กบร.เห็นชอบร่างข้อบังคับ กพท.ฉบับใหม่ "ยกระดับมาตรฐานคุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตช่างซ่อมอากาศยาน" คาดประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลก่อนสิ้นปี 66 และเห็นชอบทบทวนแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติเทียบเคียงสากล
วันที่ 8 พ.ค. 2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ .. ว่าด้วย คุณสมบัติและสิทธิทำการของผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่นายช่างภาคพื้นดิน ฉบับใหม่ เพื่อพัฒนาและยกระดับกฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่นายช่างภาคพื้นดินรวมถึงสิทธิทำการของผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ลดขั้นตอนให้เกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้เสนอ กบร.เพื่อยกเลิกข้อบังคับฉบับเดิม (ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 77 ว่าด้วยคุณสมบัติและสิทธิทำการของผู้ขออนุญาตเป็นนายช่างภาคพื้นดิน บังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551) และขอความเห็นชอบร่างข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ .. ว่าด้วย คุณสมบัติและสิทธิทำการของผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่นายช่างภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นร่างข้อบังคับฉบับใหม่แทน
โดยการปรับปรุงร่างข้อบังคับฉบับนี้ เทียบเคียงกับมาตรฐานของสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA), Part-66 Aircraft Maintenance License (AML) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานผู้ถือใบอนุญาตนายช่างภาคพื้นดินและอุตสาหกรรมการบิน ทำให้ช่างซ่อมอากาศยานของไทยที่ถือใบอนุญาตมีมาตรฐานคุณสมบัติเทียบเคียงสากล ยกระดับมาตรฐานข้อบังคับให้เป็นปัจจุบันและมีมาตรฐานชัดเจนเทียบเท่านานาชาติ รวมถึงสามารถปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นระบบ
โดยร่างข้อบังคับฯ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผู้ถือใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ นายช่างภาคพื้นดินของสายการบิน ผู้ให้บริการหน่วยซ่อมอากาศยาน และสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ คือการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) และการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ CAAT เมื่อร่างข้อบังคับฯ ผ่านการเห็นชอบจาก กบร.แล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะดำเนินการออกข้อบังคับฯ และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะมีผลก่อนสิ้นปีนี้
และเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 กรอบทางกฎหมายด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 (Convention on International Civil Aviation) หรืออนุสัญญาชิคาโก ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดให้รัฐภาคีต้องจัดทำแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Aviation Security Programme : NCASP) ซึ่งมีความสำคัญในระดับกฎหมายลำดับรองเพื่อให้กิจการการบินของประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย ปลอดจากการกระทำาอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ประเทศไทยได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ โดยได้รับการอนุมัติจาก กบร.มีผลใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา และได้มีการแก้ไขปรับปรุงแผนฯ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทย อีกทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานจริงของผู้ดำเนินการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนเพิ่มมากขึ้นเป็นระยะมาอย่างต่อเนื่อง
การเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนฯ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 เพื่อยกระดับมาตรการการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติล่าสุดของภาคผนวกที่ 17 ของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด (ครั้งที่ 18) ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับสากลแล้ว ยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาการตีความและความไม่ชัดเจน สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ ร่างปรับปรุงแก้ไขแผนฯ ดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองและการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว