กทพ.ลุ้น 7 เม.ย.เอกชนยื่นชิงสัมปทาน ทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" 1.7 หมื่นล้าน ยอมรับต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่ม ชี้หากยื่นรายเดียวพิจารณาข้อเสนอร่วมทุนฯ ได้ พร้อมเร่งสรุปต่อขยายทางด่วน "เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้" 3.58 หมื่นล้าน เตรียมเสนอ ครม.ใหม่ปลายปี 66
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากที่ กทพ.ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร โดยขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 2566 ปรากฏว่ามีบริษัทเข้าซื้อซอง RFP รวมทั้งสิ้น 13 ราย โดยกำหนดรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 7 เม.ย. 2566 เวลา 09.00-15.00 น. นั้นจะต้องว่ามีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการฯ จำนวนกี่ราย จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 กรณีหากมีเอกชนยื่นข้อเสนอรายเดียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้สามารถดำเนินการพิจารณาประเมินข้อเสนอได้ โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2562
สำหรับค่าลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อเดือน ม.ค. 2565 มีวงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,878 ล้านบาท นั้นเป็นวงเงินเดิม ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และต้นทุนโครงการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเมินว่าค่าก่อสร้างปัจจุบันเพิ่มอีกประมาณ 1,700 ล้านบาท หรืออยู่ที่ประมาณ 9,700 ล้านบาท โดยมีค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาหรือระบบ O&M ประมาณ 3,142 ล้านบาท
"แม้ค่าลงทุนจะมีการปรับเปลี่ยน แต่จากการโรดโชว์ก่อนเปิดประมูลพบว่านักลงทุนยังให้ความสนใจโครงการ เบื้องต้นจะเริ่มเปิดซองที่ 1 ในวันที่ 28 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. และคาดหมายว่าจะได้ตัวผู้รับงานในปลายปี 2566 เพื่อดำเนินการก่อสร้างรวม 5 ปี และเปิดให้บริการปี 2570 ตามแผน เพื่อรองรับการจัดงาน World Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ"
@เร่งศึกษาทางด่วน "เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้" 3.58 หมื่นล้าน เสนอ ครม.ปลายปี 66
นอกจากนี้ กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. มูลค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ 14,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,300 ล้านบาท โดยมีผลความก้าวหน้า 70.96% โดยคาดว่าจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจ.ภูเก็ต ที่มีผลตอบแทนการลงทุนดี โดยคาดว่าจะสรุปในกลางปีนี้ และนำเสนอ ครม.ในปลายปี 2566
สำหรับเอกชน 13 รายที่เข้าซื้อซอง ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ประกอบด้วย
1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
2. บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
3. บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ
5. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
6. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
7. บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR
8. บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT
9. บริษัท ช การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
10. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT
11. บริษัท EGIS
12. SRGB Bridge Engineering
13. ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด
กำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ได้แก่ ต้องมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา มีผลงานแล้วเสร็จที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐบาลไทย ก่อสร้างทางยกระดับที่เป็นถนน หรือทางรถไฟ หรือรถไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ออกแบบและก่อสร้างงานอุโมงค์สำหรับถนน หรือทางรถไฟ รถไฟฟ้า หรืองานสาธารณูปโภคอื่น มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องมีประสบการณ์ด้านดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ทางพิเศษ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายในระยะเวลา 25 ปี
โดยต้องยื่นข้อเสนอ 5 ซอง ได้แก่ 1. ซองไม่ปิดผนึก 2. ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ 3. ข้อเสนอด้านเทคนิค 4. ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 5. ข้อเสนออื่นๆ เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ กทพ.
ลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี