กทพ.เซ็นเอ็มโอยู "วิทยาลัยนวัตกรรม มธ." ร่วมมือทางวิชาการ สนับสนุน พัฒนา และผลิตบุคลากรทางด้านนวัตกรรมดิจิทัล เล็งทำ Business Model แผน ITS Next 10 Years เพื่อรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station) ในเขตทางด่วน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน กทพ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum of Understanding : MOU) ด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และผลิตบุคลากรทางด้านนวัตกรรมดิจิทัล ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล ตั้งจิตพรหม ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล ร่วมลงนาม
สำหรับ วิทยาลัยนวัตกรรม เป็นสถาบันการศึกษาด้านนวัตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation and Innovation ในระดับประเทศ เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาความรู้ของนักศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์และเข้าใจกระบวนการทำงานของ กทพ. เพื่อสร้างความร่วมมือและก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถาบันการศึกษาและการดำเนินงานของ กทพ.
ในขณะเดียวกัน ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันจัดทำ Business Model เพื่อให้สามารถสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผน ITS Next 10 Years ในการรองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station) ในเขตทางพิเศษ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการเดินทางบนทางพิเศษที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้