“ทีบีเอ็น” เผยเทรนด์ Low-Code ตอบโจทย์การพัฒนาแอปพลิเคชัน หลังแนวโน้มตัวเลขโปรแกรมเมอร์ทั่วโลกลดลง เร่งขายธุรกิจเพิ่มศักยภาพบุคลากร รองรับ Digital Transformation องค์กรต่างๆ เตรียมระดมทุนในตลาด รองรับการเติบโต
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ Low-Code Development Platform (Low Code) ของ MENDIX นำมาใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนในการทำ Digital Transformation โดยสามารถใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในทุกระดับ ซึ่งจุดแข็งของ Low-Code ที่เรียนรู้ง่ายมีระบบควบคุมคุณภาพให้ ช่วยให้นักพัฒนาได้รับคุณภาพตามมาตรฐาน วัตถุประสงค์ของการใช้ Low-Code สามารถเพิ่มประสิทธิผลได้มากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อย
“การเติบโตของ Low-Code เทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันและอนาคตมีการคาดการณ์ว่า โปรแกรมเมอร์ทั่วโลกจะมีจำนวนลดลง เมื่อองค์กรต้อง Digital Transformation ทำให้จำนวนแอปพลิเคชันจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อนักพัฒนาน้อยลงองค์กรจึงมองหาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย Low-Code จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ได้ เราจึงอยากทำให้ประเทศไทยเป็น Low-Code ฮับของเอเชีย โดยข้อมูลของไฟแนนเชียลไทม์คาดว่าภายในปี 2025 หรือปี 68 ร้อยละ 70 ของแอปพลิเคชันทั่วโลกจะพัฒนาด้วย Low-Code”
นายปนายุระบุว่า จากประสบการณ์ที่อยู่กับเทคโนโลยีของ MENDIX มากว่า 18 ปี ทำให้บริษัทมีบริการที่หลากหลายทั้งคลาวด์เทคโนโลยี และการพัฒนาแบบดั้งเดิม (High Code) จึงสามารถตอบสนองลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการโซลูชันที่เหมาะกับองค์กรที่สุด โดยเฉพาะบริการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและพัฒนาโซลูชันตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้ซอฟต์แวร์ Low-Code
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยจะเสนอขายหุ้นจำนวน 25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ บริษัทมีศักยภาพและความพร้อมสูงในการเติบโตของธุรกิจ เพื่อรองรับ Digital Transformation ของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation การเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
คาดว่าภายในปี 68 บริษัทจะมีจำนวนนักพัฒนาถึง 150 คน และมีบุคคลกรที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นถึง 500-1,000 คน มีความพร้อมที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เป็นกุญแจที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็น Low-Code Hub ได้ในอนาคต