xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.นำร่องใช้ปูนไฮดรอลิกสร้างทางด่วน 2 สาย ช่วยลดโลกร้อน มั่นใจคุณภาพ-ต้นทุนไม่เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ.เซ็น MOU กับ TCMA นำร่องใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ก่อสร้าง 2 ทางด่วน "จตุโชติ-ลำลูกกา และ N2" ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยต้นทุนก่อสร้างไม่เพิ่ม 
วันที่ 25 เม.ย. 2566 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ลงนามบันทึกความเข้าใจขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สมาคม-อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ ว่า กทพ.ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษ ด้วยมาตรฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 พร้อมนำแนวทาง Environment-Social-Governance (ESG) รวมถึงการลงทุนสีเขียว (Green Investment) การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานต่อสู้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับนโยบาย “ระบบคมนาคมสีเขียว” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 ของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นการสนองตอบต่อนโยบายสำคัญของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้ให้คำมั่นในการประชุมระดับผู้นำ COP 26


ความร่วมมือลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ นอกจากจะส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ในทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ ตามมาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้างที่กำหนด รวมทั้งยกระดับการพัฒนา กทพ.ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจาก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี มูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าการลงทุน 16,960 ล้านบาท จากทั้ง 2 โครงการ ประเมินว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,500,000 ต้น) หรือประมาณ 3.5% ของเป้าหมายประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566


นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า กทพ.ได้ศึกษาพบว่า ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีราคา และคุณภาพ ไม่ต่างจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เดิม และเป็นวัสดุก่อสร้างที่ควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ จึงไม่กระทบต้นทุนการก่อสร้างโครงการ แต่กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกช่วยเรื่องลดโลกร้อนได้มากกว่า โดย กทพ.ได้กำหนดการใช้ปูนไว้ตั้งแต่การออกแบบทางด่วน 2 โครงการแล้ว นอกจากนี้ กทพ.ยังมีโครงการทางด่วนสีเขียว ที่ออกแบบศึกษาโดยเน้นรูปแบบก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกเส้นทางที่สั้นที่สุด ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น ปรับระบบไฟฟ้าส่องสว่างเป็นโซลาร์เซลล์ เป็นต้น


นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ Thailand Net Zero ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ความร่วมมือการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเข้าใจในกลไกการทำงาน และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งในระดับโลก ระดับนโยบายของประเทศ ระดับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ นี้เป็นความตั้งใจร่วมมือกันดำเนินงานของภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ที่มุ่งมั่นให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน


โดยจะเดินหน้าสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในทุกโครงการก่อสร้างของ กทพ. ร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในเวลาที่ตั้งใจกันไว้ภายในปี 2566 จากนั้น ในวันที่ 1 มค. 2567 ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะเข้ามาเป็นปูนโครงสร้างหลักแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แบบเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น