กพท.ถกสายการบินจีน จัด SLOT เพิ่มเข้าไทยเป็น 400 -500 เที่ยวบิน/สัปดาห์ หรือ1,600 เที่ยวบิน/เดือน หลังเร่งสุวรรณภูมิทะลวงคอขวด เพิ่มผู้ให้บริการภาคพื้นชั่วคราวอีก 2 ราย ระหว่างรอประมูล PPP รายที่ 3
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายการบินจากประเทศจีน ที่มีความต้องการเปิดทำการบิน และเพิ่มความถี่มาที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง แต่สามารถจัดสรรให้ได้ 10-20% ของความต้องการเท่านั้น เนื่องจาก สนามบินสุวรรณภูมิ มีข้อจำกัดในเรื่องการบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น ซึ่งล่าสุดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ได้มีการจัดหาผู้ให้บริการบริการภาคพื้น 2 ราย คือ บริษัท บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) และบริษัท พัทยาเอวิเอชั่นจำกัด มาช่วยให้บริการแบบชั่วคราว จนกว่า ทอท.จะประมูล PPP คัดเลือกผู้ให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 ได้ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของบริการและรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 กพท. ได้มีการประชุมร่วมกับสายการบินจีนกว่า 10 สายเพื่อจัดสรรเที่ยวบินเพิ่มเติม ให้ตามที่ต้องการ และเป็นไปตามสิทธิ์ SLOT ที่ได้จัดสรรในตารางบินฤดูร้อน (Summer Schedule) โดยเบื้องต้น คาดว่าเที่ยวบินจากประเทศจีนจะทำการบินเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 430 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปัจจุบันที่ มีกว่า100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เท่านั้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป
“กพท.ในฐานะผู้จัดสรร SLOT ก่อนอนุมัติ ให้สายการบิน จะต้องพิจารณาการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องก่อน ซึ่งที่ผ่านมาสุวรรณภูมิมีปัญหาบริการภาคพื้น จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ให้บริการ 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัทกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด หรือ BFS รองรับเที่ยวบินได้ราว 40% จากที่เคยให้บริการได้เพราะขาดแรงงานและเครื่องมือไม่เพียงพอ ดังนั้นหากเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาตาม Slot เต็มที่ จะเกิดปัญหาแออัดคอขวดและผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก”
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ก่อนเกิดโควิด เที่ยวบินจากจีนมีจำนวนมากเฉพาะ ไชนา เซาเทิร์น แอร์ไลน์สายเดียวทำการบินมากกกว่า 400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่ง หลังจากได้ข้อสรุปและสร้างความมั่นใจในบริการ ของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว สายการบินจีน จะไปทำการตลาด และจะทยอยเพิ่มเที่ยวบินตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป โดยเชื่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังมีสูงและจะเพิ่มกลับไปถึงระดับก่อนเกิดโควิดแน่นอน
สำหรับสายการบินจากจีน ที่มีเที่ยวบินสู่ประเทศไทย มีจำนวน 24 สายการบิน ได้แก่ 1. แอร์ไชนา 2. เซินเจิ้น แอร์ไลน์ 3. ไชนา อีสเทิร์นแอร์ไลน์ 4. ไชนา เซาเทิร์น แอร์ไลน์ 5. เสฉวนแอร์ไลน์ 6.คุนหมิงแอร์ไลน์ 7. จูนเยา แอร์ไลน์ 8. ปักกิ่ง แคปิตอลแอร์ไลน์ 9. เซี่ยงไฮ้ แอร์ไลน์ 10. เซี่ยเหมิน แอร์ไลน์ 11. ลัคกี้แอร์ 12.ฮ่องกง เอ็กเพรส 13.ตงไห่แอร์ไลน์ 14. แอร์มาเก๊า 15. สปริงแอร์ไลน์ 16. หยุยลี่ แอร์ไลน์. 17. โอเค แอร์เวย์ 18.เหอเป่ย์ แอร์ไลน์ 19. ชานตง แอร์ไลน์ 20.เทียนจิน แอร์ไลน์ 21.อุรุมชี แอร์ 22. ชิงเต่า แอร์ไลน์ 23. YTO Cargo airlines 24. China Central airlines
โดย ตามตารางบินปัจจุบันเที่ยวบินจากประเทศจีนที่ได้รับจัดสรร ต่อสัปดาห์ ณ เดือนพ.ค. 2566 จำนวน 152 เที่ยวบิน เดือนมิ.ย. จำนวน 327 เที่ยวบิน เดือนก.ค. จำนวน 450 เที่ยวบิน เดือนส.ค. จำนวน 452 เที่ยวบิน เดือนก.ย. จำนวน 444 เที่ยวบิน เดือนต.ค. จำนวน 413 เที่ยวบิน ซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นจากที่ได้รับจัดสรรอีกประมาณ 262 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ได้แก่ แอร์ไชนา 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , ไชนา อีสเทิร์น 48 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , สปริงแอร์ไลน์ 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , เซี่ยเหมิน แอร์ไลน์ 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , เสฉวนแอร์ไลน์ 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , เซินเจิ้น แอร์ไลน์ 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , จูนเยา แอร์ไลน์ 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , แอร์มาเก๊า 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , เซี่ยงไฮ้ แอร์ไลน์7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , เหอเป่ย์ แอร์ไลน์ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , 9Air 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , ชานตง แอร์ไลน์ 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
โดยเมืองหลักของจีน ที่ทำการบินเข้ามาที่สุวรรณภูมิ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เซี่ยงไฮ้ 45 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 2.เฉิงตูง 24 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 3. ปักกิ่ง 22 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 4.เซินเจิ้น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 5.กวางโจว 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์