต้องกดไว้อย่างเดิมใช่หรือไม่ ดังนั้น สติกเกอร์มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น มันต้องแก้ทั้งระบบครับ”ทนายชำนัญ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น