กรมเจ้าท่าเผยศึกษา PPP พัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เกาะสมุย, ปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตและพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย คาดสรุป ก.ค.นี้ ชง สคร.และ ครม.จ่อตั้งงบปี 67 คึกษา EHIA ดันประมูลสร้างปี 69 เปิดให้บริการปี 71 คาดกระตุ้นท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินเข้าระบบ ศก. 21 ล้านบาท/วัน/คัน
รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่าศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ว่า จากเมื่อปี 2558 ที่กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จังหวัดกระบี่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผลการศึกษาพบว่าบริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือครูสมากกว่าบริเวณหัวหินเพิง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จำนวน 3 โครงการ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ทั้งในเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามันซึ่งมีท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ท่าเรือปลายทางที่จังหวัดภูเก็ต และเส้นทางฝั่งอ่าวไทยมีท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยผ่านประเทศไทยซึ่งแวะเข้าจอดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
แนวทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผนวกกับผลการศึกษาที่กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการไว้เดิม โดยขอบเขตการศึกษาต้องศึกษาทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม กฎหมายการร่วมทุน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา อีกทั้งตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้ต้องจ้างที่ปรึกษาดำเนินการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา โดยทั้ง 3 โครงการที่ขอตั้งงบประมาณ สนับสนุนครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินเรือครูสผ่านประเทศไทย ได้แก่
1. โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี สัญญาจ้างเลขที่ 108/2563/พย. ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2563 วงเงินรวม 18 ล้านบาท (ปี 63=2.70 ล้านบาท ปี 64=4.68 ล้านบาท ปี 65=10.62 ล้านบาท) กำหนดแล้วเสร็จ 18 ธันวาคม 2564 เพื่อศึกษาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์การให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ จัดทำรายงานเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาท่าเรือ ความก้าวหน้าของงาน ผลงาน 80%
คณะกรรมการตรวจรับร่างหลักการของโครงการ การร่วมลงทุน และร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว อยู่ระหว่างที่ปรึกษาจัดทำรายงานหลักการฉบับสมบูรณ์ และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฉบับสมบูรณ์ ผลงานล่าช้าต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยแผนการดำเนินการขั้นต่อไป ที่ปรึกษาจะจัดทำรายงานหลักการฉบับสมบูรณ์ และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฉบับสมบูรณ์ ส่งให้กรมเจ้าท่า เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาต่อไป
2. โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน กรุงเทพมหานคร 1 ฉบับ สัญญาจ้างเลขที่ 132/2563/พย. ลงวันที่ 30 มกราคม 2564 (วงเงินรวม 69.21 ล้านบาท ปี 63=10.50 ล้านบาท ปี 64=24.415 ล้านบาท ปี 65=34.295 ล้านบาท) กำหนดแล้วเสร็จ 23 กรกฎาคม 2565 เพื่อวางแผนแม่บท ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบและประมาณราคาเบื้องต้น ศึกษาแนวทางปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือครูสได้ และจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงท่าเรือชายฝั่งเพื่อรองรับผู้โดยสารจากเรือครูสที่เข้ามาจอดทิ้งสมอ (Landing pier) ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปพื้นที่เหมาะสมเป็นท่าเรือรองรับเรือครูส บริเวณหัวหินเพิง ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ และพัฒนาท่าเรือจอดทิ้งสมอ (Landing pier) ที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ท่าเรือทับละมุ จังหวัดพังงา ท่าเรือบ้านศาลาด่าน จังหวัดกระบี่ อ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เกาะอาดัง-ราวี และเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล และศึกษาวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ ผลที่ได้รับคือแผนการพัฒนาท่าเรือครูสชายฝั่งอันดามันพร้อมแบบเบื้องต้น รูปแบบการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้รองรับเรือครูส จัดทำรายงานความเหมาะสมและแบบเบื้องต้นท่าเรือครูสประกอบการเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ความก้าวหน้าของงาน ผลงาน 50% อยู่ระหว่างที่ปรึกษาแก้ไขรายงานศึกษาความเหมาะสมฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จส่งกรมเจ้าท่าภายในเมษายน 2566 ดำเนินการจัดทำร่างรายงานการสำรวจออกแบบ ร่างรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ร่างแบบรายละเอียดเบื้องต้น และร่างการประมาณราคา กำหนดแล้วเสร็จภายในพฤษภาคม 2566 และจะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และหลักการของโครงการร่วมลงทุนฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2566 ผลงานล่าช้าต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น รวมถึงขั้นตอนการขออนุญาตเข้าพื้นที่สำรวจ
3. โครงการศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน กรุงเทพมหานคร 1 ฉบับ สัญญาจ้างเลขที่ 132/2563/พย. ลงวันที่ 28 มกราคม 2564 ( วงเงินรวม 68.94 ล้านบาท ปี 63=10.50 ล้านบาท ปี 64=21.35 ล้านบาท ปี 65=37.09 ล้านบาท) กำหนดแล้วเสร็จ 21 กรกฎาคม 2565 เพื่อวางแผนแม่บท ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบ และประมาณราคาเบื้องต้น พร้อมศึกษาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์การให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ และจัดทำรายงานความเหมาะสมและแบบเบื้องต้นของท่าเรือครูสต้นทางประกอบการเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน
ความก้าวหน้าของงาน ผลงาน 60% โดยได้ข้อสรุปที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างที่ปรึกษาแก้ไขร่างรายงานการสำรวจออกแบบ ร่างรายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร ร่างแบบรายละเอียดเบื้องต้น และร่างการประมาณราคา กำหนดแล้วเสร็จส่งกรมเจ้าท่าภายในเมษายน 2566 และจะดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และหลักการของโครงการร่วมลงทุนฉบับสมบูรณ์ กำหนดแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2566 เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาต่อไป ผลงานล่าช้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น
ทั้งนี้ หลังจากรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการการให้เอกชนร่วมลงทุนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทั้ง 3 โครงการมีขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่ ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 จัดทำรายงาน EHIA (ระยะเวลา 540 วัน) ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2568-2569 คัดเลือกผู้ร่วมทุน (ระยะเวลา 360 วัน) ตั้งงบประมาณ พ.ศ. 2569-2571 เริ่มก่อสร้าง (ระยะเวลา 900 วัน) แผนเปิดให้บริการท่าเรือภายในปี พ.ศ. 2571
ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือครูสจะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือครูสในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุมเส้นทางทั้งสองฝั่งทะเล เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำ เพิ่มการจดทะเบียนเรือท่องเที่ยวทางน้ำ อีกทั้งเพิ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ผ่านด่านทางน้ำอีกด้วย โดยในแง่เศรษฐกิจ เรือครูส 1 ลำมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คน จากผลการสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่ายประมาณ 7,000 บาท/คน/วัน หมายความว่า เรือครูส 1 ลำ นำเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจประมาณ 21 ล้านบาท/วัน/ลำ หากเรือครูสแวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้น และจอดท่องเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น จะสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นไปด้วย อีกทั้งในกรณีที่ท่าเทียบเรือได้รับการพัฒนาให้เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 7-8 เท่า
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีเรือครูสจอดแวะทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ อันดามันตลอดทั้งปี หากแต่ยังไม่มีท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่มีมาตรฐาน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตและพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว ด้านเรือสำราญของประเทศไทย จากสถิติการเดินเรือสำราญในปี 2561 พบว่ามีเรือครูสเข้ามาแวะพักจอดในประเทศไทยสูงเป็นลำดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย จำนวน 581 เที่ยวต่อปี อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 14% โดยมีท่าเทียบเรือหลักที่รองรับในฝั่งอ่าวไทยคือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 149 เที่ยวต่อปี นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 7,000 บาท/คน/วัน ท่าเรือที่เกาะสมุย จำนวน 89 เที่ยวต่อปี นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 4,200 บาท/คน/วัน และฝั่งอันดามันที่ท่าเรือภูเก็ต จำนวน 219 เที่ยวต่อปี นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินประมาณ 6,400 บาท/คน/วัน