xs
xsm
sm
md
lg

“อธิรัฐ” ถกแผนรับเดินทาง "สงกรานต์" 7 วัน คาดจราจร 4.6 ล้านคัน เปิดมอเตอร์เวย์ "ปากช่อง" สั่ง ทล.ทำแผนเพิ่มใช้วันหยุดสุดสัปดาห์แก้รถติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” เตรียมมาตรการเดินทางช่วงสงกรานต์ 11-17 เม.ย. 66 คาดจราจร 4.6 ล้านคัน ฟรี "ทางด่วน-มอเตอร์เวย์" เปิด M6 ช่วงปากช่อง-ขามทะเลสอ วิ่งชั่วคราว “อธิรัฐ” สั่ง ทล.พิจารณาแนวทางเปิดใช้เพิ่มวันหยุดสุดสัปดาห์ ชี้ เม.ย.-พ.ค.มีวันหยุดเยอะรวมถึงเลือกตั้ง คาดประชาชนเดินทางแน่น

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมวันที่ 28 มี.ค. 2566 ว่า ได้ติดตามการเตรียมความพร้อมของมาตรการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2566 ระยะเวลารวม 7 วัน ซึ่งจะมีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน จึงคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลหรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก

โดยกรมทางหลวง (ทล.) ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 เป็นเวลา 7 วัน (วันที่ 12-18 เม.ย. 2566) ได้แก่ หมายเลข 7 (กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา) และหมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน)

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ใช้ฟรี 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก นอกจากนี้ทางพิเศษอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร ยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 3 วัน (วันที่ 13-15 เม.ย. 2566) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริการที่จอดรถฟรี ณ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C เป็นเวลา 7 วัน (วันที่ 12-18 เม.ย. 2566)

และกรมทางหลวงจะเปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ชั่วคราว ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กิโลเมตร (กม.) สำหรับขาออก กทม. ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. 2566 (24 ชั่วโมง) เป็นเวลา 3 วัน และขาเข้า กทม. ระหว่างวันที่ 15-18 เม.ย. 2566 (24 ชั่วโมง) เป็นเวลา 4 วัน


ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้กรมทางหลวง พิจารณาในการเปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 6 ในทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ด้วยได้หรือไม่ โดยหากทำได้ควรเริ่มตั้งแต่สุดสัปดาห์แรกของเดือน เม.ย.นี้เลย เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจ.นครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณจราจรมาก และเห็นว่าในช่วงเดือน เม.ย.ถึงเดือน  พ.ค.มีวันหยุดหลายวันและจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ซึ่ง ทล.ชี้แจงว่าหากเปิดใช้เส้นทางต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีพื้นที่บางช่วงยังไม่ได้ส่งมอบงาน อาจจะกระทบต่อการดูแลอำนวยความสะดวก ซึ่งจะไปหารือกับบริษัทผู้รับจ้างและรายงานให้ทราบต่อไปว่าทำได้หรือไม่

“ในช่วงรัฐบาลรักษาการนี้ ผมได้เร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นการกระตุ้นการทำงานตามภารกิจหน้าที่มากกว่าเพื่อไม่ให้เกิดเกียร์ว่าง เพราะช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการจะทำอะไรมากก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นการแทรกแซง ขณะที่แต่ละหน่วยงานมีแผนงานที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว” นายอธิรัฐกล่าว


@สนข.คาดสงกรานต์ 7 วัน ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะกว่า 13.6 ล้านคน-เที่ยว

กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 2566 ระยะเวลารวม 7 วัน พร้อมกำชับหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ “เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19”

ด้านมิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง สนข.คาดการณ์ว่าในช่วง 7 วันของเทศกาลสงกรานต์จะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 13.60 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์ปี 2565 ซึ่งกระทรวงฯ สั่งการให้จัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะทางบก ราง น้ำ และอากาศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีรถโดยสาร ท่าเรือและท่าอากาศยาน อย่างเพียงพอและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด และขอให้วางแผนการเดินทางโดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางและแจ้งอุบัติเหตุได้ที่ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 และ Application สายด่วน และ Website ของหน่วยงาน


@ ทางหลวงเข้า-ออก กทม. 5 เส้นทางหลัก คาดปริมาณจราจรกว่า 4.6 ล้านคัน

สำหรับปริมาณการจราจรขาเข้าและออก กรุงเทพมหานครบนทางหลวงสายหลัก 5 เส้นทางในสายเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก และใต้ คาดว่าจะมีรวม 4.60 ล้านคัน โดยจะบริหารการจราจรให้เกิดความคล่องตัว รณรงค์ วางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า-ออก กทม. โดยขอความร่วมมือให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ระยะทาง 200-300 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร) เดินทางออกทีหลัง-กลับก่อน และเลี่ยงการเดินทางช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการเดินทางสูงช่วงวันที่ 12 และวันที่ 16 เม.ย. 2566

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด อาทิ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้เส้นทางรอง/เส้นทางเลี่ยง ที่ยังมีความสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ เช่น เส้นทางที่จะไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ทล.304 (ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี) M6 (ปากช่อง - สีคิ้ว - ขามทะเลสอ) เส้นทางที่จะไปภาคเหนือ : ทล.340 (บางบัวทอง - ชัยนาท) เส้นทางที่จะไปภาคตะวันออก : ทล.3 (สุขุมวิท) ทล.34 (บางนา - ตราด) รวมทั้งจะต้องคืนพื้นผิวจราจรและจัดการบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้าง (Work Zone) รวมทั้งห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเดินรถใน 7 เส้นทาง และแจ้งเจ้าของสินค้าวางแผนการขนส่งออกจากท่าเรือ


นอกจากนี้ ในมิติความปลอดภัยในการเดินทาง ได้มีการตรวจสอบ ปรับปรุง และจัดอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาวินัยจราจร และระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ “ ไม่ขับเร็ว - คาดเข็มขัดนิรภัย - สวมหมวกนิรภัย - ดื่มไม่ขับ - ง่วงไม่ขับ - ไม่ขับรถย้อนศร ” รวมถึงการสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่สัญจรทางน้ำ และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเดินทางผ่านจุดเสี่ยง เช่น บริเวณจุดตัดรถไฟ/ทางลักผ่าน เขตทางรถไฟ


และบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น ตรวจความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานขับขี่ ยานพาหนะ และสถานีขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ การนำเทคโนโลยี เช่น กล้อง CCTV ระบบ GPS มาช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยทางถนน นำระบบ AIS/VMS มาช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยทางน้ำ
รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางในระดับท้องถิ่น เช่น การรณรงค์ให้ชุมชนในพื้นที่ดูแลซึ่งกันและกัน การเฝ้าระวังจุดตัดถนนกับรถไฟ การดูแลจุดเสี่ยงและการตั้งจุดตรวจบริเวณชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น