"ปลัดคมนาคม" ร่วมกล่าวเปิดและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในภาคผนวกที่ 7 ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเทคนิคด้านการบิน "ไทย-
ฝรั่งเศส" มุ่งยกระดับตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ ICAO
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมกล่าวเปิดและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในภาคผนวกที่ 7 (Annex VII) ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเทคนิค (MOU on Technical Cooperation) ระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Directorate General for Civil Aviation of France : DGAC) ร่วมกับ Mr. Thierry Mathou เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมี นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. และ Mr. Damien Caze ผู้อำนวยการ DGAC เป็นผู้ลงนามในบันทึกฯ และ Mr. Thibaut Lallemand ผู้อำนวยการความร่วมมือภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เข้าร่วมพิธีฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กรุงเทพฯ
นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยเน้นการให้บริการที่มีความปลอดภัย (Safety & Security)
ทั้งนี้ ประเทศไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน โดยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระบบราง เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายและประสบการณ์ด้านการขนส่งทางรางระหว่างกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 เมื่ออนุสัญญาฯ ดังกล่าวหมดอายุลง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ทั้งสองฝ่ายจึงได้เห็นชอบให้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งฉบับใหม่ คือ ปฏิญญาแสดงเจตจำนงฯ ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการขนส่งให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งระบบราง การขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมทั้งมุ่งหวังที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันเกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืน
สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับที่ได้มีการลงนามในวันนี้ เป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเทคนิค (MOU on Technical Cooperation) ประกอบด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กพท. กับ DGAC มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินการของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติ (Standards and Recommended Practices : SARPs) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และมาตรฐานสากลอื่นๆ
โดยแบ่งขอบเขตความร่วมมือออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. แผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ (State Safety Programme : SSP)
2. องค์กรและการฝึกอบรม (Organization and Training)
3. ด้านความสมควรเดินอากาศ (Airworthiness : AIR) ด้านการปฏิบัติการบิน (Flight Operations : OPS) และด้านผู้ประจำหน้าที่ (Personnel Licensing : PEL)
พิธีลงนามในภาคผนวกที่ 7 (Annex VII) ในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือจากภาคผนวกที่ 6 (Annex VI) ซึ่งได้รับการลงนามไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายในสาขาคมนาคมขนส่งอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป