“คมนาคม” ถกนัดแรกสอบข้อเท็จจริงส่วยสติกเกอร์ “รถบรรทุก” ตั้งคณะทำงานย่อยสอบลึก นัดใหม่ 9 มิ.ย. ทล.ยันด่านชั่งน้ำหนักใช้ระบบไอทีตรวจอัตโนมัติ เชื่อมข้อมูลส่วนกลาง สกัดเจ้าหน้าที่ทุจริต และสับเปลี่ยนพื้นที่ทุก 8 เดือน เผยสถิติรอบ 4 ปีจับได้เพิ่ม สะสมกว่า 1 หมื่นคัน
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 1 โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก คณะกรรมการ ผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้าร่วมประชุม
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานในการพิจารณาข้อมูลรายละเอียด และประเด็นเพิ่มเติมกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ซึ่งคณะทำงานฯ มี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยจะมีอำนาจสามารถตรวจสอบ ชี้แจง ได้อย่างชัดเจน ครอบคลุม และรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้ให้คณะทำงานตรวจสอบฯรายงานผลให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ทราบภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม คือ ด่านชั่งน้ำหนักของกรมทางหลวง (ทล.) ว่า สามารถผ่านฉลุยได้ตามที่มีผู้ให้ข้อมูลในข่าวหรือไม่ โดย ทล.ชี้แจงว่าด่านชั่งน้ำหนักฯ ตามแผนงานจะมีจำนวนทั้งสิ้น 128 ด่าน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 97 ด่าน ซึ่งด่านชั่งน้ำหนักฯ ใช้ระบบเทคโนโลยีในการตรวจจับน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ปี 2549 เพื่อคัดกรองรถบรรทุกที่มีแนวโน้มน้ำหนักเกิน (Weight in Motion: WIM) เพื่อเรียกเข้ามาชั่งน้ำหนักที่ด่านอีกครั้ง หากพบว่าน้ำหนักเกินจะจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยระบบ WIM จะส่งข้อมูลการชั่งน้ำหนักไปที่ส่วนกลางด้วย
ทล.ใช้ระบบไอทีตรวจจับน้ำหนัก ดังนั้นข้อกล่าวหากรณีมีการติดสติกเกอร์แล้วไม่ต้องชั่งน้ำหนักที่ด่าน คงทำไม่ได้ ซึ่งได้มอบหมายให้ ทล.จัดทำคลิปวิดีโอของระบบที่ใช้ในด่านชั่งน้ำหนักฯ และเชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสต่อไป
อย่างไรตาม กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนและตรวจสอบทุกประเด็นด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป
นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก ทล.ใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ใช้คนในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกแต่อย่างใด จึงไม่เกี่ยวว่ารถจะมีสติกเกอร์หรือไม่ และเมื่อระบบที่ด่านฯ ตรวจน้ำหนักรถบรรทุกแต่ละคันแล้ว หากพบมีน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนดจะส่งผลมายังศูนย์ควบคุมกลางเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับต่อไป
ปัจจุบัน ทล.มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจชั่งน้ำหนัก และให้หัวหน้าด่านฯ สลับพื้นที่ประจำหน่วยทุกๆ 8 เดือน เพื่อป้องกันการทำผิด อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม และเพื่อความโปร่งใส ขณะนี้ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เตรียมลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของ ทล.อีกชั้นหนึ่งด้วย
สำหรับสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในส่วนของกรมทางหลวง ย้อนหลัง 4 ปี (ปี 2563-2566) พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีจำนวน 2,796 คัน ปี 2564 มีจำนวน 2,891 คัน ปี 2565 มีจำนวน 3,488 คัน และปีงบประมาณ 2566 เก็บข้อมูลถึงวันที่ 17 พ.ค. 2566 มีจำนวน 2,431 คัน
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในส่วนของขบ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในกรณีข่าวสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก โดยวันนี้ (31 พ.ค. 2566) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยมีนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดี และโฆษก ขบ.เป็นประธาน เพื่อรวมรวบข้อมูลตรวจสอบเกี่ยวกับการร้องเรียนส่วยรถบรรทุก รวมถึงรถขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่ ขบ.กำกับและดูแล โดยให้ดำเนินการสรุปภายใน 15 วัน เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมให้รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนรถ จะต้องตรวจสอบสภาพรถ อุปกรณ์ส่วนควบ และการชำระภาษี ตามเงื่อนไขและกฎหมาย ซึ่งได้เน้นย้ำนโยบายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง โปร่งใส เพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์จากการทำงานมาโดยตลอด หากคณะกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดส่วยรถบรรทุก หรือระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ขบ.กระทำผิดจะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยและตามกฎหมายขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ซึ่งหากรุนแรงถึงขั้นให้ออกจากราชการ