xs
xsm
sm
md
lg

กทพ. ดันประมูลทางด่วน”จตุโชติ-ลำลูกกา”2.03 หมื่นล้านบาท พ.ค.นี้ เร่งEIA ปรับแนวเชื่อมถ.วงแหวนรอบ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ. ดันประมูลทางด่วน ฉลองรัช” ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา”2.03 หมื่นล้านบาท ในพ.ค.นี้ แบ่งโยธา 4 สัญญาเพิ่มเงื่อนไขปรับแนว เชื่อมถ.วงแหวนรอบ 3 ( MR10 ) เร่งสร้าง3 ปี เปิดบริการปี 70

นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 2566 อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการ แล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการร่างขอบเขตของงาน (TOR) โดยคณะกรรมการร่างทีโออาร์ ฯได้กำหนดรูปแบบของสัญญางานออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย งานก่อสร้างโยธา 4 สัญญา และงานติดตั้งระบบและบริหารจัดการจราจร 1 สัญญา โดยคาดว่าจะประกาศประกวดราคา ในส่วนงานก่อสร้างงานโยธา ประมาณเดือน พ.ค. 2566 นี้ และคาดว่าได้ตัวผู้รับจ้างในช่วงปลายปี 2566 เริ่มก่อสร้างประมาณต้นปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2570 คาดมีปริมาณจราจรประมาณ 32,000 คันในปีแรก

สำหรับทางด่วนช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. มีวงเงินลงทุนรวม 24,060.04 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 3,726.81 ล้านบาท มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน จำนวน 471 ไร่ 99  ตารางวา และมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 134 หลังค่าก่อสร้าง 20,333 ล้านบาท โดยเบื้องต้นงานโยธา 4 สัญญา จะมีระยะทางแต่ละสัญญา 3-4 กม.และมีวงเงินค่าก่อสร้างสัญญาละ 4,000 -5,000 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเด็บค่าผ่านทางนั้น มีวงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยจะประมูลหลังจาก
งานโยธา 4 สัญญาก่อสร้างไปได้ในระดับหนึ่งก่อน เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเข้าติดตั้งีะบบและด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง

@แยกประมูล สัญญาที่ 4 แบบมีเงื่อนไข รอปรับแนวเชื่อม ถนนวงแหวนรอบ3

นายชาตรี กล่าวว่า ตามนโยบายการพัฒนาโครงข่ายMR-Map ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งกรมทางหลวงอยู่ระหว่างศึกษา นั้น กทพ.จึงแนวทางในการปรับแนวเส้นทางของทางด่วนช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา เพื่อไปเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่3 (MR10) บริเวณลำลูกกา ซึ่งนอกจากเชื่อมต่อกับ MR10 แล้วยังเชื่อมกับ MR6 (กาญจนบุรี-สระแก้ว) อีกด้วย โดยจะต้องรอกรมทางหลวงสรุปการพัฒนา MR10 ให้ชัดเจนด้วย

อย่างไรก็ตาม กทพ.อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับส่วนเชื่อมต่อไปยัง MR10 ซึ่งคาดว่าจะสรุปรายงานEIA ประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2566 จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และ สผ. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

โดยในระหว่างรอสรุปการพัฒนา MR10 ของกรมทางหลวง กทพ.จึงพิจารณาแนวทางในการประมูลก่อสร้าง ทางด่วน จตุโชติ-ถนนลำลูกกา 2 แนวทางคือ 1. ประมูลพร้อมกันทั้ง 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 4 จะประมูลแบบมีเงื่อนไข คือ กรณีหากมีการปรับแนวเส้นทางจากมติครม.ที่ไปเชื่อมที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 21 ไปเป็นเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) ที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 24 โดยระยะทางโครงการทางด่วนฯ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 กม. จะต้องดำเนินการตามแนวเส้นทางใหม่

แนวทางที่ 2. ประมูล 3 สัญญาก่อน ส่วนสัญญา 4 รอความชัดเจนในการปรับแนวเส้นทางใหม่ไปเชื่อมกับถ.วงแหวนรอบที่ 3 ก่อน

@ ใช้TFFและออกพันธบัตร ก่อสร้างโครงการ

สำหรับค่าก่อสร้าง 20,333 ล้านบาท กทพ.จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) วงเงิน 14,374 ล้านบาท ซึ่งปรับแผนการใช้จากเดิม กำหนดใช้ก่อสร้าง โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ) ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก)และ ออกพันธบัตรเพิ่มเติมเบี้ยสมบท สำหรับวงเงินที่ขาดอีกประมาณ 5,960 ล้านบาท

ขณะที่อัตราค่าผ่านทาง แบ่งเป็น ปีที่ 1 รถ 4 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 20 บาท + 1.25 บาทต่อกิโลเมตร รถ 6 - 10 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 40 บาท + 2.50 บาทต่อกิโลเมตร และรถมากกว่า 10 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 60 บาท + 3.75 บาทต่อกิโลเมตร

@ไฮไลต์ Service Area คร่อมทางด่วนเชื่อมพื้นที่ 2 ฝั่ง

นายชาตรีกล่าวว่า ไฮไลต์ของโครงการทางด่วนจตุโชติ-ถนนลำลูกกา คือ พื้นที่ จุดพักรถ หรือ Service Area บริเวณ กม.ที่ 11 ของโครงการ ใกล้ๆ กับกรมการปกครอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 64 ไร่ ซึ่งจะ มีการพัฒนาทั้ง2 ฝั่ง และมีทางยกระดับคร่อมทางด่วนเชื่อมพื้นที่2 ฝั่ง เหมือนจุดพักรถในเกาหลี ที่เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์

โดยกำหนดปรับอัตราค่าผ่านทางทุก ๆ 5 ปี เป็นอัตราคงที่ ณ ปีนั้น ๆ อ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ร้อยละ 1.834 ซึ่งอ้างอิงค่า CPI เฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลัง (ปี 2555 - 2564) ของจังหวัดในพื้นที่ศึกษา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก และสระบุรี และปัดตามหลักคณิตศาสตร์ คือ หากเกิน 2.5 บาท ให้ปัดขึ้นเป็น 5 บาท

โครงการนี้ มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 4.29 มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 15.97 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 อยู่ที่ 7,351.53 ล้านบาท






กำลังโหลดความคิดเห็น